กสอ. ชี้ไทยผลิตน้ำมันปาล์ม 6 เดือนแรกเฉียดแล้ว 1 ล้านตัน เร่งดันผู้ประกอบการเข้าถึงกองทุนน้ำมันปาล์ม อัพดีกรีการผลิตสู้ตลาดต่างประเทศ

ศุกร์ ๑๕ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๖:๓๔
· กสอ.เปิดกลยุทธ์ 5 ข้อส่งเสริมอุตฯปาล์ม ชี้ ผปก.ต้องเร่งลดการสูญเสีย พร้อมแนะต่อยอดสินค้าสู่อุตฯ S –Curve

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภาคใต้ เป็นหนึ่ง ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยจากข้อมูลการผลิตพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 9.99 แสนตัน และคาดว่าในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในเรื่องข้อจำกัดด้านการแข่งขันและปัจจัยภูมิศาสตร์เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะที่ กสอ. เตรียมกลยุทธ์ในการส่งเสริมศักยภาพให้ SMEs ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 5 ข้อ ได้แก่ กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต กลยุทธ์เสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่ม กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ และกลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 1,000 ล้านบาท และกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาคใต้นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีบทบาทต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ยางพารา อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการผลักดัน SMEs ในระดับท้องถิ่นให้มีศักยภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด (Local Economy) เพื่อขยายการเติบโตและผลักดันให้เกิดบทบาทในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2560 – 2561 กสอ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์การผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่นให้มีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการพัฒนา SMEs ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด 3 ด้าน คือ 1. ด้านภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม 2. ด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 3. ด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อต่อการผลิตและอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะช่วยตอบสนองและก่อให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นการผลักดันให้แต่ละอุตสาหกรรมมีการปรับบทบาทจากการ "เพิ่มมูลค่า" เป็นการ "สร้างมูลค่า" มากยิ่งขึ้น พร้อมกระจายความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคใต้ ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีส่วนสำคัญ ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยางพารา 2.อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 3.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 4.อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่รองรับกับการท่องเที่ยว และ 5.อุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากที่สุดภาคหนึ่ง เนื่องจากมีคุณภาพผลผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ดี สามารถตอบสนองการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และมีบทบาทเสมือนสารตั้งต้นให้กับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง ไบโอดีเซล ฯลฯ เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในด้านมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ดีที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีความใส ไม่เป็นไขและตกตะกอน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการแข่งขันจากประเทศผู้นำอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

สำหรับสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ ซึ่งในจังหวัดนี้มีการปลูกปาล์มยืนต้นถึง 1,087,500 ไร่ ปาล์มให้ผล 965,112 ไร่ มีผลผลิตทั้งปีอยู่ที่ 2,675,684 ตัน (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภาคที่ 8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ) ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่ในการปลูกปาล์มทั้งประเทศยังพบอีกว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 4.7 ล้านไร่ เฉลี่ยพื้นที่เพิ่มขึ้นปีละ 5 % ผลผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7% แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้เกิดจากกระบวนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยมาเลเซียและอินโดนีเซียได้เปรียบไทยในด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิต นอกจากนี้ การผลิตปาล์มน้ำมันยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสูญเสียในแต่ละกระบวนการ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมั่นใจว่าปริมาณและคุณภาพของผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ผ่อนคลายลง พร้อมทั้งการปรับตัวในด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ พบว่าในเดือน ม.ค. – มิ.ย. 60 มีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 9.99 แสนตัน (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย) และภาพรวมรายปีคาดว่าผลผลิตปาล์มสดจะมีประมาณ 11.70 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.99 ล้านตัน เข้าสู่กระบวนการกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมาณ 1.01 ล้านตัน และเข้าสู่โรงผลิตไบโอดีเซลอีก 0.86 ล้านตัน (ที่มา : กองส่งเสริมสินค้าการเกษตร กรมการค้าภายใน)

ดร.พสุ กล่าวอีกว่า กสอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้เตรียมความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

· กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต โดยเสริมสร้างรากฐานการผลิตของน้ำมันปาล์มไทยให้มีประสิทธิภาพ เช่น การลดต้นทุนการผลิตและลดการสูญเสีย การส่งเสริมคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ โดยจะอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและการนำองค์ความรู้การวิจัยเข้ามาช่วย พร้อมผลักดันการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากเดิมที่ 17% สู่ 20 – 22 %

· กลยุทธ์การเสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างอำนาจในทางตลาดและการร่วมมือกันพัฒนาให้มีทิศทางเดียวกันในลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือพี่ช่วยน้องซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้

· กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยต้องส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องห่วงโซ่มูลค่าพร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มเพื่อผลักดันสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ อาหารแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรม S-Curve เช่น โอลิโอเคมิคอลที่ใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มการแพทย์ เวชสำอาง ตลอดจนการต่อยอดสู่สินค้าใหม่เฉพาะกลุ่ม อาทิ PCMหรือแผ่นกันความร้อนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารในประเทศเขตหนาว เป็นต้น

· กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ กลยุทธ์นี้มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากที่สุด โดยจะต้องสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่ดูแลตั้งแต่ระบบต้นน้ำ – ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในการส่งเสริม ทั้งนี้ การปฏิบัติตามกระบวนการของมาตรฐาน RSPO (Roundtable For Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยมีหลักการสำคัญ คือ การปฏิบัติตามกฎเพื่อความโปร่งใส การเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุดทั้งผู้ปลูกและผู้ผลิต ความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสวนปาล์มและโรงสกัดให้เกิดอย่างต่อเนื่อง

· กลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยส่งเสริมระบบต่าง ๆ ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ คุณภาพที่สม่ำเสมอมากขึ้น อาทิ ระบบควบคุมตรวจสอบ ระบบคัดแยก ระบบวิเคราะห์การผลิต เป็นต้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในการสนับสนุนด้วยกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับทั้งการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด การแปรรูปของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม รวมทั้งกองทุน เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำทุนไปปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพครบทุกมิติดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ยังได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนมาตรการการผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่นและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด โดยได้เข้าเยี่ยมชมตัวอย่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มตัวอย่างที่นำทั้งเรื่องระบบการผลิตอัตโนมัติเพื่อลดการสูญเสียอย่างครบวงจร การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อร่วมกันพัฒนา การลดกำลังคนเพียง 8 คน/ 1 กะทำงาน ตลอดจนการนำของเสียมาใช้ในการผลิตไบโอแก๊ส และการพัฒนาสถานประกอบการเพื่อการอยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างยั่งยืน ณ บริษัท ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จำกัด อ.เมือง จ.กระบี่

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 077 200 395 - 8 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?