“กล้วยเภา” หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ไม่มี “ถังขยะ” พลังชุมชนแก้ปัญหาขยะ สู่การสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน

จันทร์ ๒๔ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๑:๒๗
ขยะในชุมชนเป็นปัญหาสำคัญของทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือในชุมชนชนบท ยิ่งห่างไกลจากระบบสุขาภิบาลพื้นฐาน ชุมชนนั้นจะยิ่งมีปัญหาด้านจัดการขยะ และถึงแม้ว่าชุมชนจะมีระบบจัดการขยะโดยบริการจัดเก็บของหน่วยงานต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว ขยะของชุมชนที่ถูกจัดเก็บไปก็ไปกองรวมในที่หนึ่ง กลายเป็นภูเขาขยะสร้างปัญหาในระดับใหญ่ในการจัดการต่อไปอีก

ปัญหา "ขยะ" ถูกให้ความสนใจในทุกระดับ ทุกภาคส่วน และดูเหมือนว่า "การลดขยะ" จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่จะมีสักกี่ชุมชนที่สามารถจัดการ "ปัญหาขยะ" ได้อย่างเป็นรูปธรรม หากขับรถไปตามหมู่บ้านแถบ ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จะสังเกตเห็นถังขยะตามหน้าบ้านที่เหมือนกันในรูปแบบแต่ต่างสีไปตามหมู่บ้านแสดงให้เห็นถึงการมาถึงของรถเก็บขยะขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้บริการเก็บขยะของชุมชนไปกำจัด แต่เมื่อลัดเลาะเข้าไปถึงหมู่ที่ 5 กลับแปลกตาที่ไม่พบถังขยะตั้งอยู่ตามหน้าบ้านเรือนเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ

"รถเก็บขยะของเทศบาลมาไม่ถึงหมู่บ้านของเรา ต้องจัดการกันเอง" พนม อินทร์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านกล้วยเภา เล่าปัญหาให้ฟังพร้อมขยายความต่อว่า ในอดีตที่หมู่บ้านกล้วยเภา เคยมีปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงนำโรค รวมถึงมีปัญหาการจัดการขยะไม่ถูกสุขลักษณะ สองข้างทางมีขยะเกลื่อนกลาด เกิดเป็นปัญหาของชุมชน ทั้งสภาวะการระบาดของโรคท้องร่วงรุนแรง โรคไข้เลือดออก และยังสร้างปัญหาการกระทบกระทั่งในชุมชนด้วย

"ตอนนั้นบ้านกล้วยเภาขยะเยอะมาก โดยเฉพาะขวดน้ำ กินแล้วก็โยนตามข้างทาง อยากให้บ้านตัวเองสะอาดก็โยนไปบ้านคนอื่น ก็เลยเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาคุยกัน" ผู้ใหญ่พนมกล่าว

ปัญหาที่ถูกมองเห็นส่งผลให้ชุมชนหันหน้าเข้าหากันร่วมหาทางออก ด้วยการร่วมมือในชุมชน เกิดการสร้างกติกาของชุมชนขึ้น ประกอบกับการช่วยเหลือของหลายฝ่าย หนทางจัดการแก้ปัญหาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการขับเคลื่อน "โครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านกล้วยเภา" จนนำไปสู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ เกิดเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนที่สามารถสรรหารูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนไปในทางดีขึ้นได้

จากความรู้ที่ได้จากวิทยากรที่เชิญมาและการส่งตัวแทนชุมชนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอื่น ทำให้ชุมชนบ้านกล้วยเภาสามารถสังเคราะห์ความรู้เป็นรูปแบบการจัดการขยะของตนเองด้วยการตั้งกลุ่มจัดการขยะและศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะในชุมชนขึ้น สร้างกติกาและปรับสภาพแวดล้อมใหม่ให้แก่ชุมชน

ด้วยทุนเดิมที่เป็นหมู่บ้านเกษตรสีเขียว และเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว บ้านกล้วยเภาจึงจัดการขยะให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสังคมของชุมชนด้วยแนวคิด "การเปลี่ยนถังขยะให้เป็นถังน้ำหมัก" ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะสด ลดมลภาวะ ยังได้ปุ๋ยหมักมาใช้ในเรือกสวนไร่นาอีกด้วย

ส่วนขยะแห้ง เช่นเดียวกับชุมชนทั่วไปส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกประเภทถุงและขวด ชุมชนได้รณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ เน้นการลดการใช้ขยะพลาสติกและจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นเพื่อดำเนินการรับซื้อขยะรีไซเคิลในชุมชน สร้างความสะดวกแก่ชาวบ้านให้นำขยะมาขาย ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ถูกทิ้งตามทางและกองไว้ตามบ้านลดลงอย่างชัดเจนจนทุกบ้านไม่ต้องตั้งวางถังขยะหน้าบ้านอีกต่อไป

"เราจัดการขยะแห้งได้ด้วยธนาคารขยะจึงไม่ต้องมีถังขยะหน้าบ้าน ส่วนน้ำหมักที่ได้จากการหมักขยะนอกจากชาวบ้านเอาไปใส่ผักที่ปลูกเองและใส่ในสวนยางแล้ว ก็จะนำส่วนที่เหลือมาเก็บไว้ที่แปลงผักรวม" สมคิด ทองศรี สมาชิกสภาผู้นำชุมชนผู้เป็นประธานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข กล่าว

จากการเริ่มต้นด้วยการชักชวนของหน่วยงานทางสาธารณสุข และความมุ่งมั่นของสภาผู้นำ ทำให้หมู่บ้านกล้วยเภาสามารถจัดการกับขยะได้อย่างจริงจังและได้ผลสำเร็จน่าพอใจ จนล่าสุดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้แนะนำและสนับสนุนงบประมาณเตาเผาไร้ควันให้แก่หมู่บ้าน โดยถูกนำมาใช้แทนเตาเผาเดิมของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นและควบคุมมลพิษได้ดีขึ้น

"แต่อย่างไร ก็จะไม่มีนโยบายตั้งถังขยะหน้าบ้าน" สภาผู้นำทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันและรณรงค์ให้ทั้งหมู่บ้านต้องไม่มีถังขยะหน้าบ้านเพื่อรอให้หน่วยงานใดๆ มาเก็บ เพราะทุกบ้านในชุมชนมีองค์ความรู้ที่จะจัดการขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านเองได้โดยการคัดแยกขยะนั่นเอง

ทุกๆ เดือนข้างศาลาประชาคม เราจะเห็นชาวบ้านกล้วยเภาขนขยะต่างๆ ที่จำแนกชนิดแล้วมาเปลี่ยนเป็นเงินโดยขายให้กับธนาคารขยะของหมู่บ้าน ผลตอบแทนจะถูกบันทึกไว้ในสมุดบันทึกธนาคารขยะสะสมไว้เป็นตัวเงินของแต่ละคน และนอกจากนั้น คณะกรรมการยังสร้างแรงจูงใจให้แก่คนในชุมชนด้วยการประกวดบ้านสะอาดในชื่อ "ครัวเรือนต้นแบบน่าอยู่" โดยมีเกณฑ์การตัดสินจากความสะอาดทั้งในบ้านและบริเวณภายนอก การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและสัตว์พาหะโรค รวมถึงการจัดการขยะในบ้าน

กรรยา บัวศรี ผู้ได้รับรางวัลครัวเรือนต้นแบบน่าอยู่คนแรกของหมู่บ้าน กล่าวด้วยความภูมิใจว่า "ดีใจมากที่ได้รับรางวัล เมื่อก่อนก็ทำความสะอาดบ้านอยู่แล้วแต่ที่ได้รางวัลก็เพราะการแยกขยะ"

ทุกวันนี้ป้ากรรยาก็ยังทำน้ำหมักจากเศษอาหารในครัวเรือนเพื่อใช้ในการปลูกผักกินเองแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่เคยใช้ น้ำหมักที่เหลือใช้รวมทั้งจะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านเพื่อให้ลองใช้และชักชวนให้แต่ละบ้านหมักน้ำหมักใช้เองจากเศษอาหาร และป้ากรรยาเป็นตัวอย่างในการคัดแยกขยะแต่ละประเภทโดยละเอียดโดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติก ซึ่งนอกจากขายได้ราคาดีกว่าการขายแบบรวมแล้ว ยังเหลือเศษที่จะต้องทิ้งน้อยกว่าด้วย และนอกจากนี้ป้ากรรนาและสมาชิดในกลุ่มหลายๆ คนได้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่เคยเป็นขยะให้กลายเป็นสิ่งสวยงามและมีประโยชน์ เช่นหมวก ตะกร้า ชุดกันเปื้อน ฯลฯ เป็นการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์และสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนของคนสูงอายุด้วยกันและคนรุ่นอื่นๆ ด้วย

"โครงการต่อไปคืออาหารปลอดภัย เป็นการต่อยอดเพราะหมู่บ้านของเราทำเด่นเรื่องผลิตข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว และเราแบ่งกลุ่มปลูกผักแข่งขันกันด้วย ปุ๋ยที่ได้จากการจัดการขยะจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของโครงการต่อไป" ผู้ใหญ่พนมแห่งบ้านกล้วยเภามองกิจกรรมต่อไปของชุมชน

ด้วยการสนับสนุนของหลายๆ ฝ่าย วันนี้บ้านกล้วยเภาสามารถเอาชนะปัญหาด้านการจัดการขยะควบคู่ไปกับการมุ่งสู่การผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของสมาชิกในชุมชน อันเป็นผลมาจากกระบวนการมีส่วนร่วม และการสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ และยังสามารถต่อยอดกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ควบคู่ไปกับการสร้างชุมชนแห่งนี้ให้น่าอยู่ ที่มีพลังของสมาชิกทุกคนในชุมชนเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4