เด็กไทยคว้า 3 รางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดจากเวทีแข่งโครงงานวิทย์ระดับโลก “อินเทล ไอเซฟ 2018”

ศุกร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๓๔
ไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชี่ยลอวอร์ด (Special Award) จากผู้สนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขัน ถึง 3 รางวัล ได้แก่ โครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี โครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร และโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงการนำ เยาวชนไทยเดินทางมาเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF) โดยการผนึกกกำลังของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม 2561 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐ เพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนทีมไทยเข้าร่วมแข่งขัน 16 ทีม โดยในค่ำวันที่ 17 พฤษภาคม ได้มีการประกาศผลสเปเชี่ยลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุน ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดได้ถึง 3 รางวัล จากผู้สนับสนุน 2 ราย ได้แก่ Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มอบรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านงานวิจัยยอดเยี่ยมของทีมวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ ให้กับ นายอดิศร ขันทอง น.ส.วิชยา เนตรมนต์ประภา น.ส.กุลณัฐ บูรณารมย์ โรงเรียนจุฬาภรณ ราชวิทยาลัยเพชรบุรี กับโครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ โดยอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์มาคำนวณการกระจายตัวของน้ำและจำลองการเคลื่อนที่ของหยดน้ำที่หมุนออกจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ ให้มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการ

น.ส.วิชยา เนตรมนต์ประภา อธิบายถึงผลงานของกลุ่มตนว่า เกิดขึ้นจากการสังเกตสนามหญ้าที่โรงเรียนพบว่าสีของหญ้าไม่สม่ำเสมอน่าจะเกิดจากการรดน้ำไหมทั่วถึง จึงศึกษาสปริงเกอร์แบบต่าง ๆ พบว่ามีการกระจายตัวคล้ายกับสมการเชิงขั้ว จึงสร้างสมการเชิงขั้วของเส้นหลักของแนวการเคลื่อนที่ของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดทั้ง 4 ชนิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และการกระจายตัวของน้ำทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยประหยัดน้ำอีกด้วย

และอีก 2 รางวัลจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคระบาด การป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างอาชีพที่เข้มแข็ง มอบรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย สาขาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Science) ให้กับนายญาณภัทร นิคมรักษ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร กับโครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้

นายญาณภัทร นิคมรักษ์ อธิบายผลงานตนเองว่า ตนเองศึกษาและออกแบบการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สาย เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับความถี่เสียงของเลื่อยยนต์ สามารถตรวจจับไฟป่า และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในขณะที่เกิดไฟป่า โดยผลการทดลองส่งข้อมูลในพื้นที่ป่า มีระยะไกลที่สุดที่ 80 เมตร และในการติดตั้งในพื้นที่จริง ระยะห่างแต่ละ Node ห่างกันได้ไม่เกิน 45 เมตร เลื่อยยนต์ มีช่วงความถี่เฉพาะอยู่ 2 ช่วงความถี่ คือ ช่วงความถี่ที่ 118-300Hz และช่วงความถี่ที่ 1400-2000Hz จากผลการทดสอบโมดูลตรวจจับเสียงเลื่อยยนต์ที่ได้ออกแบบ พบว่าโมดุลสามารถตรวจจับอย่างแม่นยำ (100%) ในระยะ 0-35 เมตร และสามารถตรวจจับได้ไกลที่สุดที่ระยะ 90 เมตร ซึ่งจะช่วยป้องกันการลักลอบตัดไม้ แจ้งเหตุการเกิดไฟป่าได้อีกด้วย

และรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Earth and Environmental Sciences) ตกเป็นของ นายกษิดิ์ เดชสุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา กับโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการเพิ่มอัตราการรอดตายของต้นโกงกาง

นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว อธิบายผลงานของกลุ่มตนเองว่า การปลูกป่าโกงกาง ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก แต่ต้นโกงกางที่ปลูกมีอัตราการรอดชีวิตได้เพียง 25-30 % และต้องใช้ไม้ไผ่หรือเสาไฟฟ้าปักเป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าโกงกาง ถูกพัดพา ทำให้สิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และเงินทุน จึงได้มีสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์เชิงธุรกิจแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมปลูกป่าที่ราคาสูง ขนาดใหญ่ และเคลื่อนย้ายยาก ดังนั้น ตนเองและเพื่อนจึงช่วยกันคิดเนอสเซอรี่อนุบาลโกงกางขึ้นเพื่อให้เกิดความ สะดวก ประหยัด ใช้แรงงานน้อย ได้ผลการรอดชีวิตของโกงกางสูง โดยเนอสเซอรี่ที่จัดทำขึ้นแบ่งสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นส่วนของโครงสร้างเนอสเซอรีที่ทำหน้าที่ปกป้องต้นอ่อนไม่ให้ถูกพัดพาด้วยคลื่นลม และกระแสน้ำ ส่วนที่สอง ส่วนตรงกลางของเนอสเซอรีเป็นส่วนแคปซูลที่มีปัจจัยจำเป็นที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นอ่อน ซึ่งประกอบด้วย ดินเลนนากุ้ง ผสมกับดินเลนป่าชายเลน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นโกงกาง ส่งผลทำให้มีอัตราการงอกของต้นโกงกางวัยอ่อนสูงถึง 100 % สูงกว่าวิธีการปลูกด้วยการระดมคนสูงปลูกถึง 55.87% จึงประหยัดเวลาแรงงาน ต้นทุน ในการปลูกป่าชายเลน

นางกรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกรางวัลที่เยาวชนได้รับในการแข่งขันครั้งนี้ และขอส่งกำลังใจให้สำหรับทีมที่ยังไม่ได้รับรางวัล ในการรอลุ้นรางวัลแกรนด์ อวอร์ด (Grand Awards) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้