“สภาผู้นำฯ” เข้มแข็ง-แรงขับเคลื่อน “บ้านทุ่งยาว” น่าอยู่อุดรอยรั่ว “โอ่งชีวิต” สร้างเศรษฐกิจเพิ่มรายได้บนวิถีชุมชน

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๕๕
หนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนนำไปสู่ชุมชนสุขภาวะ คือการมีผู้นำชุมชนมีคุณสมบัติที่สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงาน ซึ่งผู้นำชุมชนจะต้องเปิดกว้างรับฟังความความคิดเห็น และรับรู้ความต้องการในพื้นที่ จึงจะช่วยให้การทำงานนำไปสู่ความสำเร็จ

บ้านทุ่งยาว หมู่ 7 ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา ทำนา สวนผลไม้และเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เกษตรกรส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการทำการเกษตรโดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมี ทำให้มีสารตกค้างในดินและในแหล่งน้ำ ประกอบกับชุมชนยังขาดการจัดการเรื่องขยะจนทำให้เกิดปัญหาโรคไข้เลือดออกตามมา แต่ปัญหาเหล่านี้เริ่มลดลงเมื่อชุมชนตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันจัดตั้ง "สมาชิกสภาผู้นำชุมชน" ขึ้นโดยมีตัวแทนจากหลากหลายอาชีพในชุมชนเข้ามาเป็นกลไกช่วยกันขับเคลื่อน "โครงการชุมชนน่าอยู่ บ้านทุ่งยาว" โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พลภัทร คงแก้วขาว กำนันหนุ่มแห่งตำบลโคกชะงาย ยอมรับว่าลำพังเขาเพียงคนเดียวไม่สามารถผลักดันให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่การทำหน้าที่ผู้นำชุมชนจึงมองเห็นและเข้าใจปัญหาได้อย่างดี หลังจากการพูดคุยกับลูกบ้านทุกเดือน ที่ประชุมเห็นว่าควรจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนขึ้น เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของหมู่บ้าน การจะรู้ข้อมูลว่ามีปัญหาอะไรนั้น ต้องไปดูข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่กรมพัฒนาชุมชนได้สำรวจไว้ ควบคู่กับบัญชีครัวเรือน ซึ่งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้สอนให้ทุกครัวเรือนรู้จักการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครัวเรือนอยู่แล้ว และอธิบายเปรียบเทียบว่าทุกครัวเรือนเสมือน "โอ่งชีวิต" ที่มีรายรับเข้าทางปากโอ่งแต่มีรูรั่วของโอ่งที่ทำให้น้ำไหลออกตลอดเวลา

"อันดับแรกเราจัดตั้งสภาผู้นำก่อนเพื่อมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ผู้นำเหล่านี้ก็มาจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มบ้าน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปราชญ์ชาวบ้าน และจะต้องมีจิตอาสา มีจิตสาธารณะ จากนั้นก็เปิดรับสมัครคัวเรือนต้นแบบด้วยความสมัครใจ เริ่มต้นเราได้มา 80 คัวเรือนจาก 380 ครัวเรือน ขอเริ่มต้นน้อยๆ ก่อน" กำนันพลภัทรให้ข้อมูล

ผู้นำชุมชนยังอธิบายต่อว่าเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วพบว่า โอ่งชีวิตมีรูรั่วหลายด้านที่ต้องอุด แต่ต้องเรียงลำดับความสำคัญ สภาผู้นำชุมชนและสมาชิกเห็นว่าสิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่จะทำให้เดินต่อไปได้คือการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เนื่องจากรายได้ที่ได้มาจากทำนา ทำสวน รับจ้าง นั้นไม่เพียงพอ ขณะที่มีรายจ่ายในครัวเรือนที่ต้องจ่ายอยู่ประจำเป็นจำนวนมาก

หลักการที่ชาวบ้านทุ่งยาวทำก็คือ การต่อยอดอาชีพที่สมาชิกทำอยู่แล้ว โดยเข้าไปสนับสนุนให้เดินต่อไปได้และสนับสนุนอาชีพใหม่หากจะทำเพิ่ม และเมื่อมีผลิตภัณฑ์ออกมา หรือมีสินค้าอะไรออกมา ก็จะช่วยหาวิธีการกระจายสินค้าในชุมชนก่อน เช่น ให้ผู้นำชุมชนเองเสียสละซื้อสินค้า นำมาจับฉลากเป็นรางวัลในวันประชุมหมู่บ้าน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วม อีกส่วนหนึ่งทางสภาผู้นำก็จะแนะนำสถานที่ในการจำหน่ายให้แก่สมาชิก เช่น ตลาดชุมชน ตลาดพาณิชย์ ตลาดประชารัฐ เป็นต้น

"เราเริ่มต้นจากปิดรูรั่วก่อน จะปิดตรงนั้นได้หากครัวเรือนต้นแบบไม่มีองค์ความรู้ว่าจะอุดรอยรั่วอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จะนั่งอธิบายก็จะไม่เข้าใจ ก็เลยพาครัวเรือนเหล่านี้ไปดูงาน ไปดูพื้นที่ที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จ พื้นที่ 1 ไร่กว่าๆนี่ก็สามารถมีรายได้อยู่ได้ พาไปดูพอไปดูเสร็จก็กลับมาทำกิจกรรมย่อยเพื่อลดต้นทุน เช่น การปลูกผักกินเอง การทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำยาล้างจาน ให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการคัดแยกขยะ ทำให้มีรายได้จากขยะในครัวเรือน ช่วยลดปัญหาขยะในท้องถิ่นไปด้วย ต่อไปเราเองก็คงจะจัดให้มีตลาดชุมชนให้ชาวบ้านมาขายของสัปดาห์ละครั้ง" กำนันตำบลโคกชะงายกล่าว

ทางด้าน สมชาย ลายทิพย์ เกษตรกรครัวเรือนต้นแบบ เปิดเผยว่าประสบปัญหากับราคาพืชเกษตรตกต่ำ แต่รายจ่ายไม่ลดลดลง ได้รับคำแนะนำจากสภาผู้นำในเรื่องการลดต้นทุนหลายอย่าง สามารถใช้พื้นที่รอบบ้านที่มีอยู่ 3 ไร่เศษสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม จากการทำเกษตรผสมผสาน ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ต่างๆ

"ของผมก็จะมีบ่อปลา มีแปลงหญ้าเลี้ยงวัว เลี้ยงผึ้งโพรงไว้ 2 รัง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่พื้นเมือง ได้ไปอบรมเรื่องการทำอาหารสัตว์ก็ช่วยลดต้นทุนได้ มีรายได้จากการขายมะละกอ มะพร้าว ขายปลา มะนาว ขายเป็ดเนื้อ พืชผักสวนครัวก็มีครบไม่ต้องซื้อ ยาฆ่าแมลงก็ไม่ใช้เพราะเราเลี้ยงผึ้งด้วย ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงผึ้งก็จะไม่อยู่" เกษตรกรต้นแบบเล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ขณะที่ หนูแปลก ชำนาญเนียม หัวหน้ากลุ่มทำขนมพื้นบ้าน ประกอบด้วยขนมต้ม และขนมจั้งห่อด้วยใบจั้งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งช่วยทำให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำขายอยู่เพียงคนเดียวก็รวมกลุ่มกัน ถ่ายทอดความรู้ไปยังคนอื่นๆ ให้มีความรู้เพื่อนำรายได้ไปช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

"เดิมทำขายอยู่คนเดียวก็ทำได้ไม่มากเท่าไร ทางผู้นำชุมชนเห็นว่าขนมชั้นเป็นเอกลักษณ์ที่หากินยาก บ้านเรามีของดีก็ควรจะขยายเพิ่มเพื่อให้คนอื่นมีส่วนร่วม มีรายได้ก็เลยมีการรวมกลุ่มกัน ทำ 2 อย่างคือขนมต้มกับขนมจั้ง พอมีรายได้มาก็จะแบ่งสรรปันส่วนกัน เก็บส่วนหนึ่งเข้ากองกลางไว้ทำทุนต่อไป" หัวหน้ากลุ่มทำขนมกล่าว

โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านทุ่งยาว แม้เพิ่งเริ่มต้นดำเนินงานต่างๆ เป็นปีแรก แต่มีกระบวนการคิดที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนโดยใช้สภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน โดยเริ่มต้นจากการสร้างครัวเรือนต้นแบบลดรายจ่าย ที่สามารถหาทางอุดรอยรั่วของโอ่งชีวิตได้ รวมไปถึงหาช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในชุมชน และตั้งเป้าที่จะขยายผลการดำเนินงานออกไปให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสมาชิกชุมชนแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืน.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ