ปภ.พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัย “มิสเตอร์เตือนภัย” เฝ้าระวัง – แจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินโคลนถล่ม

เสาร์ ๒๒ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๕:๕๙
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัคร เตือนภัย หรือ "มิสเตอร์เตือนภัย" ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และประสานการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงร่วมกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการจัดทำแผนแจ้งเตือนภัยและอพยพในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทั้งนี้ ปภ.ตั้งเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยให้ครอบคลุมทุกประเภทภัยในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว และอพยพหนีภัยทันท่วงที ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่มเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้ประชาชนมีเวลาเพียงพอในการเตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที จึงช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังและป้องกันภัยในระดับพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชนเสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือและจัดการสาธารณภัยอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงมุ่งเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวัง และป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของภาครัฐ ซึ่งเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัย หรือ "มิสเตอร์เตือนภัย" ถือเป็นเครือข่ายสำคัญในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ สำหรับแนวทางการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัย ปภ.ได้ดำเนินการในรูปแบบการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการ เฝ้าระวังและสังเกตสัญญาณเตือนก่อนเกิดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และประสานการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงร่วมกับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการจัดทำแผนแจ้งเตือนภัยและอพยพ ปัจจุบันมีมิสเตอร์เตือนภัยที่พร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย รวม 30,795 คน แยกเป็น พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จำนวน 10,179 คน ใน 3,567 หมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ จำนวน 17,191 คน โดยอาสาสมัครเตือนภัย "มิสเตอร์เตือนภัย" มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้ ก่อนเกิดภัย ทำหน้าที่ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัย และปริมาณน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยตรวจสอบสภาพอากาศ หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนความผิดปกติทางธรรมชาติ อีกทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในการเตรียมพร้อมป้องกันอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พร้อมประสานความร่วมมือในการจัดทำแผนอพยพระดับหมู่บ้านและตำบล ฝึกซ้อมแผนการอพยพหนีภัย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการอพยพหนีภัยอย่างทันท่วงที ขณะเกิดภัย เมื่อพบว่า มีฝนตกหนักติดต่อกันมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน สภาพดินมีความชุ่มน้ำมาก น้ำในลำห้วยไหลแรงและมีสีขุ่นเข้มขึ้นเหมือนสีดินบนภูเขา มีเสียงดังผิดปกติจากป่าต้นน้ำ มิสเตอร์เตือนภัยจะทำหน้าที่ประสานหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้ดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เมื่อสถานการณ์วิกฤตและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น มิสเตอร์เตือนภัยจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนในรูปแบบที่ชุมชนร่วมกันกำหนด อาทิ หมุนไซเรน ตีเกราะเคาะไม้ ตีกลอง เป่านกหวีด จุดพลุ ให้ประชาชนอพยพหนีภัยไปตามเส้นทางหนีภัยที่พ้นจากระดับน้ำท่วมถึงและแนวการไหลของดินโคลนถล่ม ตลอดจนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการอพยพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเดินทางถึงจุดรวมพลอย่างปลอดภัย หลังเกิดภัย เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ มิสเตอร์เตือนภัยจะทำหน้าที่ประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอพยพประชาชนกลับเข้าที่พักอาศัย ช่วยเหลือและนำส่งผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาล รวมถึงประสานให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัย รวมถึงซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีศักยภาพในการสนับสนุนการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยให้ครอบคลุมทุกประเภทภัยในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว และอพยพหนีภัยทันท่วงที ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4