เอ็นไอเอ ชี้ทิศทางการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยตอบโจทย์ 4 กลุ่มธุรกิจ เร่งหนุน “เกษตรแบบดั้งเดิม”สู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” รับดีมานด์โลก

จันทร์ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๕๘
- เอ็นไอเอ ร่วมมูลนิธิข้าวไทย จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2561 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว พร้อมเผยโอกาสในการขยายตัวของข้าวไทย ต้องพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ แปรรูป และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อลดการแข่งขันด้านราคา ปริมาณ และช่องทางตลาดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวไปสู่กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงาม นอกจากนี้ ยังได้วางเป้าหมายในการยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ ที่ในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนจาก "เกษตรแบบดั้งเดิม"ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2560 ไทยส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ปริมาณ 11.63 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกข้าวขาวมากที่สุดปริมาณกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 43% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการแข่งขันด้านราคาและปริมาณกับประเทศเพื่อนบ้านในตลาดโลกสูง เนื่องจากทั้งไทย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา สามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน และเป็นข้าวคุณภาพปานกลางที่เหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีกำลังซื้อจำกัด ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงติดอยู่กับการแข่งขันด้านราคา ปริมาณ และช่องทางตลาด แต่ยังขาดการแข่งขันในด้านการสร้างคุณค่าและการเพิ่มมูลค่าด้วยความแตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาอย่างจริงจังในปัจจุบัน

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า การดำเนินแนวทางประชารัฐที่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง NIA ผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทย จะสามารถเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้าวได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะกระจายไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ชาวนาผู้ปลูกข้าว ทั้งนี้ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ก็คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะในกลุ่มของอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อความสะดวกสบาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงาม รวมถึงการนำรูปแบบธุรกิจใหม่และเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกย์ใช้ ยังจะช่วยให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีโอกาสลดความผันผวนของราคาข้าว เพราะไม่จำเป็นต้องขายในรูปของข้าวสารเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ NIA ได้วางเป้าหมายในการยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในอนาคต "ข้าว" จะต้องไม่ใช่เพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่จะต้องปรับเปลี่ยนจาก "เกษตรแบบดั้งเดิม"ไปสู่ "เกษตรอุตสาหกรรม" และก้าวไปสู่ "เกษตรบริการ หรือธุรกิจเกษตร" ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในช่วงที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในข้าวให้ก้าวสูงขึ้นด้วยการพัฒนาธุรกิจใหม่บนฐานความรู้ และการใช้นโยบายนวัตกรรมข้าวไทยในเชิงรุกผ่านการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้ว จำนวนมากกว่า 50 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 390 ล้านบาท

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ประกอบการข้าวกล้องอินทรีย์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจข้าวไทยในยุคใหม่ต้องมุ่งไปที่เป้าหมายที่สำคัญ คือ

- การปรับมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งจะต้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีความคุ้มค่ากับการเลือกซื้อให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือต่างประเทศ โดยยังจะต้องยกระดับข้าวให้เป็นสินค้าพรีเมียมให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณค่าและความแตกต่างที่ได้รับ

- การพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญกับการให้องค์ความรู้ ข้อมูล กระแสความต้องการที่กำลังเปลี่ยนไปในตลาดอาหารหรือการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังต้องสร้างเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานชาวนาให้สามารถสานต่อธุรกิจเกษตรให้เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่า ตลอดจนเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

- พัฒนาความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ให้เป็นผู้นำหลักในการผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีคุณภาพ อาหารแปรรูปที่มีรสชาติดี การใช้นวัตกรรมเพื่อผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในอนาคตจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ตามการผันแปรของประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ผลิตข้าวให้ได้รู้จักการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ช่องทางการค้า เทคโนโลยีสมัยใหม่ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่คุ้นเคย หรืออาจใช้การผสมผสาน เพื่อให้ประสิทธิภาพทางการผลิตข้าวไทยมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "ที่ผ่านมามูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ NIA ได้ร่วมกันจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ปีที่ 12 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมข้าวไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต โดยในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นมีผลงานนวัตกรรมข้าวไทยส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้นกว่า 400 ชิ้น และมีผลงานที่ได้รับรางวัลมากกว่า 45 ผลงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสนใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าข้าวในประเทศมีเพิ่มมากขึ้นขึ้น ทั้งยังทำให้ได้เห็นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ การตื่นตัวดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ดีและควรได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป"

สำหรับรางวัลของการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทย และศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และอันดับสองได้เงินรางวัล 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท โดยในปีนี้ ได้เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2561

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2561 :Rice Innovation Awards 2018 พร้อมเสวนา ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทยในยุค 4.0 โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยยังได้นำชมเมนูพิเศษจากนวัตกรรมข้าวไทย ได้แก่ เจลาโต้ข้าวเม่ากะทิ ข้าวเม่าเปียกลำไย ข้าวเม่าพองกลิ่นอบเชย ณ Wecosystem ชั้น 9 เกษรวิลเลจ ถ.เพลินจิต กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือfacebook.com/niathailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ