กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พร้อมปรับแก้ร่างพรบ.กำกับดูแลการเงินขนาดใหญ่ให้เหมาะสมกับการสหกรณ์ในยุคปัจจุบัน

ศุกร์ ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๐๙
กรมส่งเสริมสหกรณ์เผยผลความคืบหน้ารับฟังความเห็นตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน กรณีร่างพรบ.กำกับสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ชี้พร้อมศึกษาปรับแก้ตามข้อเสนอสหกรณ์ ซึ่งต้องพิจารณาให้สอดคล้องมติครม.และความเหมาะสมในการกำกับดูแลสหกรณ์ในยุคปัจจุบัน เตรียมรับฟังความเห็นเพิ่มและเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน ระบุคณะกรรมการกำกับฯสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังทำหน้าที่รับจดทะเบียนสหกรณ์ ชี้กฎหมายใหม่เอื้อให้สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้ทันสมัยในยุคดิจิทัล

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์ภาคการเงินขนาดใหญ่ พ.ศ...ซึ่งทางชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันก่อน มีตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีทุนดำเนินงานเกิน 5,000 ล้านบาท เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากการรับฟังข้อเสนอพบว่ายังมีหลายประเด็นในร่างกฎหมายที่ตัวแทนสหกรณ์ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติม ดังนั้น ทางกรมฯจะรวบรวมและนำความคิดเห็นต่าง ๆ กลับมาศึกษาและปรับปรุงร่างพรบ.ดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างแท้จริง

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่สหกรณ์เสนอเข้ามาคือ การเสนอให้เปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายนี้โดยใช้ชื่อว่าร่างพรบ.คณะกรรมการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน รวมถึงเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์ภาคการเงินขนาดใหญ่ เป็นคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้มีความชัดเจนและเห็นควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งหมดไปอยู่ภายใต้กฎหมายในการกำกับดูแลเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องมาศึกษาว่า จะมีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้ชื่อดังกล่าว อีกทั้งที่ประชุมของตัวแทนสหกรณ์ยังเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการกำกับฯ ที่ต้องการให้เพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ให้เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับข้อเสนอเรื่องการเก็บรายได้จากสหกรณ์เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับฯ ที่จะตั้งขึ้นมาตามร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดรูปแบบให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกับคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในมาตรา 27 ของร่างพรบ.คณะกรรมการกำกับฯ ระบุไว้ว่า ให้สหกรณ์การเงินขนาดใหญ่นำส่งเงินเพื่อเป็นทุนสำนักงานตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิ แต่ทางตัวแทนสหกรณ์ได้เสนอว่าจะให้ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาก่อนว่าจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงว่า กรมฯได้นำเสนอร่างพรบ.คณะกรรมการกำกับการเงินขนาดใหญ่และชี้แจงรายละเอียดต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯด้านกฎหมายของรัฐบาล ที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ โดยนำเสนอให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพรบ.ฉบับนี้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อคณะทำงานได้ศึกษาและปรับแก้ตามความเห็นที่ได้รับจากตัวแทนสหกรณ์แล้ว หลังจากนี้จะต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น ภายหลังจากการปรับแก้ร่างพรบ.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทางสหกรณ์ได้ร่วมตรวจดูร่างพรบ. ที่ปรับแก้ไป โดยคาดว่า ร่างพรบ.ที่จะออกมาบังคับใช้จะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมติครม. คาดว่าจะใช้เวลาในการเปิดรับฟังความเห็นและการปรับแก้ร่างพรบ.นี้ 3 เดือน

"เราจะเร่งให้พรบ.ฉบับนี้ออกมาใช้ได้ภายในปี 2561 และเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงร่างพรบ.คณะกรรมการกำกับฯ ในส่วนความเห็นของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเอาไปรับฟังจากสหกรณ์อีกครั้ง โดยโครงสร้างของหน่วยงานที่จะตั้งใหม่เพื่อมากำกับดูแลสหกรณ์ตามร่างพรบ. ที่จะเกิดขึ้นยังคงอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการ ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงทำหน้าที่รับจดทะเบียนสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดูแลเรื่องการจัดทำระบบบัญชีของสหกรณ์ตามภารกิจเดิม" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ การกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่คงเป็นไปยาก เพราะหน่วยงานกำกับที่จะตั้งขึ้นใหม่นั้น มีบุคลากรไม่มากนัก ขณะเดียวกันสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กๆ ก็มีการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก จึงอาจจะยังไม่จำเป็นจะต้องไปอยู่ในการกำกับของหน่วยงานใหม่ ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ มีทุนดำเนินงานจำนวนมาก ทางสหกรณ์เหล่านี้ก็มีความต้องการที่จะนำเงินไปลงทุนธุรกิจอย่างอื่นเพิ่มขึ้น แต่ยังติดขัดกับกฎหมายของสหกรณ์ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเมื่อมีการออกพรบ.กำกับดูแลสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ออกมาถือใช้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สหกรณ์เหล่านี้สามารถนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ และสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมสหกรณ์ในเรื่องการลงทุนและพัฒนาในด้านการทำธุรกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการปรับปรุงรูปแบบธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ให้เหมาะสมทันต่อยุคสมัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้