สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 3 ปัญหาจากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จันทร์ ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๐๙:๔๙
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย" สำรวจระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,202 คน

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยซึ่งรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและช่วยเหลือคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นอันจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้เปิดให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี มีที่อยู่อาศัยไม่เกิน 25 ตารางวา หรือมีที่ดินทำการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่ ทำการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์การช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ์สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในร้านค้าที่ร่วมโครงการ ใช้ชำระค่าเดินทาง เช่น ค่ารถไฟ ค่ารถประจำทาง ค่ารถขนส่ง เป็นต้น ตามยอดเงินที่กำหนดให้ในแต่ละเดือน โดยนโยบายดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แต่ยังคงพบปัญหาจากการใช้บัตรสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่ร่วมโครงการอยู่ไกลจากที่พักอาศัย เครื่องรับบัตรสวัสดิการในร้านค้ามีปัญหา เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้คนในสังคมยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีผู้ที่ไม่ได้จนจริงหรือไม่ได้มีรายได้น้อยจริงได้รับสิทธิ์การใช้บัตรสวัสดิการและกังวลว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชนได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.75 เพศชายร้อยละ 49.25 อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.15 ระบุว่าตนเองรับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นบางส่วน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.29 ระบุว่าไม่ทราบเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 15.56 รับทราบรายละเอียดทั้งหมด

ในด้านความคิดเห็นต่อโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.8 เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 มีความคิดเห็นว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยได้จริง

ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.39 มีความคิดเห็นว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะมีส่วนช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงสินค้า/บริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61.23 มีความคิดเห็นว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน/ปัญหาหนี้นอกระบบได้ เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.82 มีความคิดเห็นว่าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะไม่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนได้

ในด้านความคิดเห็นต่อคุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.15 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้มีสิทธ์ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีนั้นมีความเหมาะสมแล้ว

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.03 มีความคิดเห็นว่าน้อยเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.82 มีความคิดเห็นว่ามากเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.14 มีความคิดเห็นว่าควรจะนำเอาคุณสมบัติด้านการศึกษาและฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกคนอื่นในครอบครัวมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.97 และร้อยละ 69.13 เห็นด้วยว่าการกำหนดให้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยชำระค่าสินค้า/บริการที่จำเป็น/ค่าเดินทางเท่านั้นจะสามารถป้องกันผู้สวมสิทธิ์/ผู้ใช้สิทธิ์แทนและจะสามารถควบคุมผู้ได้รับสิทธิ์ใช้จ่ายเงินที่ได้รับให้ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดได้มากกว่าการแจกคูปองหรือการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากโดยตรงตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.72 เห็นด้วยว่าการกำหนดให้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยชำระค่าสินค้า/บริการที่จำเป็น/ค่าเดินทางจะสามารถลดพาระค่าใช้จ่าย/งบประมาณของรัฐบาลได้มากกว่าการแจกคูปองซื้อสินค้า/การโอนเงินเข้าบัญชี/การจัดบริการขนส่งฟรี (รถไฟ รถเมล์)

สำหรับปัญหาการใช้บัตรสวัสดิการในปัจจุบันมากที่สุด 3 อันดับคือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอยู่ไกล/ไม่ครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 82.95 เครื่องรับบัตรสวัสดิการขัดข้อง/ทำงานช้าคิดเป็นร้อยละ 80.37 และความล่าช้าในการแจกบัตรสวัสดิการคิดเป็นร้อยละ 77.29

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.04 เชื่อว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้ประสบปัญหาความยากจน/มีรายได้น้อยจริง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.38 รู้สึกกังวลว่าการดำเนินโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะมีการทุจริต/เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้