เมนูพื้นบ้านเพื่อ “ผู้สูงอายุ” สุขภาพดีที่ “บ้านแอร้อง” ใช้เครือข่าย “หมอน้อย” ช่วยติดตามดูแลสุขภาพผู้สูงวัย

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๑๘
รสชาติของอาหารและวิธีปรุงของแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่รสชาติหลักๆ ของอาหารเหมือนกัน คือ เปรี้ยวหวานมันเค็มและเผ็ด รสชาติทั้งห้ามีอยู่ในอาหารทุกท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นรสอาหารประจำชาติไทย

แต่อย่างไร การบริโภครสชาติหวานมันเค็มจัดไม่ดีต่อร่างกายนัก เพราะเป็นที่มาของโรคเบาหวาน ความดัน และโรคอ้วน ยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งจำเป็นต้องลดหวานมันเค็มลงให้น้อยกว่าคนทั่วไป

ที่ บ้านแอร้อง อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตแบบชนบทภาคใต้ที่ปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยาย (Extend Family) ไปสู่ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังขาดผู้ดูแล ยิ่งหากคู่ชีวิตลาจากโลกนี้ไป ผู้สูงอายุยิ่งว้าเหว่และรู้สึกว่าตนเองลดคุณค่าลง สิ้นหวังในชีวิต และแยกตัวออกจากสังคม ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจและเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้า และนอกจากนั้น ผู้สูงอายุในชุมชนยังมีปัญหาด้านโรคเรื้อรังคือ น้ำหนักเกิน เบาหวาน และความดันโลหิตสูงอีกด้วย

ด้วยปัญหาของผู้สูงอายุ ชุมชนบ้านแอร้องร่วมกับหน่วยงานทั้งทางด้านการปกครองและสาธารณสุขได้จัดตั้งกลุ่มแกนนำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบสภาผู้นำชุมชน จากการสำรวจพบว่า ปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายประการ นอกจากปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญคือ ผู้สูงอายุขาดความรู้ในการดูแลตัวเอง ผู้ดูแลขาดความเข้าใจในวิธีการดูแลผู้สูงอายุ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวานมันเค็มจัด รวมถึงขาดการออกกำลังกาย

ด้วยปัญหาดังกล่าว "สภาผู้นำชุมชน" จึงจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ "โครงการผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพ" โดยจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยมีการจับคู่ผู้สูงอายุกับบุตรหลานในครอบครัวในชื่อ "หมอน้อย" เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นจนถึงอุดมศึกษามีความรู้ความเข้าใจและมีจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 35 คน

"รู้สึกภูมิใจ ประทับใจ อยากทำกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ และเกิดความรักในการดูแลผู้อื่น" รุสตรรม์ หะยีสาเอะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรียะลา หมอน้อยอาสาของชุมชน ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานดูแลถึง 8 คน เล่าถึงความรู้สึกดีในการได้ดูและผู้สูงอายุและจากประสบการณ์ประทับใจ โดยรุสต์ ตั้งใจจะทำงานทางด้านสาธารณสุขต่อไป

"หมอน้อยเป็น Buddy ประจำตัวของผู้สูงอายุ หน้าที่สำคัญคือการจดบันทึกพฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกายของญาติผู้ใหญ่ที่ตนเองดูแลอยู่ ซึ่งนอกจากเราจะได้ผู้ดูแลที่เข้าใจวิธีการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีและได้ข้อมูลของผู้สูงอายุอย่างแม่นยำแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวได้เป็นอย่างดี" อามีเนาะห์ มะลิแต พยาบาลวิชาชีพ รพสต. บ้านทำนบ อำเภอบันนังสตาร์ ผู้เป็นหนึ่งในสภาผู้นำชุมชนขยายความ

การออกกำลังกายของผู้สูงอายุก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่สภาผู้นำชุมชนพบว่า ผู้สูงอายุไม่ค่อยออกกำลังกาย ด้วยเหตุผลทางศาสนาคือ การออกกำลังกายของหญิงมุสลิมไม่เป็นที่ควรเปิดเผยให้คนทั่วไปเห็น และกิจกรรมออกกำลังกายไม่ว่าหญิงหรือชายไม่ควรประกอบเสียงเพลง

ชุมชนแห่งนี้ค้นพบทางออกด้วยการเลือกสถานที่บริเวณหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ไม่อยู่ในที่แจ้งเกินไปและลับตาคนสัญจรเป็นที่ออกกำลังกายของหญิงในหมู่บ้าน ขณะที่มุสลิมชายจะออกกำลังกายที่สนามโรงเรียนตาดีกาในชุมชน และออกกำลังด้วยการนับจำนวนท่าทางแทนการใช้เพลงประกอบ

นอกจากการจัดกิจกรรมออกกำลังกายให้สอดคล้องกับหลักศาสนาพร้อมๆ กับให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุด้านการปฏิบัติตน สภาผู้นำชุมชนยังเน้นการให้ความรู้ทางด้านธรรมะโดยมีกิจกรรมบรรยายธรรมให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนที่มัสยิดเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและความสามัคคีในชุมชน

เพื่อติดตามผลงานของ "หมอน้อย" และเหล่าผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ชุมชนจึงได้จัดให้มีการประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี โดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย ความดัน และรอบเอว รวมทั้งพิจารณาจากบันทึกของหมอน้อยทั้งด้านอาหารการกินและการออกกำลังกาย จนได้ผู้สูงอายุสุขภาพดีเป็นตัวอย่างในชุมชนถึง 5 คน และนอกจากกิจกรรมข้างต้น ชุมชนยังมองลึกไปที่ต้นตอสำคัญของปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุคืออาหาร สภาผู้นำชุมชนจึงจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านอาหารขึ้น

"โดยทั่วไปชาวบ้านกินอาหารกันตามปกติ มีหวานเค็มมัน แต่ถ้าเป็นงานเลี้ยงจะนิยมเนื้อสัตว์ แกงกะทิ ของหวาน และน้ำอัดลม ดังนั้นเราจึงจัดประกวดทำอาหารเมนูผู้สูงอายุขึ้นในวันผู้สูงอายุเพื่อเป็นเมนูแนะนำสำหรับงานเลี้ยงในชุมชนที่ไม่หวานมันเค็มเกินไป" อามีเนาะห์เล่า

จากการประกวดเมนูอาหารในวันผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งคาวหวานและอาหารว่าง อาทิ ยำผักกูด เมี่ยงคำ ข้าวยำสมุนไพร แกงกล้วยดิบ น้ำพริก ข้าวโพดแปรรูป ฯลฯ โดยที่เมนูที่ได้รางวัลที่ 1 คือแกงเลียง

"หลายเมนูเช่น แกงกล้วยดิบ น้ำพริกข้าวโพด ยำผักกูด ใช้วัตถุดิบดีต่อสุขภาพ เป็นอาหารพื้นเมืองประยุกต์ มีการลดเค็มหวาน และมีไขมันเหมาะสม แต่แกงเลียงเป็นเมนูที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ รสชาติไม่จัดเกินไป มีผักมาก และไม่มีไขมัน" มายูรา บีมา ประธานกลุ่มสุขภาพบ้านแอร้อง ผู้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดอาหารอธิบาย

กิจกรรมโครงการผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพของบ้านแอร้องเป็นโครงการดีๆ ที่สร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุในมิติต่างๆ ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลผู้สูงอายุ โดยสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับศาสนาและท้องถิ่น และได้เมนูอาหารเหมาะสมท้องถิ่นกับสุขภาพของคนในชุมชน จึงเป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่สร้างสุขได้ให้แก่ชุมชนที่น่าสนใจยิ่ง.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital