กยท. ชี้แจง การควบคุมปริมาณการส่งออกยาง 3 ประเทศ (AETS) ไม่ทำให้ไทยเสียโอกาสเศรษฐกิจ ย้ำเป็นเพียงการควบคุมการส่งออกระยะสั้น ที่ผ่านมา 4 ครั้งทำราคาปรับตัวสูงขึ้น

พฤหัส ๒๕ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๖:๔๑
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ชี้แจงประเด็นมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยาง (AETS) ไม่ทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และไม่กระทบต่อสต็อกยางในประเทศ ย้ำมาตรการ AETS ที่ผ่านมา 4 ครั้ง ทำให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้น ยันเป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน สอดรับนโยบายรัฐส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยดำเนินการมาตรฐาน AETS โดยประกาศลดการส่งออกยางพาราร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มาแล้วรวม 4 ครั้ง ครั้งแรกปี 2544 ทั้ง 3 ประเทศ ควบคุมการส่งออก 700,000 ตัน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 36.38 เซ็นต์สหรัฐต่อกิโลกรัม คิดเป็น75.07% ครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม – ธันวาคม 2552 ส่งออกลดลง 700,000 ตัน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น 156.43 เซ็นต์สหรัฐ/กิโลกรัม คิดเป็น 127.94% ในช่วงปลายปี 2552 ครั้งที่ 3ระหว่างเดือนตุลาคม – มีนาคม 2556 ลดการส่งออกจำนวน 300,000 ตัน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น 15.1 เซนต์สหรัฐ/กิโลกรัม คิดเป็น 5.24% และครั้งที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ลดการส่งออก จำนวน 615,000 ตัน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น 96.67 เซนต์สหรัฐ/กิโลกรัม คิดเป็น 72.30% เห็นได้ว่าจาก 4 ครั้งที่ ผ่านมา มาตรการลดการส่งออกของทั้ง 3 ประเทศ ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นในปี 2561 สภาไตรภาคีระหว่างประเทศ (ITRC) จึงมีเป้าหมายควบคุมการส่งออกยาง 350,000 ตัน ซึ่งไม่ได้สูงกว่าการดำเนินการทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา

ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาดของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดในช่วงมกราคม – มีนาคม 2561 ไทยจะมีผลผลิต จำนวน 915,630ตัน ซึ่งการดำเนินมาตรการ AETS ช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้น 30 % และส่งผลให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยไม่ทำให้ประเทศชาติสูญเสียทางเศรษฐกิจตามที่มีผู้ให้ข่าวแน่นอน

อย่างไรก็ตาม โครงการควบคุมการส่งออกในปี 2561 เป็นการดำเนินการระยะสั้น 3 เดือน ตั้งแต่ มกราคม – มีนาคม 2561 ซึ่งผู้ส่งออกสามารถเลื่อนการส่งออกเฉลี่ยไปในเดือนที่เหลือของปีได้ หากราคาปรับตัวสูงขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ระหว่างการจำกัดการส่งออก ใน 3 เดือนนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีมาตรการที่ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ เป้าหมาย 200,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการด้วย ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest