ดีลอยท์ เผยผู้บริหารมีมุมมองบวกต่ออุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังขาดความเชื่อมั่นในบทบาทและความพร้อมขององค์กร

อังคาร ๒๓ มกราคม ๒๐๑๘ ๐๙:๑๖
- งานวิจัยระดับโลกสำรวจมุมมองผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีต่อสังคม กลยุทธ์ แรงงาน และการลงทุนทางเทคโนโลยี

ดีลอยท์ โกลบอล (Deloitte Global) เปิดเผยรายงานการวิจัยชื่อ "The Fourth Industrial Revolution is Here—Are You Ready?" ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารธุรกิจระดับอาวุโสและผู้นำหน่วยงานภาครัฐจากทั่วโลกไม่เชื่อว่ามั่นว่าองค์กรของตนมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างและใช้โอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (อุตสาหกรรม 4.0)

อุตสาหกรรม 4.0 คือยุคสมัยแห่งการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีทางกายภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การวิเคราะห์ ปัญญาประดิษฐ์ ค็อกนิทิฟคอมพิวติ้ง และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ดีลอยท์ โกลบอล ได้สำรวจมุมมองความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง (C-suite หรือ C-level) จำนวน 1,600 คน ใน 19 ประเทศ และเลือกสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว เพื่อสำรวจความพร้อมของผู้บริหารเหล่านี้ในการใช้ประโยชน์จากยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อมอบผลลัพธ์ที่ดีแก่ลูกค้า พนักงาน ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญรายอื่นๆ

"เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและขับเคลื่อนยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น กำลังทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โลกเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้ขีดจำกัดและท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร" ปูนิต เรนเจน ซีอีโอของดีลอยท์ โกลบอล กล่าว "นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาส แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน เราได้พัฒนางานวิจัยฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่า เหล่าผู้บริหารกำลังก้าวเดินไปอย่างไรบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนี้ และเพื่อค้นหาขอบเขตที่ผู้บริหารเหล่านี้จะสามารถมีบทบาทในการรับมือกับผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะมีต่อองค์กรและสังคมของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

คำถามในงานวิจัยมุ่งเน้นไปที่ 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ ผลลัพธ์ทางสังคม กลยุทธ์ คนเก่ง/กำลังคน และเทคโนโลยี ซึ่งผลสำรวจบ่งชี้ว่า แม้ผู้บริหารเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม 4.0 แต่พวกเขากลับไม่ค่อยมั่นใจว่าควรทำหรือปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ทั้งนี้ ในการสำรวจตามแต่ละ 4 หัวข้อนั้น พบว่ามีความขัดแย้งบางประการ ดังนี้

ผลลัพธ์ทางสังคม:

มองบวกแต่ไม่มั่นใจในบทบาทของตนเอง – แม้ผู้บริหารมองว่าอนาคตข้างหน้าจะมีความมั่นคงมากขึ้น ขณะที่ความไม่เสมอภาคลดลง แต่ขณะเดียวกันผู้บริหารกลับไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นมากนักเกี่ยวกับบทบาทของตนหรือองค์กรของตนในการโน้มน้าวสังคมในยุคอุตสาหกรรม 4.0

- ผู้บริหารจำนวนมาก (87%) เชื่อว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะยกระดับความเสมอภาคและความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่สองในสามมองว่า ภาคธุรกิจจะเข้ามามีอิทธิพลมากกว่าภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในการกำหนดอนาคต

- อย่างไรก็ดี มีผู้บริหารไม่ถึงหนึ่งในสี่ที่เชื่อว่า องค์กรของตนเองสามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อปัจจัยทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ความยั่งยืน และการเลื่อนชั้นทางสังคม

กลยุทธ์:

สงบนิ่งแต่มีพลัง – เหล่าผู้บริหารยอมรับว่า ตนเองอาจไม่พร้อมที่จะคว้าความได้เปรียบจากการเปลี่ยนแปลงที่มากับอุตสาหกรรม 4.0 ทว่าข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาหันมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจแต่อย่างใด

- มีผู้บริหารเพียงหนึ่งในสามที่มีความเชื่อมั่นสูงว่า พวกเขาสามารถดูแลองค์กรในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ และมีเพียง 14% ที่เชื่อมั่นอย่างสูงว่า องค์กรของตนพร้อมใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปลี่ยนแปลงที่มากับอุตสาหกรรม 4.0

- ผู้บริหารหลายรายยังคงมุ่งความสนใจไปที่ขอบข่ายเดิมๆ (เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ การเพิ่มผลิตภาพ) แทนที่จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพสูง หรือคนเก่ง (talent) รวมทั้งขับเคลื่อนเทคโนโลยีล้ำสมัยและสามารถแข่งขันได้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมูลค่า

คนเก่ง/กำลังคน:

วิวัฒนาการกับการปฏิวัติ – ผู้บริหารไม่เชื่อมั่นว่าตนมีคนเก่งและมีความสามารถเหมาะกับงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างไรก็ดี พวกเขารู้สึกว่าตนทำเต็มที่แล้วในเรื่องของการสร้างกำลังคนที่ตรงกับงาน แม้การบริหารคนเก่งเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับท้ายๆ ก็ตาม

- มีผู้บริหารเพียงหนึ่งในสี่ที่เชื่อว่า พวกเขาได้วางแผนกำลังคนที่มีประสิทธิภาพและมีทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต

- ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหาร 86% มองว่าตนทำทุกสิ่งอย่างเต็มความสามารถแล้วเพื่อสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ทว่าคำตอบบ่งชี้ว่า ประเด็นด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ยังคงมีความสำคัญเป็นอันดับท้ายๆ นอกเหนือไปจากการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน

- สำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเก่งในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น บริษัทเหล่านี้กำลังเสาะหาบทบาทใหม่ๆ ที่อาจเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถชูจุดแข็งของตน พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อยกระดับนวัตกรรม สภาพแวดล้อมการทำงาน ไปจนถึงแนวทางใหม่ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

เทคโนโลยี:

ความท้าทายกับการเตรียมตัว – ผู้บริหารเข้าใจถึงความจำเป็นของการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดการวางกลยุทธ์ภายในและเป้าหมายระยะสั้น

- ผู้บริหารยอมรับว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความต้องการที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะสร้างผลลัพธ์ต่อองค์กรมากที่สุด

- อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารน้อยคนนักที่กล่าวว่า ตนสามารถจัดทำแผนธุรกิจที่แข็งแกร่งสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการขาดการวางกลยุทธ์ภายใน ขาดความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอก และการให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะสั้น

การวิจัยพบว่า โดยรวมแล้ว ผู้บริหารทั่วโลกยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเตรียมองค์กรของตนเองให้พร้อม เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มศักยภาพ พวกเขาจำเป็นต้องไขว่คว้าโอกาสเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายหลักที่จะนำประโยชน์มาสู่ลูกค้า บุคลากร องค์กร ชุมชน และสังคมในวงกว้างขึ้น:

- ผลลัพธ์ทางสังคม - ยอมรับว่าทุกองค์กรต่างมีพลังในการสร้างอิทธิพลที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างสรรค์โลกที่มีความเท่าเทียมและมั่นคงมากขึ้น

- กลยุทธ์ - ใช้แนวทางแบบองค์รวมในการวางแผนกลยุทธ์ ค้นหาวิธีในการนำความสามารถหลักที่มีอยู่ไปต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ และสร้างประโยชน์รูปแบบใหม่แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับที่กว้างขึ้น

- คนเก่งและกำลังคน – ให้ความสำคัญกับการเตรียมพนักงานให้พร้อมสำหรับการก้าวเดินไปในยุคแห่งอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และความร่วมมือ รวมทั้งสร้างโอกาสในการฝึกฝนอบรม ทั้งภายในองค์กรและในชุมชนด้อยโอกาส

- เทคโนโลยี - มองเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่ทรงพลังที่สุดในโลกอุตสาหกรรม 4.0 และลงทุนในด้านการรวมแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ที่สามารถสนับสนุนโมเดลธุรกิจใหม่ได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เข้าใจว่าเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่แค่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดขององค์กรเท่านั้น แต่ควรรวมทั่วทั้งองค์กร เพื่อสนับสนุนขอบข่ายความรับผิดชอบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการเจริญก้าวหน้าในโลก 4IR

"ผมเชื่อว่าผู้ที่มีมุมมองกว้างขวางจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในยุคใหม่นี้" คุณเรนเจนกล่าว "พวกเขาจะมองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจและความต้องการของสังคม ระหว่างผลลัพธ์ด้านการเงินกับกลยุทธ์นวัตกรรม ระหว่างผลิตภาพแรงงานกับความรู้สึกถึงความมั่นคงและสวัสดิภาพ และ ระหว่างการรวมเทคโนโลยีที่มีอยู่กับการสร้างโซลูชั่นขึ้นใหม่ทั้งหมด"

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านรายงานผลวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://www2.deloitte.com/insights/us/en/deloitte-review/issue-22/industry-4-0-technology-manufacturing-revolution.html?id=us:2el:3pr:dup4364:awa:dup:MMDDYY:4ir

ระเบียบวิธีวิจัย

ฟอร์บส์ อินไซท์ ร่วมกับ ดีลอยท์ โกลบอล ได้ทำแบบสำรวจ CXO จำนวน 1,603 รายจากทั่วโลกเพื่อทำความเข้าใจถึงมุมมองของพวกเขาที่มีต่ออุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดมาจากองค์กรที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ CXO เหล่านี้เป็นผู้นำองค์กรในออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผู้ตอบแบบสำรวจเป็นตัวแทนจาก 10 อุตสาหกรรม และไม่มีอุตสาหกรรมใดที่มีสัดส่วนเกินกว่า 12% ของตัวอย่างทั้งหมด การสำรวจนี้จัดทำขึ้นในเดือนสิงหาคม 2560

เกี่ยวกับดีลอยท์

ดีลอยท์ หมายถึงบริษัทแห่งเดียวหรือหลายแห่งในเครือบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ จำกัด ("DTTL") ตลอดจนเครือข่ายทั่วโลกของบริษัทสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้อง DTTL (หรือหมายถึง "ดีลอยท์ โกลบอล") และบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งแยกจากกันทางกฎหมายและมีความเป็นอิสระ DTTL ไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้า กรุณาเยี่ยมชม www.deloitte.com/about เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม

ดีลอยท์เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกในด้านการตรวจสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นทางวิชาชีพบัญชี การให้คำปรึกษา การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ภาษี และบริการที่เกี่ยวข้อง ดีลอยท์ให้บริการบริษัทที่ติดอันดับ Fortune Global 500(R) เป็นสัดส่วนถึง 4 ใน 5 ด้วยเครือข่ายบริษัทสมาชิกในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก สามารถรับชมการทำงานของพนักงานดีลอยท์ที่มีอยู่ประมาณ 264,000 คน ซึ่งล้วนมีส่วนสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญได้ที่ www.deloitte.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4