“ปั้นคนปั้นดิน-เป็ดยิ้ม” ปิดเทอมเติม “ฮัก” ที่สกลนคร เรียนรู้อย่างมีความสุข-สนุกคิด เสริมทักษะชีวิตจากสิ่งรอบตัว

จันทร์ ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๒๕
การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนั้น บางครั้งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพงหรือต้องเดินทางไปในแหล่งเรียนรู้ดีๆ เสมอไป สิ่งของใกล้ตัวบางอย่างหากถูกนำมาตั้งคำถามหรือตีความในมุมมองใหม่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องราวที่น่าสนุกและเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องใหม่ได้อย่างไม่สิ้นสุด

เหมือนอย่างเช่นกิจกรรมในช่วงปิดเทอมสร้างสรรค์ของ "โรงเรียนบ้านนาสีนวล" และ "โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว" จังหวัดสกลนคร ที่เปิดโลกกว้างของจินตนาการที่ด้วยการหยิบเอา "ดิน" มาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมดีๆ ที่ "โครงการฮักบ้านเกิด" และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ภายใต้โครงการ "ปิดเทอมสร้างสรรค์"

"ปั้นคนปั้นดิน" เป็นไอเดียของ ครูชินกร พิมพิลา ที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมชวนเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ทั้งหมดมาช่วยกันหาคำตอบว่า เศษไหและภาชนะโบราณที่ค้นพบในทุ่งนาหลังชุมชนบ้านนาสีนวลนั้นมาจากไหนและมีที่มาที่ไปอย่างไร? แล้วเชื่อมโยงมาสู่การเรียนรู้วิธีการเตรียมวัตถุดิบและการปั้นดินเป็นภาชนะหรือข้าวของต่างๆ ตามแต่จินตนาการ ที่ทั้งเด็กและครูต่างก็ลองผิดลองถูกและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งในครั้งแรกของกิจกรรมเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องของการทำ Mind Map ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถต่อยอดกระบวนการคิดได้อย่างเป็นระบบ มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ของชุมชน จากนั้นก็จะชวนเด็กๆ มาค้นหาวิธีการเตรียมและปั้นดินแบบโบราณ จนมาถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์จากโรงอิฐในชุมชน

"เริ่มต้นจากเด็กๆ จะแบ่งกลุ่มกันออกไปค้นหาคำตอบในหมู่บ้านของตนเองทั้งการวาดแผนที่ชุมชน สอบถามประวัติของชุมชนจากคนเฒ่าคนแก่ ที่เล่าว่าในหมู่บ้านเคยมีคนที่ปั้นหม้อไหหรือภาชนะต่างๆ แต่ปัจจุบันเสียชีวิตไปนานแล้ว มีการลงพื้นที่สำรวจหาโบราณวัตถุซึ่งพบทั้งเศษไหและกำไลเหล็กจำนวนมาก แล้วเอาข้อมูลทั้งหมดมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเหมือนจิ๊กซอว์ พอดีในชุมชนมีโรงทำอิฐก็เลยชวนเด็กๆ ไปดูงานก็ทำให้ทราบว่าเขาใช้ดินทามจากแม่น้ำสงครามเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้อิฐแข็งแรงไม่แตกหักง่ายเหมือนดินที่อื่นๆ ซึ่งช่วยเชื่อมเรื่องราวของเศษภาชนะโบราณที่ค้นพบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนได้พอดี" ครูชินกรเล่า

ด.ช.อภิชัย บุญมี "แบ๊ก" และ ด.ช.ปุญธิชัย ตอจับต้น "บิว" เพื่อนคู่หูจากชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านนาสีนวล ช่วยกันอธิบายให้ฟังว่าการค้นพบเศษซากไหและกำไลโบราณ ทำให้เห็นว่าในชุมชนของเรานั้นมีคนอยู่อาศัยมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งหลังจากไปดูงานที่โรงอิฐก็ทำให้ทั้งคู่ได้รู้ว่าวิธีการทำให้ชิ้นงานให้มีคุณภาพมากขึ้น

"ครั้งแรกเอาดินมาย่ำเพื่อเตรียมดินปั้น พอปั้นเสร็จเอาไปเผาก็แตกหมด แต่พอได้ไปดูที่โรงอิฐก็เลยรู้ว่าเราต้องผสมดิน น้ำ และขี้เถ้า นวดให้ดินเหนียวกำลังดีก่อน ก่อนเผาก็ต้องเอาไปตากให้แห้งก่อน" น้องแบ๊กเล่า

"เวลาเผาคราวนี้จะใช้แกลบค่อยๆ เผาให้มันร้อนเหมือนที่เขาเผาอิฐ คิดว่าชิ้นงานคงไม่แตก และอยากจะไปดูที่บ้านเชียงว่าภาชนะโบราณที่บ้านเชียงนั้นจะมีหน้าตาเหมือนกับที่พบในหมู่บ้านเราหรือเปล่า" น้องบิวเล่า

สำหรับแม่น้ำสงครามที่ไหลผ่านในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวดสกลนครนั้น เป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังคงมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม(ป่าน้ำท่วม) ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และยังมีชื่อเสียงในเรื่องของ "ปลาแม่น้ำ" ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติที่อร่อยมากที่สุดในภาคอีสาน

เมื่อเนื้อปลายังอร่อยแล้ว ถ้าเราเอาดินทางจากแม่น้ำสงครามมาพอกไข่เค็มล่ะมันจะอร่อยไหม?

เป็นคำถามง่ายๆ ที่ทำให้กิจกรรม "เป็ดยิ้ม" ของโรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัวเกิดขึ้นมาในช่วงปิดเทอม โดย ครูอาทิตยา อ่อนสุระทุม ได้ใช้ทุนเดิมที่มีอยู่คือมีการเลี้ยงเป็ดเพื่อนำไข่มาเป็นอาหารกลางวัน มาต่อยอดเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างน่าสนุก และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ที่เชื่อมโยงไปกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ด.ญ.ชลธิชา สังข์ลาย "ตั๊ก" และ ด.ญ.วิทิตา สีหาเทพ "ขิม" นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว เป็นตัวแทนของเพื่อนๆ มาอธิบายว่าแนวคิดของการทำไข่เค็มจากดินทามที่ได้จากแม่น้ำสงครามนั้นมาจากการที่เห็นว่าไขเข็มไชยานั้นเขาใช้ดินจอมปลวกมาทำก็ยังสามารถทำได้ ถ้าเราใช้ดินจากแม่น้ำสงครามที่ขนาดปลาในน้ำยังอร่อย ไข่เข็มดินทามก็น่าจะอร่อยเหมือนกัน

"ไม่เคยทำไข่เค็มมาก่อน เริ่มจากไปค้นหาในกูเกิลและยูทูป พอได้สูตร ก็ไปขุดดินทามจากแม่น้ำ เอามาทุบให้แตก แล้วเอามาร่อนให้ละเอียดก่อนนำมาใช้ โดยใช้ดินทาม 2 ส่วน เกลือ 1 ส่วน น้ำต้มสุก และแกลบดำพอประมาณ เอาดิน เกลือ และน้ำคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเอาไข่เป็ดที่ล้างทำความสะอาดแล้วลงไปคลุกแล้วพวกทับอีกชั้นด้วยแกลบดำ เก็บไว้ประมาณ 7 วันก็จะทอดเป็นไข่ดาวได้ 21 วันก็จะได้ไข่เค็ม" น้องตั๊กเล่า

"ไข่เข็มห้วยหลัว ทำเอง เลี้ยงเป็ดเอง สะอาดถูกหลักอนามัย เราล้างไข่เป็ดอย่างสะอาดทุกฟอง ใช้ดินทามจากแม่น้ำสงครามที่มีแร่ธาตุในดินเยอะเป็นส่วนประกอบสำคัญ ขนาดเนื้อปลายังอร่อยรับรองว่าไข่เค็มของเราต้องอร่อยอย่างแน่นอน" น้องขิมโฆษณาขายไข่เค็มที่ภาคภูมิใจ

"ในการทำไข่เค็มของเด็กๆ สามารถที่จะบูรณาการการเรียนรู้ไปกับสาระวิชาอื่นๆ ทั้งภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เรื่องของการชั่งตวงวัด ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากนี้เด็กๆ ก็จะนำผลผลิตหรือไข่เค็มของพวกเขาไปขายยังตลาดนัดชุมชนซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนทุกวันพฤหัส ซึ่งการขายจะทำให้เขาได้ทักษะการพูดจา เรียนรู้การคิดคำนวณบวกลบกำไร มีทักษะในการประกอบอาชีพ เรียนรู้กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือได้ทำให้เขารู้สึกรักในคุณค่าและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำสงครามที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้" ครูอาทิตยากล่าว

ทั้งกิจกรรม "เป็ดยิ้ม" และ "ปั้นคนปั้นดิน" ต่างก็เกิดขึ้นจากการนำสิ่งง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว มาเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุข ด้วยนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่นก็คือการเป็นชุมชนที่ผูกผันอยู่กับแม่น้ำสงครามอันอุดมสมบูรณ์ มาเป็นเครื่องมือในการความภาคภูมิใจควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกฮักบ้านเกิด

ที่สำคัญยังเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เพราะเด็กๆ ของ "โรงเรียนบ้านนาสีนวล" ไม่ได้หยุดความอยากรู้ของพวกเขาไว้ที่ทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน แต่ได้ขยายความสนใจออกไปสู่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง รวมไปถึงยังมีความสนใจในการพัฒนาทักษะฝีมือการปั้นดิน และการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามเพื่อพัฒนาผลงานของพวกเขาให้มีความสวยงามมากขึ้น ในขณะที่ "โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยหลัว" เด็กๆ ทุกคนต่างรอเวลาและตื่นเต้นที่จะได้ออกไปนำเสนอผลงานแห่งความภาคภูมิใจของพวกเขาสู่ท้องตลาด ที่ได้ผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนเกิดเป็นไข่เค็มห้วยหลัวที่มีรสชาติและเอกลักษณะเฉพาะตัว ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่ากว่าการขายไข่เป็ดธรรมดาๆ

"ได้คุยกับครูชินกรว่า ต่อไปทุกวันศุกร์จะเปิดตลาดนัดสำหรับเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านนาสีนวล ให้นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนเองไปขาย และจะมีการนำเด็กจากทั้ง 2 โรงเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกันและกันเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย" ครูอาทิตยาระบุ

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เล่าถึงที่มาของกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ที่มาจากโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ว่า สสส.มีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสำนักที่เปิดโอกาสให้กับคนในชุมชนได้คิด ริเริ่มกิจกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างสุขภาวะของคนในแต่ละบริบทชุมชน กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกันที่เปิดให้คนในชุมชนหรือเยาวชนที่สนใจได้ทำกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่และส่งเสริมการใช่เวลาว่างที่เกิดประโยชน์ ซึ่งในปี 2561 นี้จะมีการเปิดรับการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่ต่ำกว่า 400 โครงการ

อำเภอเจริญศิลป์ และอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จึงถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเปิดโลกกว้างการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน และในพื้นที่สามารถต่อยอดกิจกรรมได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หยุดและจบอยู่แค่ช่วงปิดเทอมอีกต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ