แนวคิดการแบ่งปันผลประโยชน์ของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่

พฤหัส ๐๔ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๕๓
ตั้งแต่ผมเกษียณอายุราชการมาผมก็ยังคงสอนวิชาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่วิศวะ จุฬาแล้ว นอกจากนั้นแล้วผมยังเป็นกรรมการในคณะต่างๆที่หน่วยงานของรัฐแต่งตั้ง จนจำไม่ได้ว่าเป็นกรรมการอะไรบ้าง ผมประชุมกรรมการต่างๆแทบจะทุกอาทิตย์ นอกจากนั้นก็มีงานบรรยายต่างๆที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ออกทีวีบ้าง ดีเบตกับ NGO บ้าง เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการบ้าง แต่ที่สำคัญที่ผมทำอยู่บ่อยๆก็คือสอบวิทยานิพนธ์นิสิตนักศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ให้กับมหาวิทยาลัยทั้งที่ต่างประเทศและในประเทศ สำหรับต่างประเทศ ล่าสุดผมได้รับเชิญจาก TU Bergakademie Freiberg ประเทศเยอรมนี ให้ไปเป็น External Examiner สอบนักศึกษาปริญญาเอก

สำหรับการสอบวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยในประเทศนั้นก็บ่อยมาก และแน่นอนที่สุดก็ต้องเป็นที่จุฬา แล้วก็ที่มหิดลและธรรมศาสตร์ ที่จุฬาและมหิดลผมสอบนิสิตและนักศึกษาทางสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ที่ธรรมศาสตร์นี่ผมไปสอบนิสิตทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านกฎหมายครับ (ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาตร์ไม่เคยไปสอบนักศึกษาที่นั่นเลย) ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาจารย์อำนาจ วงศ์บัณฑิต ซึ่งท่านเชี่ยวชาญกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ธรรมศาสตร์ท่านรู้จักกับผม เพราะได้เจอกันในงานสัมมนาทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆครั้ง ท่านจึงมักจะเชิญผมมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มาสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาธรรมศาสตร์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแร่ ซึ่งสถานที่สอบก็จะเป็นที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เมื่อเช้าวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาผมได้รับเชิญให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกไปสอบการปกป้องวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก (Ph.D. Defence Examination) นักศึกษาปริญญาเอกมีชื่อว่าคุณชาญวิทย์ ชัยกันย์ ซึ่งทำงานที่ศาลปกครอง และเรียนจบปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ ส่วนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น หัวข้อวิทยานิพนธ์ชื่อ "การนำหลักแบ่งปันผลประโยชน์มาใช้กับโครงการที่มีผล

กระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของประชาชน" โดย ชาญวิทย์ ชัยกันย์ โดยมีรายชื่อกรรมการสอบ ดังนี้

1. ศาสตราจารย์ ดร. อำนาจวงศ์บัณฑิต ประธานกรรมการ

2. รองศาตราจารย์ ดร. ภิญโญ มีชำนะ กรรมการ

3. ดร. วิจารย์ สิมาฉายา กรรมการ (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

4. ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ใจหาญ กรรมการ (อาจารย์ที่ปรึกษา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล กรรมการ (อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม)

วิทยานิพนธ์ของคุณชัยวิทย์ได้นำหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ Benefit Sharing มาใช้กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หลักการแบ่งปันผลประโยชน์เป็นการนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ผู้รับประโยชน์เป็นผู้จ่าย มาสร้างความเสมอภาคและมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาชนที่เสียสละประโยชน์ส่วนตนในการดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะต่างๆ โดยได้รับผลตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและด้านสิ่งแวดล้อมหรือสวัสดิการทางสังคมต่างๆ

ผมเห็นว่าเป็นวิทยานิพนธ์ที่ดี และมีตัวอย่างของประวัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่นที่มีรายละเอียดค่อนข้างดี น่าจะเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาการต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ เช่นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยที่มีการต่อต้านค่อนข้างมาก จึงอยากจะนำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง ทั้งนี้ผมได้ขออนุญาตคุณชาญวิทย์ในการเขียนบทความนี้แล้ว และผมขอขอบคุณ คุณชาญวิทย์มา ณ ที่นี้

หลายๆ ท่านก็ทราบดีว่าญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูถึง 2 ลูก แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงสามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตั้งหลายโรงทั่วเกาะญี่ปุ่น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่กลัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือ? เขาก็กลัวเหมือนกันนะครับ คนญี่ปุ่นก็กลัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนคนชาติอื่นๆทั่วโลก อาจจะกลัวมากกว่าคนชาติอื่นๆเสียด้วยซ้ำ เพราะคนญี่ปุ่นมีประสบการณ์ตรงกับพิษภัยของกัมมันตภาพรังสีโดยตรงจากที่อเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า และนางาซากิ ในขณะที่ชาติอื่นๆก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยได้รับผลกระทบทางตรงแบบคนญี่ปุ่นเลย คำถามสำคัญก็คือ "ในที่สุดแล้ว ทำไมญี่ปุ่นถึงสามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตั้งหลายโรงทั่วเกาะญี่ปุ่น ?"

คำตอบก็คือ "รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่สำคัญที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าชนิดอื่น" และที่สำคัญมากที่สุดคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันผลประโยชน์ (Benefit Sharing) ให้แก่คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตาม หลักการแบ่งปันผลประโยชน์นั้นเป็นการนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ผู้รับประโยชน์เป็นผู้จ่าย มาสร้างความเสมอภาคและมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาชนที่เสียสละประโยชน์ส่วนตนในการดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะต่างๆ โดยได้รับผลตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและด้านสิ่งแวดล้อมหรือสวัสดิการทางสังคมต่างๆโดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันผลประโยชน์สำหรับกรณีพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าโดยตรง หรือที่เรียกว่า Three Acts for Development of Power Sources ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐให้การอุดหนุนด้านต่างๆแก่ชุมชนที่ยินยอมให้จัดตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน โดยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะมีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้

1) กฎหมายว่าด้วยภาษีส่งเสริมเพื่อพัฒนาแหล่งไฟฟ้า (Tax Act for Promotion of Power Sources Development, 1974) คือเป็นกฎหมายว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทไฟฟ้าให้แก่ประเทศ (ญี่ปุ่นให้บริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้า) โดยคำนวณจากการขายไฟฟ้า ต่อยูนิต (1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งที่มาของภาษีส่วนหนึ่งมาจากค่าไฟฟ้าที่ประชาชนเป็นผู้จ่ายนั่นเอง (หมายเหตุผู้เขียน: อันนี้ของไทยเราอาจจะคล้ายของเขา แต่ไม่เหมือนเลยเสียทีเดียว คือไทยเก็บเข้ากองทุนรอบโรงไฟฟ้าตามชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ยกตัวอย่าง คือเรียกเก็บหน่วยละ 2 สตางค์จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ 1.5 สตางค์จากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา หรือ หน่วยละ 1 สตางค์ จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยของเราเรียกเก็บเข้าไปอยู่ในค่า FT ซึ่งรวมอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่ส่งเก็บในแต่ละเดือน) ซึ่งสามารถอธิบายเหตุผลของการออกกฎหมายของญี่ปุ่นฉบับนี้ก็คือ ในระยะแรกชาวญี่ปุ่นต่างหวาดกลัวพลังงานนิวเคลียร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างมหาศาลจากระเบิดปรมาณู ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในเชิงสันติ และมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษปี ค.ศ. 1960 โดยมีการเตรียมการในหลายๆด้าน ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านนิวเคลียร์ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีนโยบายนี้ออกมาก็พบว่ามีการต่อต้าน และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวญี่ปุ่นที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การออกกฎหมายฉบับนี้ ที่สร้างการยอมรับให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เหตุผลที่สำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำมาใช้อธิบายในการออกกฎหมายที่ส่งเสริมและพัฒนาโรงไฟฟ้าได้นั่นก็คือ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข อีกทั้งจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนั้นแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี แต่ปัญหาสำคัญคือการหาที่ตั้งที่โรงไฟฟ้า เพราะเกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับจากประชาชนที่ไม่ยอมให้ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ จนโครงการต้องล่าช้าเข้ามาถึงปลายทศวรรษที่ 1970 ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถดำเนินโครงการตามแผนที่วางไว้ได้ ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายฉบับนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนยอมรับโรงไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดเจนในกฎหมายว่าเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อนำมาแก้ปัญหาการเลือกสถานที่ตั้งสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง

การเก็บภาษีตามกฎหมายนี้ ญี่ปุ่นคิดจากไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ไม่ได้คิดแยกเก็บตามเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแบบไทย ปัจจุบันญี่ปุ่นจัดเก็บจากไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในอัตรายูนิตละ 37.5 เซ็นต์ (อัตราเงินเยนของญี่ปุ่นมีค่า 100 เซ็นต์= 1 เยน) คิดเป็นประมาณ 0.06 บาทต่อยูนิต (หมายเหตุผู้เขียน: ดูเหมือนไม่มากเมื่อเทียบกับไทย แต่อย่าลืมว่าเขาใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศในแต่ละปีไม่รู้กี่เท่าของไทย ซึ่งก็น่าจะมากโขอยู่) การใช้เงินภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ จะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายอีกฉบับที่จะกล่าวต่อไปคือ

2) กฎหมายว่าด้วยบัญชีพิเศษเพื่อมาตรการเร่งรัดพัฒนาโรงไฟฟ้า (Act on Special Accounts for Electric Power Development Acceleration Measures, 1974) คือการดึงเอางบประมาณที่ได้มาจากภาษีส่งเสริมเพื่อพัฒนาแหล่งไฟฟ้าตามกฎหมายข้อ 1) ข้างต้น นำมาขึ้นเป็นบัญชีพิเศษ เพื่อสามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าได้โดยตรง ได้แก่การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ทั้งนี้เมื่อรัฐสามารถจัดเก็บภาษีตามข้อ 1) ได้ รายได้ทั้งหมดจะนำเข้าบัญชีพิเศษเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยบัญชีพิเศษสำหรับมาตรการเร่งรัดพัฒนาแหล่งไฟฟ้าซึ่งเป็น Special Accounts for Energy ซึ่งจะกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ของการใช้จ่ายว่าจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาส่งเสริม เร่งรัดให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อันเป็นนโยบายหลักซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากท้องถิ่นใดที่แจ้งความจำนงที่จะขอให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ของท้องถิ่นตน รัฐบาลก็สามารถจ่ายเงินงบประมาณในเบื้องต้น เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของท้องถิ่นนั้นๆเพื่อเตรียมการที่จะสร้างโรงไฟฟ้า กฎหมายฉบัยนี้สามารถให้อำนาจรัฐโอนจ่ายงบประมาณไปให้แก่ท้องถิ่นนั้นๆได้โดยตรง

สำหรับมาตรการสำหรับพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้นกฎหมายฉบับที่ 3) นี้ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า รัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนดลักษณะสำคัญว่าสถานที่ตั้งและก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีความเหมาะสมและน่าเชื่อถือ และการปรับปรุงสาธารณูปโภคบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้านั้นจะต้องทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้านั้นดีขึ้น โดยรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อกำหนดที่ตั้งโรงไฟฟ้าได้ โดยอาจปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำการตกลงเพื่อปรับเปลี่ยนทำเลที่ตั้งโครงการ หรือที่เรียกว่า Adjustment Program ให้เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นนั้นๆ โดยการปรับเปลี่ยนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีท่านอื่นๆที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนนั้นๆ เพื่อให้การปรับเปลี่ยนนั้นสอดคล้องกับระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่สามารถทำได้เพื่อให้สอดคล้องกับถนนหนทาง ชายฝั่ง ท่าเรือ สวนสาธารณะ รวมถึงพื้นที่ในเมือง หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ติดกับสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งรวมเรียกว่า Adjacent Areas และในกรณีที่มีเขตพื้นที่กำหนดไว้มากกว่าหนึ่งแห่งและอยู่ใกล้เคียงกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเสนอให้ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคในบริเวณใกล้เคียงดังกล่าวให้เหมาะสม รวมถึงการปรับทำเลที่ตั้งโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียงดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งบริเวณนั้น ทั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนที่ตั้งโครงการอาจมีการกำหนดกรอบและขอบเขตในการประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับแผนงานเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า โดยจะต้องใช้จ่ายให้เหมาะสม และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นต่อการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้น ในการปรับเปลี่ยนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสอบถามความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่น หรือผู้นำหมู่บ้าน โดยการปรับแผนงานจะต้องมีความสอดคล้องกับแผนงานภูมิภาคของพื้นที่นั้นๆ และให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดีในภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงการปรึกษาหารือกับหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง และเมื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมแล้ว จะต้องเสนอรัฐมนตรีที่มีอำนาจในเรื่องนั้นๆให้ความเห็นชอบต่อแผนการดำเนินงานที่ได้ปรับเปลี่ยนไป ทั้งนี้จะต้องมีการร่วมมือกันทั้งระดับรัฐส่วนกลาง ท้องถิ่น รวมถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

สำหรับเงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือที่เป็นสาระสำคัญนั้นให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยรัฐอาจให้เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือในการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่นโดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยรัฐอาจยกทรัพย์สินบางอย่างให้เป็นสมบัติสาธารณะของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้การปรับเปลี่ยนที่ตั้งโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโครงการ

ส่วนความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้านการเงินและการคลังนั้นมีสาระสำคัญคือ เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน รัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนดสถานที่ตั้ง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ หรือผู้แทน(ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า) มีอำนาจอนุมัติการปรับเปลี่ยนที่ตั้งโครงการได้

จะเห็นว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กล่าวมานี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงใช้กับโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆด้วย การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคประชาชนมองว่าการดำเนินการของรัฐไม่ได้มุ่งเน้นไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ต่างก็มุ่งประสงค์ให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่หยุดชะงักมานานหลายปี

เห็นหรือยังครับว่า การออกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้า การใช้จ่ายเพื่อดำเนินโครงการสามารถทำได้คล่องตัว สามารถเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ไม่มีการกำหนดแบบตายตัว มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพการทำงานที่แท้จริง ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานด้วยความสบายใจ เพราะมี กฎหมายรองรับที่ชัดเจน มีการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส สามารถตรวจสอบการทำงานได้

การตรากฎหมาย 3 ฉบับนี้ขึ้นมา ทำให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้หลายแห่ง ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นแนวทางการสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศไทย หรือโครงการใหญ่ๆทั้งของภาครัฐและเอกชนของไทยในอนาคต อันจะลดการต่อต้านจากประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออาจจะเป็นโรงไฟ้าใดๆก็ได้ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เราอาจจะต้องสร้างขึ้นในอนาคตได้ครับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4