Global Peace Index ชี้ทุกวันนี้โลกมีสันติภาพน้อยที่สุดในรอบทศวรรษ

พุธ ๐๖ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๑:๐๑
- สันติภาพใน 92 ประเทศลดลง ขณะที่สันติภาพใน 71 ประเทศปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ปี

- ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่มีสันติภาพมากขึ้นมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงกว่าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสันติภาพลดลง

- ค่าใช้จ่ายทางการทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีได้ลดลงในหลายประเทศมากกว่าที่จะเพิ่มขึ้น

- จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยพุ่งขึ้น 264% ในช่วงเวลาดังกล่าว

- ทั้งยุโรปและอเมริกาเหนือกลายเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพน้อยลงในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอีก 4 ภูมิภาค โดย 23 จาก 36 ประเทศในยุโรปมีสันติภาพลดลง

- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงอยู่ที่ 14.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560 หรือ 12.4% ของจีดีพีทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อคน

- เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ผู้ลี้ภัยมีสัดส่วนเกือบ 1% ของประชากรโลกในปี 2560 ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของสหราชอาณาจักร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรรัสเซีย

รายงาน Global Peace Index (GPI) ประจำปีฉบับที่ 12 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยระหว่างประเทศ Institute for Economics and Peace (IEP) เผยให้เห็นว่า ทุกวันนี้โลกมีความสงบสุขน้อยที่สุดในรอบทศวรรษ

(โลโก้: https://mma.prnewswire.com/media/700115/Institute_for_Economics_and_Peace_Logo.jpg )

ดัชนี GPI ประจำปี 2561 เผยให้เห็นว่า โลกของเราเผชิญกับความตึงเครียด ความขัดแย้ง และวิกฤตการณ์มากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้สันติภาพค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดต่อการถดถอยของสันติภาพในปีที่ผ่านมาก็คือ การขยายตัวของความขัดแย้งทางอาวุธทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น และความหย่อนยานในการปฏิบัติตามแนวทางสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยซีเรีย อัฟกานิสถาน เซาท์ซูดาน อิรัก และโซมาเลีย เป็นประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด ขณะที่ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส และเดนมาร์ก เป็นประเทศที่สงบสุขมากที่สุด

ดัชนี GPI เป็นตัวชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก รายงานนี้ครอบคลุมประชากร 99.7% ของโลก โดยใช้ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ตัวจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการทำดัชนี ตัวชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดเป็นสามกลุ่มหลักๆ ได้แก่ "ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่" "ความปลอดภัยและความมั่นคง" และ "การดำเนินการทางทหาร" โดยสถานการณ์ของทั้งสามกลุ่มย่ำแย่ลงในช่วงปีที่ผ่านมา

แม้จะสามารถรักษาสถานะภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดในโลกเอาไว้ได้ แต่ยุโรปก็มีสันติภาพลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของดัชนีที่ประเทศในยุโรปตะวันตกติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีสันติภาพลดลงมากที่สุด โดยสเปนร่วงลง 10 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 30 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในยุโรป 61% มีสันติภาพลดลง เนื่องจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่สูงขึ้น ผลกระทบจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้น และการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทุกประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังมีความสงบสุขน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2551

สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ IEP กล่าวว่า "โลกเรามีความก้าวหน้าในหลายๆด้านในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการมีสันติภาพเพิ่มขึ้น ความท้าทายนี้ได้รับการพิสูจน์ในการวิจัยของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างสันติภาพมีความยากลำบากกว่ามากเมื่อเทียบกับการทำลายสันติภาพ จึงอธิบายได้ว่าเหตุใดประเทศที่มีดัชนีอยู่ในระดับล่างจึงยังคงติดอยู่กับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซีเรีย เยเมน ลิเบีย และอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีส่วนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบ จำนวนผู้ลี้ภัย และการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

"ยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขมากที่สุดก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย 23 จาก 36 ประเทศมีสันติภาพลดลงในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ย่ำแย่ลง"

น่าแปลกใจที่ดัชนีชี้วัดที่มีการปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดในปีที่แล้ว คือค่าใช้จ่ายทางการทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี โดยมี 88 ประเทศใช้จ่ายน้อยลงและ 44 ประเทศใช้จ่ายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการทหารของประเทศโดยเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพียังคงลดลงต่อเนื่องตลอดทศวรรษ โดย 102 ประเทศใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่ 3 ใน 5 ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดเมื่อวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีมูลค่าถึง 14.8 ล้านล้านดอลลาร์ในแง่ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ตัวเลขนี้คิดเป็น 12.4% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก (ผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก) หรือ 1,988 ดอลลาร์ต่อคน ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความรุนแรงเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2560 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความขัดแย้งและค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความมั่นคงภายในปรับตัวสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในจีน รัสเซีย และแอฟริกาใต้

รายงานประจำปีนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่มีสันติภาพสูงมีความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสันติภาพต่ำ โดยประเทศที่มีสันติภาพต่ำมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเกือบสามเท่า มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสองเท่า และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศน้อยกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง

คุณคิลเลเลียแสดงความเห็นว่า "ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่เกิดจากสันติภาพเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในรายงานประจำปีนี้ ประเทศที่มีสันติภาพสูงสุดมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2% ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด หากทบทวนประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสันติภาพในทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่า ประเทศที่มีสันติภาพมากขึ้นมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงกว่าเกือบ 7 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสันติภาพลดลง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญและตอกย้ำประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสันติภาพ "

คะแนนของสหรัฐยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลกระทบจากการก่อการร้ายและการดำเนินการทางทหารจะลดลงก็ตาม โดยสหรัฐเป็น 1 ใน 7 ประเทศสมาชิก G20 ที่ติดอันดับ 50 ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก เช่นเดียวกับเม็กซิโก แอฟริกาใต้ ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย ตุรกี และรัสเซีย

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า 6 ภูมิภาคจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลกมีความสงบสุขลดลง โดย 4 ภูมิภาคที่มีความสงบสุขมากที่สุดในโลก ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาใต้ ต่างก็มีความสงบสุขลดลงด้วยเช่นกัน

ภาพรวมระดับภูมิภาค

- ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพน้อยที่สุดในโลกในรายงานปี 2561 ถึงแม้จะมีคะแนนดีขึ้นเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นในอิรักและซีเรียจากปราบปรามกลุ่ม ISIL ส่วนกาตาร์มีสันติภาพลดลงมากที่สุด เพราะถูกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และบาห์เรนคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความถดถอยด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

- ยุโรปยังคงมีสันติภาพในภาพรวม แม้ว่าประเทศที่สงบสุขมากที่สุดในยุโรปตะวันตกจะมีความสงบสุขลดลง แต่หลายประเทศในยุโรปตะวันออกก็มีความสงบสุขมากขึ้น

- เอเชียแปซิฟิกมีความสงบสุขถดถอยลง โดย 11 ประเทศมีสันติภาพลดลง ขณะที่ 8 ประเทศมีสันติภาพมากขึ้น เมียนมามีสันติภาพลดลงมากที่สุด โดยร่วงลงถึง 15 อันดับ ตามมาด้วยออสเตรเลียที่มีสันติภาพลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสอง เนื่องจากมีการจำคุกในระดับที่สูงขึ้น และมีการดำเนินการทางทหารมากขึ้น

- อเมริกาเหนือมีระดับของความสงบสุขลดลง โดยสหรัฐมีความสงบสุขลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน และอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่แคนาดาเผชิญกับผลกระทบของการก่อการร้ายมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีนครควิเบกและเมืองเอ็ดมันตัน

- รัสเซียและยูเรเชียยังคงอยู่ในอันดับที่ 7 แม้จะมีคะแนนโดยรวมลดลงเล็กน้อยก็ตาม ขณะที่ยูเครน คีร์กีซสถาน และมอลโดวามีคะแนนดีขึ้น ส่วนอีก 9 ประเทศมีคะแนนลดลง โดยรัสเซียมีคะแนนลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอาร์เมเนีย

- อเมริกากลางและแคริบเบียนเผชิญกับอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่นที่บ่อนทำลายสันติภาพ โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีคะแนนแย่ที่สุดในดัชนีอัตราการฆาตกรรม อาชญากรรมรุนแรง และการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรม

- อเมริกาใต้ยังคงเผชิญกับปัญหาการละเลยกฎหมาย ประเทศที่มีสันติภาพเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคคืออาร์เจนติน่า ตามมาด้วยบราซิลและโคลอมเบีย

- เอเชียใต้ยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำของสันติภาพที่เพิ่มมากขึ้นตลอดทั้งปี โดยกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุดอย่างอัฟกานิสถานและปากีสถานยังคงมีสันติภาพลดลง ส่วนประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดอย่างภูฏานและศรีลังกายังคงมีสันติภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราเป็นที่ตั้งของ 4 ใน 5 ประเทศที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ แกมเบีย ไลบีเรีย บุรุนดี และเซเนกัล อย่างไรก็ดี สันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกยังคงลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับมือกับวิกฤตต่างๆในประเทศ เช่น การแพร่ระบาดของโรคอีโบลาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.visionofhumanity.org

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

รับชมรายงาน GPI รวมถึงวิดีโอและแผนที่อินเตอร์แอคทีฟได้ที่ http://www.visionofhumanity.org

ทวิตเตอร์: https://twitter.com/GlobPeaceIndex (#GlobalPeace18)

เฟซบุ๊ก: http://www.facebook.com/globalpeaceindex

เกี่ยวกับ Global Peace Index (GPI)

รายงาน GPI ซึ่งล่าสุดเป็นฉบับที่ 12 คือดัชนีชี้วัดความสงบสุขทั่วโลกที่จัดทำขึ้นโดย Institute for Economics and Peace (IEP) โดยเป็นการวัดความขัดแย้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางสังคม รวมถึงระดับการดำเนินการทางทหารใน 163 ประเทศและดินแดน โดยพิจารณาดัชนีชี้วัด 23 ตัว

เกี่ยวกับ Institute for Economics and Peace

IEP เป็นสถาบันวิจัยอิสระระหว่างประเทศที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ด้วยการทำให้สันติภาพเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ที่มีความชัดเจน จับต้องได้ และมีประโยชน์ ทั้งนี้ IEP มีสำนักงานในซิดนีย์ นิวยอร์ก กรุงเฮก และเม็กซิโกซิตี้

สื่อทั่วโลกติดต่อ

Hill+Knowlton Strategies:

Erildas Budraitis

อีเมล: [email protected]

โทร. +44-207-413-3750

Amy Naughton-Rumbo

อีเมล: [email protected]

โทร. +44-207-973-4468

ที่มา: Institute for Economics & Peace (IEP)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ สมัครด่วน !!! เปิดรับสมัครนักศึกษา 3 หลักสูตรแกะกล่อง มทร.ล้านนา วิทยาเขตจอมทอ
๑๒:๐๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซับน้ำตา บรรเทาทุกข์ผู้ประสบอัคคีภัยบริเวณตลาดสดเทศบาลรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
๑๒:๕๕ บ้านหมอละออง โปรโมท แชมพูสมุนไพรพลูคาวแอ๊ดวานซ์ จบปัญหาหนังศีรษะและรังแค ชูกลยุทธ์การตลาดผ่าน At - home shopping channels
๑๒:๑๙ มทร.ธัญบุรี เพิ่มทักษะนักศึกษาอบรม 5G ที่ประเทศจีน
๑๒:๕๙ โซเด็กซ์โซ่ มุ่งมั่นสู่โลกไร้ขยะพลาสติก บริจาคขยะพลาสติกจำนวนกว่า 30,000 ชิ้น ให้แก่วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ
๑๒:๓๗ นนัชชา นักศึกษาดาวรุ่ง สถาปัตยกรรมศาสตร์ SPU คว้าโอกาสทอง! เป็นตัวแทนเยาวชนไทย บนเวทีระดับโลก IYC Climate Summit
๑๐:๓๑ แคนนอน เปิดตำนานพรินเตอร์สุดล้ำแห่งยุค SELPHY
๑๐:๑๓ ไฮเออร์ ประเทศไทย เสริมแกร่งทีมนักตบลูกขนไก่สู้ศึกใหญ่ ในการแข่งขัน โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 2024
๑๐:๒๘ โรวูล่า ในกลุ่มเออาร์วี คว้าเพิ่ม 2 รางวัลใหญ่ระดับโลก การันตีตัวจริงด้าน เอไอและหุ่นยนต์ใต้น้ำ พร้อมปัก 5 โซลูชันสร้างความครบวงจรให้เศรษฐกิจชายฝั่ง
๑๐:๔๔ วว. จับมือ คูโบต้า หนุนภาคเกษตร ชูความสำเร็จผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกดอกไม้ตัดดอกด้วยเครื่องจักรกล