ครบรอบ 46 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ชูนโยบายพัฒนาสหกรณ์เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

จันทร์ ๐๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๓๗
วันที่ 1 ตุลาคม 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 46 ปี ณ บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธี ถวายพานพุ่มสักการะ พระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 46 ปี พร้อมทั้งยังให้นโยบายแนวทางการปฏิบัติงานแก่บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันคล้าย วันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 46 ปี รัฐบาลมีความต้องการพัฒนาให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกพัฒนาภาคการเกษตรไทย พร้อมสนับสนุนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งและ มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสหกรณ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด ยึดหลักการตลาดนำการผลิต และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างโอกาสในการแข่งขันสินค้าภาคการเกษตร

สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมกันเกือบ 8,100 แห่ง มีทุนดำเนินงานรวมกันกว่า 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ในปีงบประมาณ 2562 ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาบทบาทอำนาจหน้าที่ของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ว่าในปัจจุบันสหกรณ์ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และดูถึงโครงสร้างกฎหมายสหกรณ์ฉบับเดิมยังมีจุดอ่อนในเรื่องใดให้นำมาปรับปรุงและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนจะร่างกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่มาถือใช้ ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องเร่งพัฒนากรรมการให้รู้บทบาทอำนาจหน้าที่ และแบ่งกลุ่มสหกรณ์เพื่อจัดหลักสูตรอบรมเพิ่มประสิทธิภาพใน การบริหารงานสหกรณ์ให้เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละสหกรณ์

นอกจากนี้ยังมีแผนในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์การเกษตรกว่า 4,000 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันของเกษตรกร และช่วยปกป้องดูแลผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคงและสามารถยืนหยัดในอาชีพการเกษตรได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการปรับระบบการบริหารจัดการภาคการเกษตร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งจะต้องสำรวจข้อมูลว่าตลาดมีความต้องการปริมาณเท่าใดและราคาที่รับซื้ออยู่ที่เท่าไหร่ เบื้องต้นได้นำร่องโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลังฤดูทำนา เพื่อลดการปลูกข้าวรอบ 2 และให้หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ 2,000,000 ไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน โดยให้เกษตรกรรวมกันปลูกในแบบแปลงใหญ่เพื่อง่ายในการบริหารจัดการพื้นที่และผลผลิต พร้อมทั้งให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เจรจากับภาคเอกชนว่าต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ใด ปริมาณเท่าไหร่และราคารับซื้อกิโลกรัมละเท่าไหร่ และขอความร่วมมือให้บริษัทเอกชนที่จะรับซื้อผลผลิตส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องในการเพาะปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร จากนั้นสหกรณ์ต้องประสานหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาดูแลเริ่มตั้งแต่พื้นที่ปลูก สภาพดิน น้ำ การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต สหกรณ์การเกษตรจะรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต การจ้างเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง และสหกรณ์การเกษตรจะมีบทบาทในการสร้างโอกาสการแข่งขันและเป็นตัวกลางในการเจรจาต่อรองกับเอกชน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องร่วมกันดูแลสหกรณ์และเอกชนที่เป็นคู่ค้าให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. 2560

"ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรบางแห่งสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจการเกษตรให้กับสมาชิก หรือ Bussiness Unit ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้สหกรณ์เหล่านี้มีบทบาทในการเจรจาต่อรองการซื้อการขายผลผลิตการเกษตรที่สำคัญกับเอกชน และให้สหกรณ์การเกษตรส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกพืชหลังนา ทั้งข้าวโพด พืชผักหรือพืชตระกูลถั่ว และเจรจากับเอกชนเข้ามารับซื้อ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบงบประมาณของกรมฯ หรืองบพัฒนาจังหวัดและส่วนราชการอื่นที่อุดหนุนให้สหกรณ์การเกษตรจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์ในการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยให้ไปสำรวจว่าแต่ละสหกรณ์มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือประเภทใดบ้าง ให้รวบรวมจัดทำเป็นรายการไว้และดูว่ามีการใช้ประโยชน์หรือไม่ หากบางแห่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ให้ติดต่อเอกชนไปใช้เครื่องจักรกลและเครื่องมือนั้นแล้วจ่ายค่าเช่าให้สหกรณ์ หรือเปิดให้บริการแก่เกษตรกในพื้นที่ได้มาใช้ประโยชน์อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงโรงอบและห้องเย็นเพื่อช่วยเก็บรักษาผลผลิต ของเกษตรกร และใช้ประโยชน์อุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้คุ้มค่า และยังช่วยสร้างรายได้กลับเข้ามายังสหกรณ์ด้วย" รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้