เครือข่ายผู้หญิงรุกอิสลามกลางประจำจังหวัด ดาโต๊ะและรัฐทำงานด้วยกันเพื่อให้ผู้หญิงได้รับความยุติธรรม และปรับหลักการทางศาสนาให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน

อังคาร ๐๖ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๐๓
คณะทำงานโครงการวาว (VAW) เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว นำโดยองค์การอ็อกแฟม เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ชมรมผู้นำมุสลีมะห์จังหวัดนราธิวาส และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดสัมมนาช่องว่างการใช้กฎหมายไทยและกฎหมายอิสลามเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้รับความสนใจจากองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายไทย ผู้นำศาสนา นักวิชาการศาสนา สหวิชาชีพ ร่วมกันเสนอสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและอุปสรรคของการได้รับความยุติธรรม

ประธานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดนราธิวาส นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาหนัก มีเข้ามาทุกวันๆ ละ 3-4 คู่ เมื่อเครือข่ายผู้หญิงเสนอตัวเข้ามาช่วยทำงานจึงยินดีมาก เพราะที่ผ่านมาการสอบถามเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้นำศาสนาที่เป็นผู้ชายมีข้อจำกัดเรื่องการตรวจสอบบาดแผลและความละเอียดอ่อนต่อจิตใจผู้หญิง ในระยะเวลาสี่เดือนจากพฤศจิกายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 มีผู้หญิงเข้ามาขอหย่าและไกล่เกลี่ย 62 คน ดำเนินการแก้ไขให้ได้เพียง 20 คน อีก 42 คนยังติดปัญหาอยู่ โดยมากเป็นเรื่องการไม่ให้ค่าเลี้ยงดู ทำร้ายร่างกาย อิสลามกลางประจำจังหวัดทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้สามีปฏิบัติตามสัญญาแต่งงาน แต่หากไม่ดูแลเลี้ยงดู ทำร้ายร่างกาย จำเป็นต้องไปหาดาโต๊ะยุติธรรม

สอดคล้องกับกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดปัตตานีที่รายงานว่าปีที่ผ่านมามีผู้หญิงเข้ามาร้องเรียน 722 คน แก้ไขให้ได้เพียง 270 คน ขณะที่สถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างเป็นทางการของจังหวัดนราธิวาสมีเพียง 24 คนต่อปีจากข้อมูลของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด (พมจ.)

"สิทธิที่ให้ผู้หญิงยังไม่มีใครได้ไปตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้" ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี สรุปจากผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้หญิง ผู้นำศาสนา และดาโต๊ะ เป็นจำนวนมากพบว่าไม่มีคดีมาขอความยุติธรรมกับดาโต๊ะเรื่องสิทธิค่าเลี้ยงดูเลยแม้แต่คดีเดียว ข้อค้นพบสำคัญเป็นเพราะยังไม่มีกองทุนผู้หญิงให้มีเงินจ้างทนายเพราะผู้หญิงที่นี่ส่วนใหญ่ยากจน ขาดผู้ประสานเรื่องจากอิสลามจังหวัดไปยังศาล กระบวนการที่ใช้ยืดเยื้อ เป็นผลให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม ยากจนลง และไม่มีรายได้เลี้ยงดูบุตรให้มีสุขภาวะที่ดี ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิของตัวเองหลังหย่า การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูให้กับตัวเอง และค่าเลี้ยงดูบุตร

ในขณะที่หลายประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่มีการปรับหลักการทางศาสนาให้เหมาะสมกับสังคมยุคปัจจุบัน อาทิเช่น มาเลเซีย ศาลจะบังคับให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงดูและจ่ายล่วงหน้าให้ผู้หญิงแล้วจึงเรียกเก็บจากสามีภายหลัง ที่อินเดียสามีต้องสะสางภาระค่าเลี้ยงดูครอบครัวเดิมให้เสร็จสิ้นก่อนจึงจะแต่งงานใหม่ได้ อินเดียและศรีลังกาหากสามีเฆี่ยนตีผู้หญิงสามารถฟ้องหย่าได้ทันที และอียิปต์ปัจจุบันให้สิทธิผู้หญิงหย่าได้แม้สามีไม่ยินยอม แต่ในสังคมมุสลิมในประเทศไทยยังต้องให้สามียินยอมจึงจะหย่าได้ "การปรับปรุงกฎหมายตามกระแสสังคมเป็นเหตุผลที่ทำให้คนอยากเข้ามาพึ่งกฎหมาย ซึ่งใช้หลักการว่าทำแล้วอิสลามไม่เสื่อมเสีย" ดร. ฆอซาลี สรุป

สงขลาเริ่มมีต้นแบบบูรณาการลดความรุนแรงต่อผู้หญิง อัยการณปก์ภรณ์ บิลหีม รองอัยการจังหวัดสงขลา กล่าวว่าได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยการที่อัยการประสานสหวิชาชีพให้เข้าหาชุมชนเพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิง และทำบันทึกข้อตกลงกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ปรับปรุงการอบรมก่อนแต่งงานให้มีหัวข้อเรื่องกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และอยู่ระหว่างการหารือให้กรรมการอิสลามอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไทยเข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงยอมความที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ซึ่งจะทำให้เกิดการบังคับใช้ได้

โครงการวาว (VAW) เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ดำเนินการโดยภาคีเครือข่ายองค์กรผู้หญิง จะจัดอบรมผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ต่ำกว่า 100 คนให้มีทักษะความรู้ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายอิสลามเพื่อให้บริการคำปรึกษาผู้หญิงได้อย่างมืออาชีพในสำนักงานอิสลามจังหวัดนราธิวาสและในชุมชนไม่น้อยกว่า 13 แห่ง และเป็นผู้เชื่อมประสานเรื่องร้องเรียนของผู้หญิงจากชุมชนและอิสลามจังหวัดให้เข้าถึงกระบวนการของดาโต๊ะยุติธรรมและสหวิชาชีพ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2563 แต่ปัญหาสำคัญของพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกควบคู่กับกฎหมายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมีมากกว่าเพียงการเชื่อมต่อระบบให้ถึงกันและทำให้ผู้หญิงเข้าใจสิทธิของตนเอง แต่เป็นเรื่องของการตกลงตีความหลักการทางศาสนาที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงและการปรับปรุงกฎหมายอิสลามให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน โดยที่ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการหารือนั้นเช่นเดียวกับกฎหมายยุติความรุนแรงเองก็ยังมีปัญหาอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุง เนื่องจากเน้นการไกล่เกลี่ยในทุกขั้นตอน ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงซ้ำจนหลายครั้งกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๒๑ งานวิจัย Kaspersky เผย ผลร้ายจากภัยคุกคามเป็นตัวกระตุ้นรูปแบบพฤติกรรมทางไซเบอร์ของนักการศึกษามากที่สุด
๐๘:๓๓ ซินเน็คฯ จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมกางแผนสร้างการเติบโต สู่เป้ารายได้ 40,000
๐๘:๓๘ BRR ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น แบบ Hybrid ประจำปี 2567 ผถห. เคาะจ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น - ชูสตอรี่ ESG สู่ความยั่งยืน
๐๘:๑๖ DEMI HAIR CARE SCIENCE เปิดตัวผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูผมเสียอย่างล้ำลึก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
๐๘:๓๔ ซีอีโอ BBGI ร่วมงาน OECD Global Forum on Technology ขึ้นเวทีเสวนาระดับโลกในหัวข้อ Sustainable Production ที่กรุงปารีส
๐๘:๒๓ ฟันโอ-ทิวลี่ คว้ารางวัล 2023 Top Influential Brands Award สุดยอดแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากที่สุด
๐๘:๔๗ เฮอริเทจ จัดโปรแรง เอาใจคนรักผลไม้ ลดสูงสุดกว่า 15%
๐๘:๕๘ ต้อนรับฤดูร้อนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนกับ GAMBERO ROSSO DI MAZARA กุ้งแดงมาซาร่า-ราชินีแห่งท้องทะเลซิซิลี ที่ห้องอาหารอิตาเลียน
๐๘:๔๐ Tinder ส่งฟีเจอร์ใหม่ Share My Date แชร์แผนการออกเดทในแอพฯ แบบเรียลไทม์ให้เพื่อน-ครอบครัว
๐๘:๐๘ เลี้ยงลูกตามใจ ไม่เคยขัดใจ เด็กอาจเสี่ยงเป็นฮ่องเต้ซินโดรม