ศสช.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ

จันทร์ ๐๕ มีนาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๒๐
ศสช.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพเพื่อให้เพียงพอและตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ และเรียนรู้ปัญหาอย่างตรงจุด หวังแก้ปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว

ด้วยสภาพสังคมด้านสุขภาพของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่คำนึงเรื่องสุขภาวะของประชาชนที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการบุคลากรด้านสุขภาพเพื่อดำเนินการป้องกันและส่งเสริมด้านสาธารณสุขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น แพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องปรับตัวและเข้าใจบริบทของชุมชนให้มากยิ่งขึ้น

เป็นที่มาของการลงพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพและพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพบุคลากรด้านสุขภาพให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชน โดย มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ร่วมกับ โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อเร็ว ๆ นี้

ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพของไทยว่า ถึงแม้ว่าการ กระจายบุคลากรด้านสุขภาพในประเทศไทยในทุกวันนี้ จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 1 : 3,277 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 2,893 คน ในปี 2553 และอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากร จาก 1 : 794 คน ในปี 2544 เป็น 1 : 531 คน ในปี 2553 แต่ทั้งหมดยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สถานบริการในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการกระจายและขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพื้นที่ อีกทั้งยังไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงซึ่งก็มีผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชนและอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพต่อการรักษาในระยะยาว

ผนวกกับข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ที่ได้รวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาบุคลากรสุขภาพจาก 57 ประเทศ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีข้อเสนอให้แต่ละประเทศพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน โดยให้บุคลากรสุขภาพจากโรงพยาบาลชุมชนหรือกลุ่มทำงานด้านสุขภาพในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จเป็นต้นแบบของความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน เช่น การศึกษาแบบสหวิชาชีพ (Interprofessionnal Educaation : IPE) โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตบุคลากรสุขภาพที่มีคุณภาพและแก้ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดรับกับผลวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือก และข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในศตวรรษหน้า (2560-2596) ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยระบุว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณกำลังคนเข้าสู่ระบบเท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการคงอยู่ของกำลังคน

"จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ศสช.จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและเกิดความร่วมมือในการปฏิรูปการศึกษาบุคลากรสุขภาพ โดยเน้นการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐานพร้อมสร้างกระบวนการทำงานด้านการศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพสุขภาพ รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการกำหนดนโยบาย เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านบุคลากรด้านสุขภาพในระยะยาว โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่เล็งเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าวและเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลง เช่น รพ.อุบลรัตน์ และ รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาบุคลากรด้านสุขภาพในชุมชนได้เป็นอย่างดี" เลขาธิการ ศสช. ระบุ

ด้าน นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เล่าถึงการผลิตบุคลากรสุขภาพของ รพ.น้ำพอง ว่า จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น รพ.น้ำพอง ได้ศึกษาและวางแนวทางแก้ไขด้วยการจัดจ้างแพทย์เฉพาะทาง 7 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ จักษุแพทย์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคหอบหืด โดยเชิญมากจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงโครงการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน โดยชุมชน ด้วยการจัดบริการเวชศาสตร์ครอบครัว โดยมีแพทย์ประจำศูนย์เวชปฏิบัติครอบครัวขึ้นตรวจ และเปลี่ยนบทบาทพยาบาลฝ่ายส่งเสริมสุขภาพให้เป็นพยาบาลชุมชนประจำหมู่บ้าน

ในส่วนกระแสการลาออกของพยาบาลภาครัฐไหลไปสู่ภาคเอกชน และพยาบาลจบใหม่ปฏิเสธการร่วมงานกับโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทาง รพ.น้ำพอง จึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ผลิต "พยาบาลชุมชน" ตามแนวคิด "เลือกคนดีเรียนได้ มากกว่าเลือกคนเก่งเรียนดี" โดยมีหลักการคัดเลือก 4 ขั้นตอน คือ 1.การคัดเลือกที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2.การปรับหลักสูตรให้เอื้อต่อการเป็นพยาบาลชุมชน 3.มีเวทีติดตามเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตและนักศึกษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และ4.การสนับสนุนเมื่อจบมาทำงานในพื้นที่

"นอกจากนี้ รพ.น้ำพอง ยังยังให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้แบบใช้พื้นที่เป็นฐาน และเรียนรู้ระหว่างสหวิชาชีพ จึงทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้ศึกษาวิชาความรู้จากของจริง โดย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว กายภาพบำบัด ทันตแพทย์ และทันตภิบาล เภสัชกร ทำให้ปัจจุบัน รพ.น้ำพอง ไม่มีปัญหาการขาดอัตราทุกวิชาชีพ และยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผอ.รพ.น้ำพอง ชี้แจงเพิ่ม

ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการสร้างสุขภาพดีให้แก่คนในชุมชนว่า จะต้องมีครบทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม จึงได้เปลี่ยนระบบบริการของโรงพยาบาล จากระบบบริการแบบตั้งรับเป็นบริการเชิงรุก คือจัดพยาบาลชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ภายในชุมชน เพื่อเรียนรู้การเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งการเข้าไปแบบเพื่อนจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากชุมชน ทำให้สามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น

"ส่วนเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ รพ.อุบลรัตน์ มีโครงการบุคลากรคืนถิ่น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลิตบุคลกรด้านสุขภาพ โดยคัดเลือกจากนักเรียนในพื้นที่ ให้เข้ามาทดลองทำงานด้านสุขภาพเป็นเวลา 60 ชั่วโมง เพื่อได้เรียนรู้การทำงาน เมื่อเรียนจบออกมาจะได้ทราบถึงการทำงานที่แท้จริง อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการย้ายของบุคลากรด้านการแพทย์อีกด้วย" ผอ.รพ.อุบลรัตน์ อธิบายเพิ่ม

ทั้งนี้ นักศึกษาแพทย์จากหลายสถาบันที่ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้วยระบบศึกษาแบบสหวิชาชีพ ที่ รพ.อุบลรัตน์ ร่วมกันสะท้อนองค์ความรู้หลังเข้ารับการอบรมว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนมีโอกาสได้เรียนรู้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เป็นต้นเหตุปัญหาด้านสุขภาพ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ปัญหาโดยตรงแต่ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้ในระยะยาว ซึ่งการเข้าไปเรียนรู้ในชุมชน ได้ลงพื้นที่จริง คิดว่าจะช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายจากบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้มีความรู้และประสบการณ์ที่กว้างมากขึ้น

การขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่หลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่เพียงพอต่อความต้องการ และดำเนินการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?