สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 คุณสมบัติ ส.ส. ที่ประชาชนต้องการมากที่สุด”

พฤหัส ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๑:๔๙
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการทำกิจกรรมทางการเมือง" สำรวจระหว่างวันที่ 12 ถึง 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,204 คน

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกมาประกาศว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ซึ่งถือเป็นการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ รวมถึงสร้างผลดีทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ ขณะเดียวกันนักการเมืองบางส่วนได้เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆสามารถเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมยังคงเกิดความกังวลว่าหากมีการอนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง และผู้คนอีกบางส่วนแสดงความห่วงใยว่าหลังการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศอาจกลับไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการทำกิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.33 และเพศชายร้อยละ 49.67 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความเชื่อมั่นและความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.85 เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.09 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.06 ไม่แน่ใจ

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.38 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ/การลงทุนภายในประเทศให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.04 มีความคิดเห็นว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการหาข้ออ้างเพื่อชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองของนักการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.78 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวลว่าหากมีการประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชัดเจนจะทำให้ข้าราชการลดความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.38 เห็นด้วยที่จะเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปหลังเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 หากยังคงมีการเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายทางการเมืองของกลุ่มผู้ไม่หวังดี

ส่วนปัจจัยสำคัญ 5 ปัจจัยที่จะส่งผลให้ประชาชนในประเทศรู้สึกอยากให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ ความเบื่อหน่ายต่อการบริหารงานของคณะรัฐบาลคิดเป็นร้อยละ 84.14 ข่าวคราวการช่วยเหลือปกป้องพวกพ้อง/คนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 82.23 ปัญหาการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม/ตรวจสอบไม่ได้คิดเป็นร้อยละ 79.65 ปัญหาการทุจริตในนโยบาย/โครงการต่างๆคิดเป็นร้อยละ 76.5 และการแก้ปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพ/ราคาสินค้าและบริการไม่มีประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (ปลดล็อคพรรคการเมือง) นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.74 มีความคิดเห็นว่าควรมีการอนุญาตให้พรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หลังขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2561 รองลงมามีความคิดเห็นว่าควรอนุญาตให้เริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 นี้ คิดเป็นร้อยละ 30.9 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.22 มีความคิดเห็นว่าควรรอจนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 7.14 ระบุว่าควรอนุญาตให้เริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เลย

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.95 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศหลังจากที่มีการอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.05 มีความคิดเห็นว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไปนี้ประเทศจะได้นักการเมืองหน้าเดิมๆเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกมากกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับคุณสมบัติสำคัญสูงสุด 5 ประการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กลุ่มตัวอย่างอยากได้คือ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตคิดเป็นร้อยละ 85.96 ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง/คนใกล้ชิดคิดเป็นร้อยละ 83.8 ทำงานเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญคิดเป็นร้อยละ 81.48 เอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ของตนคิดเป็นร้อยละ 78.57 และต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 76.74

และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.24 เห็นด้วยหากมีกลุ่มทหารจากคณะรัฐประหารในปัจจุบันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.04 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.72 ไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital