เปิดพอร์ตโฟลิโอทำดีเพื่อประชาชน นักศึกษารั้วธรรมศาสตร์ ได้เรียนในสิ่งที่รัก ได้ทำเพื่อสังคม กับไลฟ์สไตล์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกโซเชียล

จันทร์ ๐๗ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๑๗
ในปัจจุบันนี้ มีผู้คนมากมาย ที่ได้เสียสละตนเอง เพื่อมุ่งสร้างความดี และทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ โดยการทำงานผ่านความเป็น "จิตอาสา" ที่แม้จะเป็นการกระทำโดยไม่ได้ค่าตอบแทน แต่คนที่เป็นผู้ให้ก็มีความสุข ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่ที่เป็นจิตอาสาได้ แต่เยาวชนรุ่นใหม่ก็ฮิตสายอาสาไม่แพ้กัน!! ส่วนหนึ่งมาจากจุดเริ่มต้นที่พวกเค้าเห็นการทำความดีหลายอย่างถูกถ่ายทอดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค และรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับรอยยิ้มของทั้งผู้ให้และผู้รับ หลายคนทำงานจิตอาสาจนสามารถสะสมผลงานและนำมาเป็นใบเบิกทางเพื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้

อย่างน้องโอ๊ต คชากร พาหุรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนุ่มน้อยชาวจังหวัดพัทลุง เป็นอีกหนึ่งคนที่ชื่นชอบการเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เด็กๆแล้ว เนื่องจากตนเกิดที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งก็เห็นความเป็นชนบทและการขาดแคลนแรงงานในการทำกิจกรรมต่างๆของสังคมมาโดยตลอด จึงตัดสินใจเข้าร่วมในหลายกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่นการปรับปรุงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารแม้จะช่วยเหลืออะไรได้ไม่มาก เนื่องจากยังเด็กอยู่ แต่ก็ช่วยหยิบ ช่วยจับ ทาสีและซึมซับการเป็นจิตอาสาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยความที่น้องโอ๊ตเป็นลูกคนเดียวอาจมีบางครั้งที่คุณพ่อกับคุณแม่ต่อว่าเรื่องการทำกิจกรรมบ้างเพราะกลัวไม่มีเวลาพักผ่อนและอาจเกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อเห็นประโยชน์ก็ช่วยสนับสนุนโดยการดูแลอย่างใกล้ชิดและรับ-ส่งในระหว่างการไปทำกิจกรรม ทำให้น้องโอ๊ตรู้สึกมีแรงผลักดันมากขึ้น และได้รับรางวัลคนดีศรีท้องถิ่นเมื่อหลายปีก่อน

จากนั้นก็ส่งผลงานการทำกิจกรรมเข้าร่วมประกวดในระดับตำบลจนทำให้ได้รับโควต้ากิจกรรมดีเด่น และได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนสตรีพัทลุง เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงตัดสินใจเข้ารับตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน"โครงการรับนักเรียนกิจกรรมจิตอาสาและประชาธิปไตย"และได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ได้สำเร็จและเข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์อาสาสมัครของมหาวิทยาลัย แต่แม้จะเรียนคณะนิติศาสตร์น้องโอ๊ตก็ไม่ละทิ้งการทำกิจกรรมอาสา เพราะคณะที่น้องเรียนจะใช้การสอบปลายภาค 100 คะแนนเต็มทำให้ช่วงระหว่างภาคเรียนมีเวลาไปออกค่ายอาสาตามท้องถิ่นบ้าง และจะแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือ จนทำให้ได้เกรดเฉลี่ย 3.5 ส่วนในอนาคตหากจบแล้วมีโอกาสทำงานในสายงานที่เรียนก็จะทำงานจิตอาสาควบคู่ไปด้วยหากเวลาเอื้ออำนวย

แต่หากพูดถึงการทำงานด้านจิตอาสาของวัยรุ่นหรือคนในสังคมสมัยนี้น้องโอ้ตมองว่ามีผู้สนใจมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการมีโซเชียลมีเดียที่สามารถประชาสัมพันธ์กิจกรรมได้ง่ายๆเพียงปลายนิ้วสัมผัส ประกอบกับการสามารถโพสต์รูปตนเองในขณะทำกิจกรรมให้สังคมได้รับรู้ จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบว่าตัวเค้าเองก็สามารถเป็นผู้ให้ได้ แม้อาจจะมีหลายคนที่ยังไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเสียเวลาส่วนตัวแต่ที่ผ่านมาน้องโอ๊ตใช้วิธีชักชวนพวกเขาเหล่านั้นให้ลองมาร่วมกิจกรรมอาสาโดยเริ่มต้นง่ายๆที่กิจกรรมการมอบของแก่ผู้ยากไร้

เช่นเดียวกับน้องยอร์ช ธีระวัฒน์ ชูรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขณะนี้เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายธรรมศาสตร์อาสาที่ยอมรับว่าตอนช่วงวัยประถมไม่ชื่นชอบการทำกิจกรรมอาสาเลย เพียงแต่เป็นการเข้าร่วมตามที่อาจารย์สั่งเท่านั้นเนื่องจากสมัยเด็กยังมองโลกแบบแคบๆ และคิดถึงตัวเองเป็นสำคัญ แต่เมื่อเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนศรียาภัยจังหวัดชุมพร ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เริ่มทำกิจกรรมกับโรงเรียนจนได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน และเริ่มรู้สึกชอบการเป็นจิตอาสาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้เข้ารับตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน "โครงการรับนักเรียนกิจกรรมจิตอาสาและประชาธิปไตย"ได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ และได้เข้ามาเป็นคณะทำงานเครือข่ายธรรมศาสตร์อาสา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการลงพื้นที่ไปในชุมชนที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติดของเด็กๆ เริ่มจากชุมชนใกล้มหาวิทยาลัย ซึ่งน้องยอร์ช ได้ร่วมกับเพื่อนๆในเครือข่ายไปพาน้องๆทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การฝึกน้องๆทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ทุกวันอาทิตย์ โดยดำเนินการมา 40 สัปดาห์แล้วกับ 2 ชุมชนพบว่าน้องๆและผู้ปกครองให้ความร่วมมือดี จึงรู้สึกอิ่มเอมใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่แก่น้องๆผู้ด้อยโอกาส

และแม้จะเรียนคณะนิติศาสตร์แต่ด้วยการแบ่งเวลาที่ลงตัวทำให้ยังคงสามารถรักษาระดับผลการเรียนได้ที่ 3.29 และตั้งใจกับตัวเองว่าจะทำ 2 อย่างทั้งเรียนและกิจกรรมอาสาควบคู่กันไป ไม่ใช่เพียงกำลังใจจากตัวเองเท่านั้นแต่ที่บ้านของน้องยอร์ชก็ให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรมอาสามาโดยตลอดและไม่เคยห้ามเพราะเป็นสิ่งที่ดีที่ลูกรู้จักแบ่งปันและเป็นผู้ให้ ซึ่งก็ตั้งใจว่าแม้จะจบการศึกษาออกไปแล้วหากเวลาเอื้ออำนวยก็จะสานต่องานด้านจิตอาสาไปตลอด เพราะมองว่า "อยู่ที่ไหนก็ทำกิจกรรมได้" แม้แต่ในช่วงปิดภาคเรียนเองเพื่อนหลายคนอาจไปเที่ยวแต่น้องยอร์ชเลือกที่จะสมัครเข้าร่วมทำกิจกรรมกับรัฐสภาในการไปให้ความรู้กับน้องๆใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการเสริมสร้างการเป็นพลเมืองให้กับเยาวชน ซึ่งหน้าที่หลักของน้องยอร์ชคือการดูแลด้านกิจกรรมสัมพันธ์ ซึ่งยอมรับว่าแม้จะเหนื่อยบ้างแต่มีความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ เพราะการให้ไม่ใช่เพียงเงินทองหรือสิ่งของเพียงอย่างเดียว แต่การให้ความรู้และรอยยิ้มก็สามารถทำให้ผู้รับมีความสุขได้เช่นกัน

ตัวอย่างของ 2 เยาวชนจิตอาสานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เห็นว่าสังคมไทยน่าอยู่เพราะคนไทยรู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือกัน โดยไม่ใช่เพียงการถูกฟูมฟักจากครอบครัวเท่านั้นเพราะสถาบันการศึกษาก็เป็นแหล่งเพาะกล้าจิตอาสาที่สำคัญ เพื่อผลิตคนคุณภาพสู่สังคมไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4