รวมดาวนวัตกรรมแห่งอนาคตในงาน “เคเอ็มไอทีแอล โอเพ่นเฮ้าส์” จุดประกายเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนไทยปี 2019

ศุกร์ ๒๑ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๒:๕๐
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ประเทศไทยอีกประเทศที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโต และพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว หนึ่งในภาพสะท้อนที่สำคัญ และเห็นได้ชัดเจน คงหนีไม่พ้นผลผลิตทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรการเรียนการสอน ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั่วโลก นักศึกษาที่มีศักยภาพ และความรู้ความสามารถสูง เท่าทันตลาดความต้องการ ตลอดจนนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับประเทศ ทั้งระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม การเกษตร การแพทย์ โลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งในวันนี้ เรารวบรวมมาสเตอพีซนวัตกรรม และเทคโนโลยีสุดล้ำน่าจับตา โดยนักศึกษา และอาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากงาน "เคเอ็มไอทีแอล โอเพ่นเฮ้าส์ 2018" (KMITL Open House 2018) ที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคตนวัตกรรมมากไอเดียเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต อำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับทุกคนมากยิ่งขึ้น จะน่าทึ่งแค่ไหน มาติดตามกัน

แขนกลผู้พิการ เหมือนถอดมาจากหนังไซไฟ

หมดปัญหาการดำเนินชีวิตสำหรับผู้พิการที่สูญเสียแขนจากอุบัติเหตุ ด้วยนวัตกรรมแขนกลเทียม ชิ้นแรกของประเทศ ที่ได้รับการพัฒนาโดยวิทยาลัยนานาชาติ สจล. แขนกลดังกล่าวใช้ระบบตรวจจับคลื่นไฟฟ้าชีวภาพ ที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังกล้ามเนื้อช่วงแขน เพื่อส่งสัญญาณไปยังระบบ และถอดรหัสสัญญาณด้วยโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาซอฟต์แวร์ จากนั้นระบบจะส่งสัญญาณควบคุมสั่งการไปยังมือกลไฟฟ้า เพื่อให้ขยับตามการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อที่ขยับ โดยนวัตกรรมดังกล่าว ได้รับการพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัดทดแทนส่วนของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย สะดวกในการดูแล และช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้พิการได้ดังเช่นคนปกติทั่วไป

วีลแชร์ไฮเทค แล่นฉิวได้เพียงเท้าสัมผัส

นวัตกรรมรถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่ได้รับแนวคิดการออกแบบต่อยอดสำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียแขน และผู้สูงอายุ ให้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็นได้เอง ในขณะที่ไม่มีพยาบาล หรือผู้ดูแล โดยใช้ระบบการสั่งการควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ผ่านแป้นรองฝ่าเท้า วัดความต่างน้ำหนักที่กดลงกับแป้นบังคับทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมรถเข็นไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยสายตา ฯลฯ เพื่อยกระดับวงการการแพทย์ ให้เท่าทันสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รองรับการใช้งานสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และรองรับกรณีการเจ็บป่วยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

หนังตาตกหรือไม่ ตอบได้ในแอปฯ เดียว

อีกหนึ่งนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ สจล. กับแอปพลิเคชันตรวจโรคหนังตาตก สำหรับจักษุแพทย์ หรือศัลยแพทย์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยอาการหนังตาตก ที่อาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน โดยใช้หลักการวิเคราะห์ภาพถ่าย คำนวณระยะทางจากจุดสะท้อนแสงจากรูม่านตา ไปยังเปลือกตาส่วนต่างๆ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่รวบรวมสภาพหนังตาของผู้ที่ไม่มีความผิดปกติโดยทั่วไป จบง่ายในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการนำมาใช้วิเคราะห์อาการหนังตาตกจริง โดยจักษุแพทย์ หรือศัลยแพทย์ โดยมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 96 ซึ่งโดยปกติ การวินิจฉัยอาการดังกล่าวยังใช้เพียงความชำนาญ และการสังเกตด้วยสายตาเท่านั้น นับว่าเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับการการวินิจฉัยที่ไม่เคยมีในประเทศมาก่อน

ระบบรดน้ำเจ๋งด้วยยางรถยนต์ใช้แล้ว แม้แต่สปริงเกอร์ก็ทำไม่ได้

นวัตกรรมต่อยอดแนวคิดไอเดียจากท่อน้ำหยด ที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งอาจยังไม่สามารถประยุกต์ได้เหมาะสมกับทุกรูปแบบการใช้งาน จึงเกิดเป็นท่อน้ำซึม โดยนำเอายางรถยนต์ผสม ยางพาราดิบ และผ้าใบในเส้นยางรถยนต์ มาอัพไซเคิล ออกมาเป็นท่อน้ำที่มีรูพรุนสำหรับให้น้ำไหลซึมได้อย่างช้าๆ ประโยชน์ไม่เพียงเพื่อให้น้ำในอุตสาหกรรมเกษตรอย่างเหมาะสม และทั่วถึง แต่ยังประหยัดน้ำ ทั้งยังสามารถฝังไว้เพื่อให้ความชุ่มชื้นใต้ดิน สำหรับพืชที่มีรากหยั่งลึก ที่การรดน้ำเอง หรือสปริงเกอร์ก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังทำขึ้นจากวัตถุดิบที่ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศอย่างยางพาราอีกด้วย

ปั่นไฟง่าย แค่มีน้ำขึ้น - น้ำลง

ที่เห็นอยู่ไม่ใช่ท่อพีวีซีที่ไหน แต่เป็นนวัตกรรมกังหันไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้น - น้ำลง ส่งตรงมาไกลจาก สจล. วิทยาเขตชุมพร ที่นำเอาข้อได้เปรียบเรื่องภูมิประเทศมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงาน โดยอาศัยแรงกลศาสตร์จากปรากฏการณ์น้ำขึ้น – น้ำลง มาพัฒนาเป็นกังหันกำเนิดไฟฟ้าขึ้น ซึ่งตอบโจทย์เรื่องพื้นที่ติดริมทะเล และในพื้นที่ห่างไกล ที่อาจเกิดปัญหาไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นองค์ความรู้ Know How ในการผลิตกังหันกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ในสถานการณ์ และพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกด้วย

พื้นบ้านนาโนเทคฯ แค่เดิน ก็ประหยัดค่าไฟ

พูดถึงนาโนเทคโนโลยี หลายคนคงจะนึกถึง เคมี โมเลกุล อะตอม สารเล็กๆ ที่บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจว่าเอาไปทำอะไร แต่ที่วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จับเอานาโนเทคโนโลยีมาออกแบบไอเดียนวัตกรรมพื้นบ้านที่สามารถสามารถกำเนิดพลังงานไฟฟ้าได้จากการเสียดสี ทำให้ทุกครั้งที่ก้าวเท้าเดินภายในบ้าน หมายถึงพลังงานไฟฟ้าที่คุณจะได้รับ งานศึกษาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม อาทิ ระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้น การจ่ายไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งถ้าหากพัฒนาเสร็จสิ้นขึ้นมา เราอาจจะได้บ้านไฮเทค ที่ทำให้เสียค่าไฟได้น้อยลง

ตรวจกลิ่นสารเคมีรั่วไหล ไวยิ่งกว่าสุนัขตำรวจ! ด้วย AIRNOSE

นวัตกรรมจากองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยี ที่ประยุกต์เข้าใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อใช้ตรวจจับกลิ่นสารเคมีอันตราย จากอุตสาหกรรมการผลิต ที่ปนเปื้อนในอากาศ โดยมีฟังก์ชันการทำงานทั้งการตรวจจับกลิ่นสารเคมี ประมวลผลผ่านสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งสามารถแยกแยะได้แม่นยำสูง แม้ว่าจะเป็นสารเคมีในกลุ่มเดียวกัน อาทิ เอทานอล กับ เมทานอล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถจับทิศทางลมที่นำพากลิ่นดังกล่าวมา เพื่อค้นหาต้นตอการเกิดการรั่วไหล โดยนวัตกรรมดังกล่าว เริ่มต้นนำร่องใช้งานจริง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่เป็นจุดศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรม และเซนเตอร์โลจิสติกส์สินค้า ของเหลว และแก๊ส ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตมากมาย

จำลองเกมในตำนาน เดอะซิมส์ สัญชาติไทย

อีกหนึ่งผลงานต่อยอดองค์ความรู้จากห้องเรียน ออกมาเป็นผลงานการออกแบบเกมจำลองการสร้างเมือง โดยคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ที่สร้างสรรค์เกมที่มีความละเอียด และดีเทลสูง ภาพคมชัด และมีสีสันสวยงาม รวมถึงออกแบบองค์ประกอบความเป็น "เกม" อย่างครบถ้วน ไม่แพ้เกมสร้างเมืองในตำนานอย่าง เดอะซิมส์ ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะมีเกมสัญชาติไทย ที่โด่งดังติดท๊อประดับโลกก็เป็นได้

แมลงเบเกอรี่ ขนมที่มีดีไม่ใช่แค่หน้าตา

อีกหนึ่งผลงาน โดยคณะ อุตสาหกรรมการเกษตร กับเบเกอรี่แมลง รับกระแสเทรนด์อาหารของโลก ซึ่งกำลังประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพลดต่ำลง ทั้งยังประสบปัญหาความขาดแคลน จนต้องหันมาศึกษาสารอาหารทดแทนที่มาจากแมลง โดยนำเอาแมลงที่พบมาก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มาพัฒนาเป็นขนมเบเกอรี่สวยงาม และเหมาะสมกับการรับประทานมากยิ่งขึ้น ทั้งคุกกี้ บราวนี่ ฯลฯ ดูเผินๆ แล้ว คงไม่รู้เลยว่าทำมาจากแมลง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง และพัฒนาประเทศไปอีกระดับ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจำนวนมาก และกำลังพัฒนายิ่งขึ้น ไม่เป็นรองนานาประเทศชั้นนำทั่วโลก ซึ่งสจล. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทั้งด้านวิชาการ บุคลากร ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับประเทศยิ่งขึ้นไปในอนาคต

สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4