งานวิจัย สกว.ค้นพบรูปแบบการเผาในที่โล่ง ต้นตอปัญหาหมอกควัน แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภาคเหนือตอนบน

อังคาร ๑๓ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๘:๑๘
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือของไทย มีปัญหายาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยมลพิษทางอากาศ สาเหตุหลักพบว่าเกิดจากการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง แต่ที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ยังมีจำกัดและไม่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ "โครงการติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับการประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อการวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาสู่ข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายด้าน อาทิ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ค่าการปลดปล่อยมลพิษจากการเผาชีวมวลประเภทต่างๆ ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเผาชีวมวลในที่โล่งจากการพิจารณาสภาวะทางอุตุนิยมวิทยา การเคลื่อนที่และการกระจายของมลพิษจากแหล่งกำเนิดการเผา รวมถึงผลกระทบจากมลพิษที่ถูกพัดพาไปยังพื้นที่อื่น โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการจำลองการเผาตัวอย่างชีวมวลและการจำลองทิศทางการพัดพามลพิษซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ชีวมวลในพื้นที่โล่ง โดยเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (ช่วงระหว่างปี 2549 - 2558) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาก

ผศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงข้อค้นพบดังกล่าวว่า จากการติดตามการเผาในที่โล่งในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดพบว่า มีการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรทุกเดือนในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งพื้นที่ที่พบการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรมากที่สุด คือ จังหวัดน่านและจังหวัดพะเยา ส่วนการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่าพบว่า มักเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน โดยจะมีการเผามากที่สุดในเดือนมีนาคม จังหวัดที่พบว่ามีการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่ามากที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากที่มีพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งการกระจายเชิงพื้นที่ของการเผาในที่โล่งมีความสอดคล้องกับลักษณะการใช้ที่ดิน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท ย้อนหลัง 10 ปี (2549-2558) พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างเห็นได้ชัด โดยพื้นที่ป่ามีปริมาณลดลงกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่เกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 13,000 ตารางกิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรบนที่สูงได้อย่างชัดเจน และยังพบว่าพื้นที่เกษตรในที่สูงมีปริมาณของจุดความร้อนเพิ่มมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดในเดือนมีนาคม และลดลงในเดือนเมษายน

สำหรับการทดสอบการเผาชีวมวล 4 ชนิด คือ ฟางข้าว เศษต้นข้าวโพด เศษใบไม้จากป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ พบมีการปล่อยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 จากการเผาฟางข้าวและใบไม้จากป่ามากกว่าการเผาต้นข้าวโพด แต่ฝุ่นที่ได้จากการเผาฟางข้าวและต้นข้าวโพดแห้ง มีปริมาณโพแทสเซียม (K+) และ คลอไรด์ (Cl-) สูงกว่าการเผาใบไม้จากป่าอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่ามาจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มพืชเกษตร ส่วนองค์ประกอบของสารประกอบพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) ในตัวอย่างฝุ่น PM2.5 จากการเผาชีวมวลแต่ละประเภทไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาค่าสัดส่วนระหว่างสารก่อมะเร็ง และสารที่ไม่ก่อมะเร็งของกลุ่มสารพีเอเอชพบว่า การเผาต้นข้าวโพดให้ค่าสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าการเผาชีวมวลชนิดอื่นๆ เล็กน้อย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจากการรับสัมผัสฝุ่นควันจากการเผาชีวมวล

และจากการวิเคราะห์การเสี่ยงภัยจากภาวะหมอกควัน โดยใช้ข้อมูลความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ในอากาศที่รายงานโดยกรมควบคุมมลพิษ สามารถสรุปได้ว่า ใช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีเพียง 1-5 วันต่อเดือนที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือน มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดที่จะส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน และบางพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนในช่วงเดือนเมษายน จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ยังคงพบค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไมครอน หรือ PM10 ที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นบางวัน

ทั้งนี้ ในการประเมินสภาพอากาศโดยการประมวลผลจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า จากการวิเคราะห์ดัชนีอัตราการระบายอากาศ (Ventilation Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการระบายอากาศออกจากพื้นที่โดยใช้ข้อมูลความเร็วลม และระดับความสูงที่มลพิษสามารถฟุ้งกระจายได้ พบว่า ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นช่วงที่มีการระบายอากาศดีที่สุด โดยในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มีอัตราการระบายอากาศค่อนข้างแย่ สาเหตุเนื่องจากช่วงเดือนมกราคมพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน มีการระบายอากาศที่แย่มากที่สุดเกินครึ่งเดือน ถ้ามีการเผาขึ้นไปในอากาศก็จะมีโอกาสที่ควันหรือฝุ่นละอองจะถูกกักไว้ในระดับใกล้พื้นดินมากกว่า ขณะที่ในช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน อัตราการระบายอากาศจะดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน มีอัตราการระบายอากาศดีที่สุด

ผศ.ดร. สมพร กล่าวตอนท้ายว่า "จากข้อค้นพบนี้ สามารถนำไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผาในพื้นที่ได้ และเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันต่อไปในอนาคต เนื่องจากมีผลวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาหมอกควันที่แท้จริง โดยมีข้อพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนถึงแหล่งกำเนิดหลักมลพิษทางอากาศทางภาคเหนือตอนบนของไทยว่า นอกเหนือจากการจราจรในพื้นที่เขตเมืองแล้ว ยังมาจากการเผาในที่โล่ง นอกจากนี้ผลงานวิจัยจะช่วยให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการจัดการกับชีวมวลที่เหลือในพื้นที่ ให้มีการเผาอย่างเป็นระบบ โดยการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อประเมินสภาพอากาศ และอัตราการระบายอากาศรายวัน โดยจะต้องมีการวางระเบียบการเผาภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด"

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ ได้มีการสร้างฐานข้อมูลลงในเว็ปไซต์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา แสดงพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง การเคลื่อนที่ และการกระจายของมลพิษในระดับท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http:// smokehaza.science.cmu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้