สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “57.88% ชี้พรรคการเมืองใหม่ๆ ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี”

จันทร์ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๐๖
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วสท. หรือ STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆกับการเป็นทางเลือกให้ประชาชน" สำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ.2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,187 คน

หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นไปตามโรดแมพที่กำหนดไว้ บรรดานักการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ แม้จะยังไม่มีการอนุญาตให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มบุคคลร่วมกันเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งบางพรรคการเมืองได้มีกลุ่มการเมืองและอดีตนักการเมืองเข้าไปร่วมเปิดตัวและให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ว่าถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน รวมถึงทำให้ประเทศมีโอกาสได้นักการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนอีกส่วนหนึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่มีกลุ่มการเมืองหรืออดีตนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ว่าอาจทำให้ประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้อีกหลังการเลือกตั้ง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ กับการเป็นทางเลือกให้ประชาชน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 ขณะที่ร้อยละ 49.71 เป็นเพศชาย สรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.12 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวการประกาศเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ของกลุ่มนักวิชาการ/นักการเมือง/นักเคลื่อนไหว/อดีตข้าราชการเพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้เป็นบางพรรคการเมือง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 18.53 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวทุกพรรคการเมืองเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 32.35 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวพรรคการเมืองใดเลย

ในด้านความคิดเห็นต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.45 เห็นด้วยกับการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.8 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.75 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.88 มีความคิดเห็นว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาเพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้เลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.15 มีความคิดเห็นว่าสามารถเป็นทางเลือกได้บางพรรค โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.97 ระบุว่าสามารถเป็นทางเลือกได้ทุกพรรค

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 78.26 ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาเพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับภาพลักษณ์การเมืองไทยให้สูงขึ้นกว่าในอดีตได้จริง แต่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.91 มีความคิดเห็นว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้นักการเมืองรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้

ในด้านความคิดเห็นต่อนักการเมืองกับการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.68 มีความคิดเห็นว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีนักการเมือง/อดีตนักการเมืองเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.58 ไม่รู้สึกแปลกใจที่มีอดีตนักการเมืองเข้าไปร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.23 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกแปลกใจที่อดีตนักการเมืองซึ่งเคยประกาศเลิกเล่นการเมืองไปแล้วหวนกลับมาร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.9 กังวลว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มีกลุ่มการเมือง/นักการเมืองให้การสนับสนุนจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอีกครั้งหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.34 ระบุว่าไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.76 ไม่แน่ใจ (อ่านข่าวต่อ : https://bit.ly/2zWEyY9)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest