ส่องดัชนีเดือน พ.ค. รายได้เกษตรกรเพิ่ม 10.34% เชื่อมั่น มิ.ย. ยังขยับ 7.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

จันทร์ ๒๕ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๔:๑๔
ดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบุ แนวโน้มดัชนีรายได้เดือนมิถุนายน คาดว่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.87 จากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.34 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.44 ส่วนกรกฎาคม 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร ซึ่งวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 10.34

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนพฤษภาคม 2561 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 4.89 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตปาล์มทะลายสูงขึ้น ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการซื้อภายในประเทศลดลง สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกกระจุกตัวและมีปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาด และ สุกร ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ จากสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงฤดูฝน

ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมการส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า เงาะโรงเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และ ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงเรียนเปิดเทอม จึงมีความต้องการใช้ไข่ไก่เพื่อการบริโภคมากขึ้น ประกอบกับมาตรการเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 16.00 โดยสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ ทุเรียน และสุกร

หากมองถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ร้อยละ 7.87 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.34 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.44 สำหรับสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ได้แก่ ยางพารา โดยผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2561 เนื่องจากเกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยาง ขณะที่ผู้ซื้อต้องการยางเพื่อส่งมอบ สับปะรด คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม 2561 และ สุกร คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงฤดูฝนจะทำให้สุกรโตเร็ว

ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีราคา คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และ เงาะ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest