รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการพัฒนางาน วศ. ด้านการใช้ วทน. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานราก สู่ Thailand 4.0

จันทร์ ๐๘ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๐:๕๖
วันที่ 5 มกราคม 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการพัฒนางานโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของกรมวิทยาศาสตร์บริการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานราก สู่ Thailand 4.0 โดยมี นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ และ น.ส. อุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานของ วศ. ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ ในการทดสอบสินค้า การวิจัยพัฒนา ตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ เช่น แก้วและกระจก กระดาษและเยื่อกระดาษ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง วัสดุทางการแพทย์ วัสดุก่อสร้าง วัสดุสัมผัสอาหาร และวัสดุวิศวกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจสอบสินค้า ด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานจากการส่งเสริมโดยกรมในการพัฒนาบุคลากร การทดสอบความชำนาญ การใช้วัสดุอ้างอิง จนกระทั้งได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และแก้ปัญหากระบวนการผลิต นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมคณะ ยังได้เยี่ยมชมและทดลองบังคับเรืออัตโนมัติซึ่งเป็นเรือสำหรับสำรวจแหล่งน้ำชุมชนที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ และยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร ห้องปฏิบัติการสอบเทียบด้านความยาวและมิติ

ดร.สุวิทย์ฯ กล่าวหลังการเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานการดำเนินงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมและมีโอกาสหารือกับทีมผู้บริหารของ วศ. ซึ่งต้องถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเก่าแก่มากถึง 128 ปี แต่มีพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างมากมาย สิ่งที่เห็นวันนี้ทำให้มีความมั่นใจว่าภารกิจของกรมนี้ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แต่ยังมีโอกาสช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเป็นการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ต้องมีความสามารถหรือทักษะเชิงเทคนิคเพื่อจะไปตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

สำหรับภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีอยู่ 3 ส่วนที่สำคัญ โดยส่วนแรกคือการให้บริการทดสอบและสอบเทียบ การสอบเทียบถือว่าเป็นส่วนกลางน้ำต่อจากสถาบันมาตรวิทยาที่เป็นต้นน้ำ ซึ่งส่วนนี้เป็นภารกิจสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถ้าเราไม่มีการทดลอง ทดสอบ ไม่มีมาตรฐานเราก็ไม่สามารถสร้างหรือคิดค้นนวัตกรรมได้ ซึ่งกรมเองมีความพร้อมและได้เตรียมการเพื่อจะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ต้องมีเครื่องมือทดสอบแบบใหม่ที่ต่างไปจากอุตสาหกรรมทั่วไป เช่นเรื่องการบิน หรือหุ่นยนต์ เป็นต้น

ส่วนที่ 2 บทบาทในด้านการรับรองห้องปฏิบัติการที่ปัจจุบันก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญเพราะเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถทำงานด้วยห้องปฏิบัติการของตัวเองได้อย่างมั่นใจว่าเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน

ส่วนที่ 3 การวิจัยพัฒนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการมีคนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และยังสามารถนำเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในหน่วยงานมาคิดอ่านและวิจัยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอนาคต พร้อมกันนั้น ยังเห็นถึงพัฒนาการของวิจัยพัฒนาที่ไปตอบโจทย์ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งสามารถนำไปทดแทนการนำเข้า และบูรณาการกับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เข้ามาใช้ ช่วยเพิ่มรายได้และสีสันให้กับการท่องเที่ยวเชิงชุมชนซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และนอกจากนี้แล้วยังได้เห็น Zero Waste ที่มาจากผลงานวิจัยพัฒนาของกรมนี้ในการนำวัตถุทิ้งเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เช่นการนำวัตถุรังไหมที่เหลือมาทักทอเป็นผ้าพันคอและอื่นๆ ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ 1) ตอบโจทย์ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นนโยบายสำคัญของไทยแลนด์ 4.0 ในการสร้างการไหลเวียนของทรัพยากร 2) ตอบโจทย์ Distributive Economy สร้างการกระจายตัวไปยัง OTOP วิสาหกิจชุมชน และการเกษตร และ 3) ตอบโจทย์ Innovative Economy คือเศรษฐกิจที่รังสรรค์ด้วยนวัตกรรมได้

ซึ่งตรงนี้เองก็เชื่อว่าขีดความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และข้าราชการของกรมนี้จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อยู่แล้ว แต่ก็ได้มีการหารือร่วมกันว่า ในอนาคตนั้น เพื่อจะตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 กรมนี้จะต้องพัฒนาต่อไป ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างขีดความของบุคลากร และการจัดทัพขององค์กรให้มีความคล่องตัวและตอบโจทย์มากขึ้น หลายภารกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ได้อยู่แล้ว แต่บางเรื่องอาจจะต้องมีการเสริมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ หรือการกระจายตัวความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้รองรับเทคโนโลยีและเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ได้ นอกจากนี้แล้ววันนี้ก็ได้เห็นในเชิงประจักษ์ถึงมิติใหม่ในการทำงานที่ดีมากของกรมนี้ คือการทำงานร่วมกันทั้งภายในกรมเอง ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนด้วย ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานเชิงบูรณาการที่ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้ภาครัฐดำเนินการ

นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกที่มีพลวัตสูง และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นความโชคดีที่ท่านรัฐมนตรีมาตรวจเยี่ยมหน่วยงานและให้ความสำคัญของการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานราก สู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และยังเห็นถึงการทำงานของกรมที่ปรับตัว มุ่งตอบโจทย์รัฐบาลทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพัฒนาการทดสอบ วิจัยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันและอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมถึงตอบโจทย์ SME และOTOP เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรของกรมเป็นอย่างยิ่ง

นับจากนี้ไปกรมผู้บริหารของกรม จะเร่งปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับการทำงานในบริบทปัจจุบัน ให้การทำงานเดิมที่ดีและตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมตามที่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวไว้แล้วมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ในการบริหารงาน คน และงบประมาณ รวมถึงกรมต้องวางแผนการทำงานเชิงรุกในการมุ่งเป้าให้มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการสร้างมาตรฐานและตรวจสอบคุณภาพสินค้านวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน สามารถยกระดับสู่ตลาดที่สูงขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

แนวการพัฒนางานของกรมให้มีผลกระทบมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนั้น กรมเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนให้มาก ในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME และ OTOP การทำงานร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาค เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาวิทยาลัยชุมชน กรมพัฒนาชุมชุน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และสำนักงานจังหวัด ทำให้เกิดผลผลิตมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่และตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงมากขึ้น สำหรับงานด้านการวิจัยเชิงนวัตกรรม หน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ผลงานวิจัยประสบความสำเร็จและได้นำไปใช้งานได้จริง เพราะเป็นการวิจัยจากความต้องการของผู้ใช้งาน และได้ทำสอบผลิตภัณฑ์กับเครื่องจักรของโรงงานที่ผลิตสินค้าโดยตรงทำให้วิจัยต้นแบบที่เสร็จแล้ว สามารถนำไปผลิตในโรงงานเชิงพาณิชย์ได้จริง

กรมวิทยาศาสตร์บริการมุ่งมั่นทำงานบริการด้านคุณภาพ ที่ตอบสนองความต้องการของภาคผลิต อุตสาหกรรม และชุมชน ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!