“สทนช.” รุก ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสานปลุกหน่วยงานเกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ พร้อมบูรณาการความร่วมมือ

พุธ ๑๐ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๐๔
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ภัยแล้งของภาคอีสาน ชี้แนวโน้มฝนลดลง ย้ำไม่นอนใจ มอบทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมแผนบูรณาการรับสถานการณ์ใกล้ชิด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยหลังรับฟังการบรรยายสรุปแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านโนนฆ้อง ต.บ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีการทำเกษตรมากที่สุดของประเทศ รวม 63.85 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 6.38 ล้านไร่ หรือ 10% ของพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกษตรกรต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร จึงทำให้ปริมาณของผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลัก สทนช. จึงหาแนวทางในการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ดำเนินโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีแหล่งเก็บน้ำรวม 12,440.17 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 21.95% ของปริมาณน้ำท่า แต่มีมีความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันรวม 27,524.68 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2.21 เท่าของปริมาณกักเก็บ ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นและภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้นปัญหาความต้องการน้ำก็จะยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรยังขาดแคลนถึง 11,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้เกือบเต็ม 100% สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์น้ำและตัวชี้วัด SDGs ที่มุ่งเน้นให้ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน

สำหรับในช่วงฤดูแล้งของปี 2561 ต่อเนื่อง 2562 สทนช. ได้ประสานบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกรมชลประทานได้เร่งประสานหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งหน่วยงานด้านประมง ปศุสัตว์ เกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในสภาวะภัยแล้งร่วมกัน ในส่วนของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สทนช. ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนใหญ่ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังจาก 15 ตุลาคม ไปแล้ว ปริมาณฝนจะลดน้อยลง จึงควรพิจารณาเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุดโดยลดการระบายน้ำลง ทั้งนี้ การดำเนินงานของทุกส่วนงานจะบูรณาการความร่วมมือบนพื้นฐานข้อมูลชุดเดียวกันเป็นหลัก

นายสมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า จากแนวโน้มการคาดการณ์ฝนที่ลดลงดังกล่าว ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้แจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อสั่งการและข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่มอบหมายให้ สทนช. ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในแผนการบริหารจัดการน้ำและการปฏิบัติการฝนหลวง ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนสิ้นสุดฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความต้องการใช้น้ำในการทำการเพาะปลูกจำนวนมาก สทนช. จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย เพื่อเร่งกักเก็บน้ำให้มีปริมาณน้ำใช้พอเพียงตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือถึงแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4