ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน พร้อมนำองค์ความรู้จัดการปัญหาในชุมชน ลดภาวะโลกร้อน การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

จันทร์ ๒๓ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๕:๕๕
จากปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอประกอบกับสถานการณ์ราคาค่าไฟที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ชุมชนเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยสวนผลไม้ ชุมชน"บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2" ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นป่าชายเลนที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ทางภาคตะวันออกของไทย เกิดแนวคิดต้องการที่จะมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่โดยใช้เศษไม้วัตถุดิบที่หาง่ายในชุมชนมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟในอนาคต

นายอำพร แพทย์ศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนป่าบ้านเปร็ดใน และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสนใจเรื่องของพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกก็เพราะเกิดจากไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ มีเงาะโรงเรียน ลำไย ลองกอง มังคุดและทุเรียน ต้องปั๊มน้ำไปใช้รดสวนผลไม้ในปริมาณมาก ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูง ในฐานะเป็นหมู่บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่จะนำพลังงานชีวมวลหรือพลังงานทดแทนที่เหมาะสมเข้ามาใช้ เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันนี้มาจากภาวะโลกร้อนจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด

แต่เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในโครงการการยกระดับความรู้ความเข้าใจชุมชนบ้านเปร็ดในเรื่องพลังงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนจากฐานทรัพยากรภายในชุมชน ที่มี ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายอำพร ยอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือกของชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่เคยคิดว่าในเมื่อเรามีเศษไม้ในพื้นที่อยู่แล้วก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลได้ แต่พอทำการศึกษาวิจัยสามารถประเมินได้ว่าชีวมวลที่มีอาจไม่เพียงพอ ประกอบกับต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลค่อนข้างสูง อีกทั้งคนในชุมชนยังไม่มั่นใจเรื่องของฝุ่นละอองและเสียง เพราะกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและจะส่งผลให้เกิดมลภาวะขึ้นในชุมชน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา นักวิจัยเน้นการใช้กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกภายใต้ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับทางนักวิจัยชุมชน ยุวชนชุมชน ผู้นำชุมชนและชุมชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทรัพยากรเพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพด้านพลังงานในชุมชน เก็บข้อมูลพื้นฐาน จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพลังงานทางเลือก และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทางเลือกให้กับคนในชุมชน จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือกของชุมชน ประกอบด้วย การจัดอบรมการทำบัญชีพลังงานครัวเรือน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละครัวเรือน การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้และใบไม้ ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีการจัดการขยะของชุมชน ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ และการจัดทำแผนพลังงานทางเลือกของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นศึกษาดูงานด้านพลังงานทางเลือกที่จังหวัดนครราชสีมาและสระบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจและความเข้าใจในการทำงานของแต่ละเทคโนโลยี จัดอบรมสาธิตการผลิตและติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสนใจเลือกทดลองใช้เป็นการนำร่อง ได้แก่ เทคโนโลยีถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร , เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างทางเดิน และการผลิตเตาก๊าซชีวมวลจากฟืน รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุดโครงการวิจัยการสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายอำพร ยอมว่า " ปัจจุบันจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นเรื่องที่ชุมชนเองให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลต่อการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เมื่อสกว.เข้ามาให้ความรู้ ทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้าใจถึงสาเหตุที่ผลผลิตทางการเกษตรเคยติดลูกดีกลับประสบปัญหาติดลูกน้อยลงมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังสามารถประเมินถึงทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งพวกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ชุมชนพยายามอนุรักษ์อยู่พบว่าสาเหตุที่มีปริมาณลดลงเกิดจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน แม้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่งได้ ความรู้เหล่านี้ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อน"

เมื่อชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น เก็บข้อมูลและประเมินศักยภาพได้ ในที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีการทดลองติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ขนาดเล็กเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างทางเดินต้นแบบขึ้น ณ โรงเรียนบ้านเปร็ดใน และที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน ต่อมาชุมชนได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน จึงดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ปัจจุบันสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากเดิม 5,000 – 7,000 บาทต่อเดือน ลดลงเหลือ 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนและชุนชนใกล้เคียงนำไปขยายผลต่อไป

นายณรงค์ชัย โต้โล้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะนักวิจัยชุมชน กล่าวว่า "การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน มีติดตั้งทั้งหมด 30 แผง สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 9,000 เมกกะวัตต์ ใช้ปั๊มน้ำจากสระขึ้นมาผลิตประปาหมู่บ้านทำงานเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน จากเดิมใช้มอเตอร์ 5 ตัวในการปั๊มน้ำ คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้การไฟฟ้าฯถึงเดือนละกว่า 5,000 บาท หลังจากเปลี่ยนมาใช้โซล่าเซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถลดต้นทุนค่าไฟลงได้กว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ถือว่าได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ปัจจุบันทุกครัวเรือนในชุมชนมีน้ำประปาใช้จากในอดีตชุมชนที่นี่ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อใช้บริโภค แต่เพราะเดี๋ยวนี้การบริโภคน้ำฝนเริ่มไม่ปลอดภัยจึงหันมาใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มาตรฐานแทน"

นายมาโนช ผึ้งรั้ง ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเปร็ดใน กล่าวว่า "รู้สึกภูมิใจที่หมู่บ้านได้เป็นชุมชนต้นแบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันโดยไม่มีการแบ่งแยกของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาของชุมชนมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งบ้านเปร็ดในเป็นชุมชนที่เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาชุมชน ทำให้วันนี้บ้านเปร็ดในเป็นที่รู้จักของคนทั้งในระดับตำบล จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ จากที่เคยเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไม่เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?