บ้านพะเนียด” ร่วมใจปลูกผักปลอดสารพิษชีวิตปลอดภัย

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๕๑
กระแสบริโภคนิยมยุคใหม่ทำในสังคมเมืองและชนบท มองเห็นแต่ความสะดวกรวดรวดเร็ว เน้นบริโภคสิ่งของที่ซื้อหาง่ายด้วยเงิน มองข้ามต้นทุนด้านสุขภาวะที่ต้องจ่ายและมักส่งผลกระทบต่อตนเองในภายหลัง ในขณะที่แรงต้านทานกระแสการบริโภคเช่นนี้กลับมีให้เห็นไม่มากนัก

จากการลงพื้นที่ของ คณะทำงานด้านสุขภาวะของชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านพะเนียด ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยายาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) พบว่าในตำบลแคซึ่งส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมทำนาข้าวและปลูกพืชผัก มีการใช้สารเคมี และบริโภคผักที่มีสารเคมีตกค้าง ที่เห็นได้ชัดเจนคือหากสัมผัสพืชที่ใช้สารเคมี บางคนมีปัญหาผื่นคันและผิวหนังอักเสบ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เสี่ยงต่อสุขภาวะในชุมชนในระยะยาว

คณะทำงานจึงร่วมกันหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนให้ตระหนักถึงอันตรายของการใช้สารเคมี จึงได้ร่วมกันดำเนิน โครงการ "การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ชุมชนบ้านพะเนียด" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ด้วยความที่ มาริหยาม มะหะหมัดวงษ์ มีอาชีพเกษตรกรทำนาและทำสวน อีกหน้าที่หนึ่งเป็น อสม. เห็นเพื่อนบ้านที่ทำเกษตรกรรมมากกว่าครึ่งใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีเพื่อหวังให้ได้ผลผลิตสูง จากจำนวนสมาชิกชุมชนทั้งหมด 118 หลังคาเรือน ส่วนที่ปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนก็ยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่นิยมซื้อจากร้านค้า ร้านชำทั่วไปเพราะเห็นว่าสะดวกสบาย เมื่อลงพื้นที่คราวใดจึงพยายามโน้มน้าวใจให้ทุกบ้านหันมาปลูกผักไว้กินเองโดยไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยสามารถใช้เนื้อที่เล็กๆ รอบๆ บ้านทำได้ โดยไม่ต้องซื้อหา ต่อมาเมื่อมีการประชุมหมู่บ้านจึงร่วมกับ รพ.สต. ให้ความรู้และรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผักกินเอง จนได้สมาชิกเข้าร่วมโครงการในระยะแรก 70 ครัวเรือน โดยเริ่มปลูกผักกันคนละเล็กละน้อย

"มีการนัดลูกบ้านประชุมกัน 2-3 ครั้ง ในระยะเริ่มต้นทางเราให้การสนับสนุนซื้อเมล็ดพันธุ์มาแจก ร่วมกันทำปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก สารไล่แมลง พอทำได้ระยะหนึ่ง ชาวบ้านก็ชักชวนกันปากต่อปาก จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมปลูกผักไว้กินเองเพิ่มขึ้นเป็น 112 ครอบครัว มีเพียงเล็กน้อยที่ยังไม่พร้อมแต่ก็จะพยามชักชวนต่อไป" มาริหยาม กล่าว

ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนกระตุ้นให้เพื่อนบ้านปลูกผักไว้กินเอง มาริหยามรู้สึกภูมิใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และมองเห็นความภูมิใจของครัวเรือนที่ปลูกผักไว้กินเองเช่นกัน เกิดการแลกเปลี่ยนผักที่ปลูกไว้ระหว่างชาวบ้าน โดยไม่ต้องซื้อหาเหมือนแต่ก่อน หากใครปลูกผักได้แล้วก็จะเอาไปใช้คืน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็จะรวบรวมให้แม่ค้าคนกลางในหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ 2 ราย เป็นตัวแทนในการนำพืชผักปลอดสารพิษเหล่านี้ไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด สร้างรายได้เล็กน้อยๆ ให้ผู้ปลูก และสร้างรายได้ให้แก่แม่ค้าตัวแทนของสมาชิกคนปลูกผัก ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่าย

ขณะที่ อะส๊ะ เด็นโห หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดภัย กล่าวระหว่างลูกค้ามาซื้อผักถึงที่บ้านว่า ปกติทำนาและสวนยาง มีพื้นที่รอบบ้านจำนวน 1 ไร่ แต่เดิมปลูกผลไม้ แต่เมื่อถึงฤดูผลไม้ออกมามากทำให้ผลผลิตราคาตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกผักสวนครัวแทน ถึงขั้นโค่นต้นผลไม้ทิ้ง เพราะสร้างรายได้มากกว่าและเห็นผลผลิตเร็วกว่า ลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมากกว่าทำสวนผลไม้

"ที่บ้านนี้จะปลูกผักทุกอย่าง ผักกาด พริก มะเขือ ใส่ปุ๋ยคอกไม่ใช้สารเคมี เพราะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแมลง เพียงแต่รดน้ำใส่ปุ๋ยคอก จะมีแมลงบ้างในช่วงหน้าฝนแต่ก็ป้องกันได้ อย่างปลูกผักบุ้งลงทุน 10 บาทแต่เวลาขายกำไร 100 บาท ถ้าเราปลูกผลไม้ไม่ได้แบบนี้หรอก" สมาชิกกลุ่มปลูกผักกล่าว

ทางด้าน มูรินา หวังเก็ม ที่เดิมปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนเพียงไม่กี่ชนิด แต่เมื่อได้เข้าเป็นสมาชิก ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุย จึงหันมาปลูกผักให้หลากหลายมากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยคอกอย่าง มูลวัว มูลแพะ ผสมกับแกลบโดยไม่มีการใช้สารเคมีเลย และเมื่อปลูกมากขึ้นก็ทำให้มีผักเหลือเพื่อส่งจำหน่าย สร้างรายได้สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท แม้ว่าเนื้อที่ปลูกผักมีไม่มากแต่ก็ปรับเปลี่ยนไปปลูกในกระถางแทน

"แต่ก่อนไม่มีรายได้อะไรเลยปลูกแต่ข้าวกับยางพารา พอยางพาราราคาตกรายได้ที่เคยได้ก็หายไป ตอนนี้ทั้งปลูกผัก เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ด้วย ไม่ต้องออกไปเดินตลาดซื้อเหมือนแต่ก่อนแล้ว ลดรายจ่ายในครอบครัวได้เยอะ" มูรินา กล่าว

ผลจากการร่วมใจของชุมชนพะเนียดที่หันมาปลูกผักไว้กินเอง เมื่อเหลือจึงส่งขายโดยผ่านตัวแทนแม่ค้าในหมู่บ้าน นอกจากจะทำให้คนในชุมชนแห่งนี้มีผักปลอดภัยไว้บริโภคในแทบทุกครัวเรือนแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคนในชุมชน และยังช่วยลดรายจ่ายโดยไม่ต้องไปซื้อหาพืชผักที่ไม่ปลอดภัยจากภายนอก ผลดีที่เกิดขึ้นนอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้นมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นแล้ว ยังเกิดเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้นำชุมชน ในการสร้างความรู้และสร้างความตระหนักด้านสุขภาวะให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้อย่างยั่งยืน โดยมีผลลัพธ์ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมคือความสุขที่เกิดขึ้นและการมีสุขภาพที่ดีของสมาชิกทุกๆ คน.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้