วธ.เผยผลโพล “วันภาษาไทย” ปชช.ร้อยละ 65 ทราบ 29 ก.ค.วันภาษาไทยแห่งชาติ แนะจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกรักการอ่าน-ประกวดใช้ภาษาไทย-รณรงค์ใช้สื่อออนไลน์ เผยคำว่า “ลำไย-ตะมุตะมิ-นก-โดนเท-จุงเบย-สายเปย์” ติดโผคำศัพท์ฮิตวัยรุ่นยุคปี 60

พุธ ๒๖ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๐:๑๒
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น เยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" จากกลุ่มตัวอย่าง 3,306 คน ทั่วประเทศ โดยผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชน ร้อยละ65.43 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี และ ร้อยละ 57.34 ทราบวัตถุประสงค์ของการจัดงาน "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ในวันที่ 29 ก.ค. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้ภาษาไทยในการประชุมวิชาการของการชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 ก.ค. 2505

นอกจากนี้ ยังสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านภาษาไทยที่นึกถึงมากที่สุด ร้อยละ 83.45 ตอบว่า สุนทรภู่ ร้อยละ 41.16 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร้อยละ 39.38 ครูลิลลี่ (นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์) ร้อยละ 38.43 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และร้อยละ 37.60 ครูทอม คำไทย "สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่" ทั้งนี้ ได้สอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันและเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขปัญหา ร้อยละ 39.02 เห็นว่า การพูด เพราะเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังนั้นการพูดที่ถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 37.17 บอกว่าการเขียน เนื่องจากปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยได้เขียนหนังสือที่ถูกต้อง และ ร้อยละ 23.81 การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ทำให้รอบรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสติปัญญา

อย่างไรก็ตาม ในสำรวจครั้งนี้ได้สอบถาม เด็ก เยาวชน และประชาชนเกี่ยวกับคำศัพท์ที่วัยรุ่นกำลังนิยมใช้ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 39.44 ตอบว่า "ลำไย" หมายถึง รำคาญ รองลงมา ร้อยละ 36.86 "ตะมุตะมิ" น่ารักน่าเอ็นดู ร้อยละ 36.23 ระบุว่า "นก" หมายถึง อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา ร้อยละ 34.67 คำว่า "จุงเบย" น่ารักแสดงความแอ๊บแบ๊ว ร้อยละ 34 บอกว่า "เท/โดนเท" หมายถึง โดนทิ้ง ร้อยละ 33.61 "อิอิ" คือ เสียงหัวเราะ ร้อยละ 30.12 "เปย์/ สายเปย์"หมายถึง ชอบจ่ายให้ ร้อยละ 27.28 "เตง/ตะเอง /ตัลเอง" คือ ตัวเอง และร้อยละ 26.06 บอกว่า "มุ้งมิ้ง" น่ารัก

นายวีระ กล่าวต่อว่า ได้สำรวจความคิดเห็น เรื่องยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด ร้อยละ 53.86 ทราบว่ามียุทธศาสตร์การปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย รองลงมาร้อยละ 45.65 ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัย และ ร้อยละ 42.35 ระบุว่า การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค และร้อยละ 38.14 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ พบว่า ร้อยละ 55.16 เชื่อว่าเป้าหมายของแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยจะช่วยทำให้คนไทยใช้เวลาในการอ่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 90 นาที ต่อวัน เป็นจริงได้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้น รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอ่านมากขึ้น เชื่อมั่นในแผนแม่บทฯ ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยหน่วยงาน สถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนต้องร่วมมือกัน รองลงมา ร้อยละ 29.79 ไม่สามารถเป็นจริงได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ สมาธิสั้นสนใจเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันชอบเล่นเกม เล่นโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก และ ร้อยละ 19.05 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเด็ก เยาวชนและ ประชาชนเรื่องเวลาในการอ่านหนังสือผ่านสื่อต่างๆ ในแต่ละวัน พบว่า ร้อยละ 56.59 สื่อออนไลน์ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 37.42 หนังสือ/เอกสาร ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1.30 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 36.90 อ่านหนังสือพิมพ์ ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 20.47วีดีโอ/ซีดี/ดีวีดี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 18.63 อ่านวารสารทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจครั้งนี้มีประชาชน เด็กและเยาวชนมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงวัฒนธรรม และทุกภาคส่วน ถึงแนวทางกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนี้ อันดับ 1 จัดกิจกรรมรณรงค์การสร้างจิตสำนึกในการรักการอ่าน เช่น ส่งเสริมการอ่าน รณรงค์ให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น จัดกิจกรรมการเรียนรู้การใช้ภาษาไทยในโรงเรียน จัดโครงการเสริมสร้างภาษาไทยและจัดตั้งชมรมการใช้ภาษาไทย อันดับ 2 ประกวดการใช้ภาษาไทย/ทดสอบการใช้ภาษาไทยดีเด่น เช่น การเขียนเรียงความคัดไทย แต่งกลอน เกมการแข่งขันเกี่ยวกับภาษาไทยทุกปี มีรางวัลเป็นสิ่งดึงดูดใจ อันดับ 3 รณรงค์โดยการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งทำให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย/มีแอพพลิเคชั่น พจนานุกรมให้ดาวน์โหลด นำมาใช้โดยมีการเขียนที่ถูกต้อง/การทำเว็บไซต์ต่างๆและเกมที่เกี่ยวกับภาษาไทย อันดับ 4 อบรมการใช้ภาษาไทย การเขียน อ่าน พูด ภาษาไทยให้ถูกต้อง อันดับ 5 จัดให้มีวิชาการอ่านในหลักสูตร /เพิ่มเวลาการอ่านหนังสือในคาบเวลาเรียน เพื่อทำให้เด็กอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ วธ.ก็จะนำผลการสำรวจในเรื่องดังกล่าวมาใช้ประกอบการทำงานและร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือร่วมกับทุกกระทรวงและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4