ชี้แจงกรณีการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) และ (8)

พฤหัส ๐๕ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๑๔
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่เห็นด้วยในการลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการออกกฎหมายที่เป็นโทษจึงใช้ย้อนหลังไม่ได้ นั้น

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ขอเรียนว่า

1. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 ให้มีการปรับปรุงอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้จากการรับเหมาและเงินได้จากการประกอบธุรกิจอันเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร จากร้อยละ 60-85 เหลือร้อยละ 60 เพียงอัตราเดียว อย่างไรก็ดี หากผู้เสียภาษีมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจซึ่งมีจำนวนค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 60 ก็สามารถ หักค่าใช้จ่ายตามหลักฐานนั้นได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (หักค่าใช้จ่ายตามจริง) อันเป็นการแสดงผลการประกอบการที่แท้จริง ในการประกอบกิจการ

2. กรมสรรพากรได้มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เสียภาษีเตรียมตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 ได้แก่ การออกแถลงข่าวกระทรวงการคลัง การประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร การจัดอบรมสัมมนาภาษี รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ และ RD Intelligence Center

3. เมื่อกระบวนการทางกฎหมายแล้วเสร็จ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 กำหนดให้เงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้สูงสุดไม่เกินอัตรา ร้อยละ 60 โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของเงินได้ตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งปี ภายในเดือนกันยายน 2560 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีภายในเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป จึงมิได้เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังแต่อย่างใด

4. ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2549 (http://www.rd.go.th/publish/33189.0.html) กำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีเงินได้ตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) แห่งประมวลรัษฎากร จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย ซึ่งเป็นการจัดทำบัญชีอย่างง่ายด้วยตนเอง

ดังนั้น ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ตาม มาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเลือกหักค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการเหมาก็ตาม มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเงินสด รับ-จ่ายซึ่งใช้แสดงรายการการรับและจ่ายเงินในการประกอบกิจการอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2549 ซึ่งหากผู้เสียภาษีเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (หักค่าใช้จ่ายตามจริง) ผู้เสียภาษีสามารถใช้รายงานเงินสดรับ-จ่ายดังกล่าว เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

5. กรณีผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ตาม มาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (หักค่าใช้จ่ายตามจริง) หากได้จ่ายค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการประกอบการ แต่ผู้รับเงินไม่ยอมออกหลักฐานการรับเงิน รวมถึงไม่ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ได้รับเงิน ผู้เสียภาษีสามารถจัดทำใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน โดยให้ผู้เสียภาษีเองเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินดังกล่าว

6. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้เป็นการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินเพื่อให้ทราบฐานะในการประกอบการของตน ทั้งทางด้านรายได้ ต้นทุน และกำไรหรือขาดทุน ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าไร้พรมแดน รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเสียภาษี ให้สอดคล้องตามผลการประกอบการที่แท้จริงอีกด้วย

หากผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่ง หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้