สพร. จับมือ 9 หน่วยงาน รุกเปิดตัวสื่อการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ สำหรับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา พร้อมตั้งเป้าขยายผลสู่การศึกษาในระบบ

พุธ ๐๙ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๐๓
สพร. ผนึกกำลังบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์ จัด ประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ "Museum Forum 2017: Museum Education NOW!" หาทางออกความร่วมมือขององค์กรพิพิธภัณฑ์กับภาคการศึกษา

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ชูสื่อการเรียนรู้เพื่อพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ อาทิ สมุดกิจกรรมสำหรับเยาวชน คู่มือพิชิตองค์ความรู้ (Tool Kits) ชุดอีเลิร์นนิ่ง สื่อที่จับต้องได้ เกมส์ สื่อบันเทิงเชิงสาระสร้างสรรค์ และ โปรแกรมเรียนรู้สำหรับโรงเรียน เป็นต้น ตลอดจน สพร. ได้ร่วมกับ นักวิชาการ นักการศึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ หน่วยงานการศึกษา และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม 9 แห่ง จัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ "Museum Forum 2017: Museum Education NOW!"แกะปมปัญหาและหาทางออกประเด็นงานการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ไทยที่ยังขาดความสอดคล้องในด้านของนโยบายการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อเพื่อการศึกษา และสร้างเสียงสะท้อนสู่หน่วยงานการศึกษาให้บรรจุการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์เข้าสู่หลักสูตร ในฐานะทรัพยากรการเรียนรู้อย่างแท้จริง

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นิยามของพิพิธภัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา ปัจจุบัน วงการพิพิธภัณฑ์เองได้เพิ่มบทบาทด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ซึ่ง สพร. ที่มีพันธกิจหลักในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญกับประเด็นด้านการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนากิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองนโยบายการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม อาทิ โปรแกรมการเรียนรู้สำหรับโรงเรียน การพัฒนาสมุดกิจกรรมและใบงาน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ และง่ายต่อการจดจำเนื้อหา โครงการรถรักเรียน (Muse Caravan) ที่นำความรู้ไปมอบให้ยังโรงเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ในการนำเด็กเข้ามาถึงพิพิธภัณฑ์ โครงการมิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile) นิทรรศการเคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบ เพื่อขยายโอกาสสำหรับเยาวชนในระดับภูมิภาค เป็นต้น

นายราเมศ กล่าวต่อว่า สพร. ได้ดำเนินการพัฒนา สื่อการเรียนรู้แบบต่างๆ (Education Program Showcase) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของรูปแบบการสื่อสารในแต่ละช่วงวัย และเน้นแนวคิดการเรียนรู้โดยมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสหรือการลงมือทำ อาทิ

· สมุดกิจกรรมสำหรับชั้นปฐมวัย ที่เน้นสื่อด้วยภาพ มากกว่าตัวอักษร โดยออกแบบชุดความรู้ให้เชื่อมโยงกับวัตถุจัดแสดง เนื้อหาง่าย ไม่ซับซ้อน กระตุ้นความสนใจ เสริมสร้างจินตนาการ และปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ในวัยเด็ก

· สมุดกิจกรรมสำหรับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เน้นการบูรณาการความรู้สหสาขาวิชาให้เชื่อมโยงกับความรู้ที่เคยได้เรียนรู้มา เน้นการสื่อด้วยข้อความที่สั้นกระชับ ใช้ภาพสีสัน ผสมผสานรูปแบบกิจกรรมหรือเกมอย่างง่าย เพิ่มพัฒนาการด้านมิติสัมพันธ์ ที่จะทำให้การเรียนผ่านพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก

· คู่มือพิชิตองค์ความรู้ (Tool Kits) ชุดการเรียนรู้สำหรับ "ครู" เพื่อเป็นสื่อประกอบการเรียนรู้ด้านสังคมศาสตร์ โดยสอดแทรกความรู้ผ่านเกมและกิจกรรมสำหรับเยาวชน ที่หากเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์แล้ว สื่อสำหรับวิชาสังคมศาสตร์ยังขาดความปัจจุบันทันสมัยอยู่มาก

· ชุดอีเลิร์นนิ่ง จากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการศึกษา ชุดอีเลิร์นนิ่งจึงตอบรับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ให้สามารถเรียนรู้อย่างสนุกเพลิดเพลินได้ทุกที่ทุกเวลา

· สื่อที่จับต้องได้ เกมส์ และสื่อบันเทิงเชิงสาระสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การสัมผัสและลงมือทำ ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองในการจดจำและเรียนรู้อย่างยั่งยืน อาทิ แบบจำลองโบราณวัตถุ จิ๊กซอว์ 3 มิติ เกมเศรษฐียุคสุวรรณภูมิ เกมส์การ์ดจับคู่

· โปรแกรมเรียนรู้ (School Programs) โปรแกรมบูรณาการเรียนรู้ตัวเลือกสำหรับโรงเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เรียนรู้และประโยชน์สูงสุดจากการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นความสนใจของนักเรียนโดยการเชื่อมโยงความรู้ที่เคยเรียนมากับความรู้ใหม่ ใช้กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้อื่นๆ อาทิ เวิร์กชอป สื่อที่จับต้องได้ การเล่นเกมส์ กิจกรรมสันทนาการ ประกอบกับการเรียนรู้รูปแบบดั้งเดิมอย่างการตอบคำถามในสมุดคำถามหรือใบงาน ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับวัตถุจัดแสดงและเส้นทางการเดินภายในพิพิธภัณฑ์

นอกจากสื่อการเรียนรู้ของทาง สพร. ที่เน้นพัฒนาสื่อรูปแบบดั้งเดิม ให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนระดับปฐมวัย จนถึงมัธยมศึกษาเองแล้ว เครือข่ายพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ที่มีความสนใจเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น อาทิ แบบจำลองระหัดวิดน้ำ 3 มิติ โดยหอไทยนิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อการศึกษาด้านโครงสร้างภูมิปัญญาไทยสมัยก่อน ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่

นายราเมศ กล่าวต่อว่า สพร. ได้จัดงาน Museum Forum 2017 ขึ้น โดยรวบรวมนักวิชาการ นักการศึกษาในวงการพิพิธภัณฑ์ องค์กรศิลปวัฒนธรรม และหน่วยงานการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง(TCE Center)

ซึ่งภายในงานประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิชาการ ปาฐกถา เสวนาโต๊ะกลม แถลงการณ์การประชุมวิชาการ และการจัดแสดงสื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหา และขับเคลื่อนบทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ให้เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีการลงทุนและให้การสนับสนุนกับการพัฒนาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ แต่บทบาทด้านการศึกษาของพิพิธภัณฑ์กลับยังไม่เป็นที่ตระหนักมากนัก และสังคมเองยังไม่หยิบยกพิพิธภัณฑ์มาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ด้วยจากหลายสาเหตุ อาทิ ความไม่สอดคล้องระหว่างหลักสูตรการศึกษากับพิพิธภัณฑ์ ข้อจำกัดเรื่องความเร่งรีบในการชมพิพิธภัณฑ์ การขาดการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องที่ชัดเจน รวมถึงรูปแบบการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก ที่ยังต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความสนใจที่หลากหลายของประชาชน

ปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดกรอบโครงสร้างเวลาสำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการศึกษานอกห้องเรียน ในระดับมัธยมศึกษา ประมาณ 100 ชั่วโมงต่อปี หรือประมาณ 8% ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาทฤษฎีการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้และกรณีศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า กระบวนการเรียนรู้ซึมซับผ่านเพียงการดูการฟัง สมองจะสามารถเรียนรู้จดจำได้มากที่สุดแค่เพียง 50% เท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยมีการเพิ่มสัดส่วนการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ หรือการเรียนรู้ผ่านสื่อที่มีความทันสมัยให้เด็กได้รับประสบการณ์จริงเป็น 10-20% ของชั่วโมงการเรียนรู้ก็จะสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายราเมศ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.แอนนา มาเรีย ทีเรซา ลาบราดอร์ ผู้ช่วยกรรมการบริหารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้จัดระบบองค์กรขึ้นใหม่ โดยรวมแผนกเฉพาะทางด้านการศึกษาเข้ากับบรรดานักอนุรักษ์ นักวิจัย รวมถึงภัณฑารักษ์ เพื่อช่วยกันกำกับการประกอบเรื่องราวเบื้องหลังของวัตถุจัดแสดง และทิศทางการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ หลากหลายมุมมอง และให้ศักยภาพด้านการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพแก่ผู้เข้าชม เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารภายใต้มุมมองใดมุมมองหนึ่งเพียงอย่างเดียวในพิพิธภัณฑ์ จากข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิลิปปินส์ พบว่า หลังจากที่มีการผนวกบุคลากรทุกด้านเข้าด้วยกัน แล้วนำมาบูรณาการงานในพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้มากกว่าเพียงการจัดวางวัตถุจัดแสดง โดยสร้างเรื่องราวตลอดเส้นทางการเดินชมพิพิธภัณฑ์ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กระแสตอบรับจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มขึ้น และต่างมีความเห็นว่าเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจ และง่ายต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

ด้าน นาย อัลวิน ถัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายนโยบายและสังคม คณะกรรมการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์ได้จัดทำกรอบบทบาทด้านการให้การศึกษาของหน่วยงานพิพิธภัณฑ์ โดยคณะกรรมการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติสิงคโปร์ ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ใช้พิพิธภัณฑ์และแหล่งมรดกวัฒนธรรมเพื่อเป็นทรัพยากรการเรียนรู้อย่างแท้จริง 2) พัฒนาโครงการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะแก่โรงเรียน 3)สร้างศักยภาพทางการศึกษาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสังคมต่างๆ อาทิ ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้การเรียนรู้ด้านสังคมศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ผนวกเข้ากับหลักสูตรระดับประถมและมัธยมศึกษา โครงการพัฒนาสื่อการสอนสำหรับเยาวชนที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 รวมถึง โครงการพัฒนาบุคคลากรครู แนะนำกลยุทธ์ในการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นสื่อประกอบการสอนที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผลลัพธ์ที่ได้ พบว่า จำนวนผู้เข้าถึงหน่วยงานพิพิธภัณฑ์และสถาบันมรดกแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากปี 2557 กว่า 7.7 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการ Museum Forum 2017: Museum Education NOW! จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 02-255-2777 ต่อ 431, 432 หรือเข้าไปที่www.museumsiam.org

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?