“LGBTI” กับความไม่เท่าเทียม ที่เราต้องเปลี่ยนแปลง

พุธ ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๖:๑๖
นักวิจัยไทยทำวิจัย "การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ" ชี้ความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมยังมีอยู่มาก แนะทางออกของปัญหาทั้งภาคการศึกษา สื่อมวลชน และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก คนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (SOGI) ทำให้กลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และผู้มีสภาวะทางเพศกำกวม (LGBTI) ถูกแบ่งแยก เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ทางสังคม และมีความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกจำกัดโอกาสในการใช้ชีวิต ข้อเสียเปรียบเหล่านี้ไม่เพียงจำกัดการได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เขาควรมี แต่ยังเป็นการปล้นศักดิ์ศรีของพวกเขาไปด้วย

กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) จึงร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท Love Frankie ทำการวิจัยเรื่อง "การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย" เพื่อหาข้อมูลเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกแบ่งแยกทางเศรษฐกิจของบุคคลกลุ่ม LGBTI ในประเทศ ทั้งในรูปแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากกลุ่มเป้าหมายที่ขยายกว้างทั้งในเชิงภูมิภาค อายุ เพศสภาพ เพศวิถี การศึกษา สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ระบุความท้าทาย โอกาส และเปิดเผยประสบการณ์ของคนกลุ่ม LGBTI เปรียบเทียบมุมมองทัศนคติและพฤติกรรมกับกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (Non – LGBTI) ในประสบการณ์ทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำเรื่องราวของพวกเขามาเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ สร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยน ให้การช่วยเหลือ และนำมาพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ผลส่วนหนึ่งจากข้อมูลแบบสอบถามเชิงปริมาณที่มีผู้ให้คำตอบกว่า 3,502 ท่าน พบว่า บุคคลกลุ่ม LGBTI มีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติมากถึง 46% คนข้ามเพศถูกปฏิเสธงานเพราะเพศสภาพและเพศวิถีถึง 77% และคนข้ามเพศเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือล้อเลียนในที่ทำงาน 40% ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งกลุ่ม LGBTI และ Non – LGBTI มีการรับรู้เรื่องกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศน้อย

ดร.อดิศร จันทรสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัยได้เล่าผลจากการสำรวจเชิงคุณภาพว่า ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุคคลกลุ่ม LGBTI ส่วนใหญ่มองว่าการถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันเป็นผลมาจากความผิดของพวกเขาเองที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือสังคมมีรากฐานกรอบความคิดการให้ค่าความเป็นหญิงและชายที่แข็งตัว เพราะฉะนั้นอะไรที่เบี่ยงเบนไปก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้นหลายคนในสังคมยังมองว่า การที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในการทำงานบางอาชีพ เช่น ช่างเสริมสวย ช่างแต่งหน้า หรือนักแสดง/นักเต้นในสถานบันเทิง ก็เป็นสิ่งที่ดีพออยู่แล้ว และอาจถือได้ว่าเป็นการความก้าวหน้าของสังคมด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้มองความเป็นจริงว่า คนกลุ่มนี้ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะสามารถเลือกประกอบอาชีพใดก็ตามที่พวกเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของมนุษยชนที่พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกประเมินตัดสินจากเพศของตนดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ดร.อดิศร ยังให้มุมมองว่าการจะทำให้สังคมยอมรับในเรื่องเหล่านี้ได้ เราต้องการพื้นที่สาธารณะที่จะนำเสนอภาพกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมในสังคมเป็นปกติทั่วไป โดยไม่กักขังเขาไว้ในกรอบคุณลักษณะที่สุดโต่งบางอย่าง ในขณะเดียวกันเราต้องทำให้เรื่องนี้อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยเราต้องสอนเด็กๆ ให้รู้จักและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีความเคารพในเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึง สีผิว เชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เขาทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไหร่ที่เขาเห็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เขาจะต้องรู้สึกทุกข์ร้อน ออกมาช่วยเหลือ ป้องกัน และเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ถูกกระทำ อย่างที่คณะฯ และที่โรงเรียนสาธิตจะมีวิชาที่สอนเนื้อหาเรื่องความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียน รวมทั้งยังจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้อาจารย์และนักเรียนนักศึกษาปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในความหลากหลายดังกล่าวด้วย

ข้อมูลจากการสำรวจเพื่อทำวิจัย "การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย" คงได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ในสังคมของเรายังมีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อกัน ซึ่งหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาไม่ได้เป็นของนักการศึกษา ผู้ออกนโยบาย หรือนักสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้ความเคารพและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ถึงจะทำให้สังคมเราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพและมีความเท่าเทียมระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4