สสส. ผนึกภาคีเครือข่ายจัดเวทีวิชาการเตรียมรับมือภัยพิบัติในความเสี่ยงใหม่

จันทร์ ๐๗ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๓๖
ภัยพิบัติจากน้ำท่วมหรืออุทกภัยที่เริ่มมีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น นับเป็นความเสี่ยงใหม่ที่สร้างความสูญเสียในด้านต่างๆ อย่างมาก และนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานช่วงนี้แล้ว เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยมีถึง 12 จังหวัดที่ประสบภัยจากน้ำท่วม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ที่มีแผนการจัดการภัยพิบัติเพื่อพัฒนาและจัดการความรู้ สร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นภาคประชาคมและถอดบทเรียนการจัดการภัยพิบัติ จึงได้สนับสนุนให้มีการถอดบทเรียนและประเมินสภาพความเสียหายของการเกิดอุทกภัยในภาคใต้ จัดการประชุมทางวิชาการ "น้ำท่วมใต้ : ภัยพิบัติในความเสี่ยงใหม่" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ (1 ส.ค.) เพื่อรายงานผลการวิเคราะห์สภาพการเกิดภัยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ทั้งความเสียหายและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ตลอดจนแนวทางการฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต รวมถึงการรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับพื้นที่และในภาพรวม

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า "ภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ให้ความร่วมมือในการรวบรวมและศึกษาข้อมูลจากการเกิดอุทกภัยในภาคใต้ ซึ่งเป็นอุทกภัยที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ สภาพพื้นที่ ระบบ การรับมือหรือลดความเสี่ยง และการจัดการภัยพิบัติ บทเรียนที่ได้รับจากการทำงานนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการสร้างความเข้าใจต่อสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่หรือภูมิภาค การปรับแนวทางการทำงานของภาคีเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ เพื่อนำไปพัฒนาสู่การเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ และการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป"

การประชุมวิชาการในครั้งนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำท่วมภาคใต้ 2560 : ความเสียหาย ผลผลกระทบและข้อเสนอจากชุมชน ท้องถิ่น, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการรับมือภัยพิบัติโดยมีชุมชนเป็นฐาน, และ การตั้งรับปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น โดยได้สรุปผลวิเคราะห์เกี่ยวกับเงื่อนไข, ปัจจัยการเกิดน้ำท่วม และผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ สภาวะธรรมชาติผันผวน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ชาวบ้านไม่อาจตระหนักรู้ได้ว่าจะเกิดน้ำท่วม, การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการใช้ที่ดินและสายน้ำ ถูกบุกเบิกเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ที่มีขีดความสามารถต่ำในการดูดซับน้ำและชะลอความแรงของน้ำ หลายพื้นที่ถูกถางเตียนโล่ง ยิ่งทำให้น้ำไหลอย่างรวดเร็ว, การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและพื้นที่สวนไร่นาไม่เหมาะสมกับสภาวะน้ำท่วม ทำให้เกิดโอกาสที่จะถูกน้ำท่วมได้ง่าย, การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเมืองขัดขวางทางน้ำ ถนนหนทาง สะพาน ทางรถไฟ หรือพื้นที่เขตเมืองกลายเป็นอุปสรรคในการขัดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขัง แม้จะมีการออกแบบใส่ท่อระบายน้ำ แต่ก็ไม่ตรงกับสภาพพื้นที่ และไม่ได้ออกแบบเมื่อเผชิญกับเศษซากกิ่งไม้ที่ลอยมาอุดท่อ จนทำให้น้ำท่วมถนน สะพานขาด ฯลฯ, ชุมชนขาดการเตรียมพร้อมในภาวะน้ำท่วม ชาวบ้านไม่มีอุปกรณ์ยังชีพและเครื่องมือสื่อสาร เมื่อประสบปัญหาจึงเกิดความเดือดร้อนหนัก, ชุมชนขาดเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แม้จะมีการส่งข่าวแจ้งเตือนจากคนในพื้นที่ที่ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่หน่วยเทศบาลแจ้งเตือนเอง แต่ชาวบ้านไม่มีเครือข่ายสื่อสารกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเมินสถานการณ์ปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังมีประเด็นที่เกิดจาก การพยากรณ์ฝนตกผิดพลาด และหน่วยราชการขาดประสิทธิภาพในการเตือนภัย ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นเพียงการคาดการณ์อย่างกว้างๆ ไม่ได้บ่งชี้ถึงระดับความเสี่ยงภัย และเป็นข้อมูลภาพรวมในพื้นที่กว้าง เช่น ระดับภาค ระดับจังหวัด แต่ไม่ได้เจาะลึกในระดับลุ่มน้ำย่อย ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้น้อย ขณะเดียวกันหน่วยราชการในท้องถิ่นก็ไม่มีการติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ได้อย่างเท่าทัน ทำได้เพียงแค่เข้าไปช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ และ ขาดระบบการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าไปสำรวจความเสียหายเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ไม่ทราบระดับผลกระทบตามสภาพความเป็นจริง อีกทั้งการจัดสรรทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือก็ขาดระบบ ไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดความเร่งด่วน เหมาะสมในการช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยที่เผชิญปัญหาแตกต่างกันไป

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการประมวลข้อเสนอในเชิงภาพรวมที่สอดคล้องไปในทิศทางของ "กรอบเซนได" ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติระดับสากลในการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558-2573 ร่วมกันของ 168 ประเทศ ที่มีเป้าหมายคือป้องกันความเสี่ยงใหม่ และลดความเสี่ยงที่มีอยู่เดิม ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ โครงสร้าง กฎหมาย สุขภาพ วัฒนธรรม การศึกษา สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และการเมือง ที่บูรณาการกัน เพื่อลดความล่อแหลม เปราะบาง และเพิ่มศักยภาพการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วและดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีแนวปฏิบัติที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เน้นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการสร้างความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ใน 4 ด้าน คือ สร้างความเข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติ, เสริมสร้างศักยภาพในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ, ลงทุนในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อให้พร้อมในการรับมือและฟื้นคืนกลับได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ พัฒนาศักยภาพการเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการฟื้นสภาพและซ่อมสร้างที่ดีความเดิมในช่วงของการบูรณะฟื้นฟูภายหลังเกิดภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้คนในพื้นที่บริหารจัดการกันเองตามความต้องการที่แท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา