พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

จันทร์ ๒๒ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๔๐
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การบริหารจัดการน้ำโครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ การดำเนินงานโครงการศึกษาทดลองการปลูกป่าจาก เพื่อฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง และสถานีควบคุมไฟป่าควนเคร็ง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎรสืบไป

โดยในช่วงเช้าองคมนตรี และคณะรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากตลอดจนปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่วิกฤตทางธรรมชาติ จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการวางแนวทางโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบลุ่มน้ำ เป็นการพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบผสมผสานโดยมีการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดให้กับราษฎร พร้อมกับก่อสร้างคลองระบายน้ำหลัก 4 สาย เพื่อควบคุมการระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้วันละประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรนอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินที่ถูกต้องและชัดเจนเพื่อแยกพื้นที่ใช้น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทานทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาอาชีพอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การทำสวนไม้ผล ไร่นาสวนผสม การเลี้ยงปลา การปลูกต้นจาก ปลูกผักปลอดสารพิษ

ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยึดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ศึกษาฯ มาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงโดยมีการบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมพัฒนาแบบผสมผสานโดยยึดหลักสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้องพัฒนาอย่างมีระบบพร้อมกับการพัฒนาองค์กรเกษตรกร เพื่อสร้างตัวแบบการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันได้ขยายผลสำเร็จและเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 9 แห่ง

จากนั้นคณะได้ติดตามการดำเนินงานพร้อมกับรับฟังสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำโครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันน้ำทะเลไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง และระบายน้ำหลากสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน สามารถระบายน้ำได้ถึง 1,430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โอกาสนี้องคมนตรีได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ต่อไป

ต่อมาในช่วงบ่ายคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการศึกษาทดลองการปลูกป่าจากเพื่อฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากในอดีตเกิดกระแสการเลี้ยงกุ้งทะเลในบ่อเชิงอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ทำนาและทำไร่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นจำนวนมาก และเมื่อการเลี้ยงกุ้งประสบปัญหา ทำให้พื้นที่ถูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์เนื่องจากดินเค็มไม่สามารถปลูกพืชได้ และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ สวนจาก จันทรังษี หมู่ที่2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ความว่า "...ควรอนุรักษ์พื้นที่นาข้าว ป่าจาก ที่ตำบลขนาบนากไว้คู่ลุ่มน้ำปากพนังต่อไป..." ต่อมาโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่โดยเริ่มดำเนินการปลูกจาก ซึ่งเป็นพืชดั้งเดิมของท้องถิ่นในพื้นที่นากุ้งร้าง และพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในพื้นที่ตำบลขนาบนาก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ใบจากเย็บตับสำหรับใช้มุงหลังคา ลูกจาก น้ำตาลจาก เป็นต้น ซึ่งมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูนากุ้งร้างโดยจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี และระหว่างรอการเจริญเติบโตของจาก ก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณคูรอบแปลง รวมทั้งเลี้ยงปลานิล ปูดำ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากนั้นคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังสรุปผลการดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของสถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 250,883 ไร่ อยู่บริเวณตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา เขตรอยต่อของจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามต่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดลงของสัตว์น้ำการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า แต่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด คือ ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้พื้นที่มาปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดความแห้งแล้งของสภาพภูมิอากาศ และซากพืชที่ทับถมอยู่ใต้ดิน ทำให้เกิดเชื้อไฟขยายออกไปจนเป็นไฟป่า เพื่อเป็นการปกป้องดูแลพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งจึงได้ดำเนินการและวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การเพิ่มความถี่และความเข้มข้นในการปฏิบัติงานลาดตระเวน ป้องกัน ควบคุมไฟป่า ตลอดจนการบุกรุกพื้นที่ การประชาสัมพันธ์การป้องกันไฟป่าและหมอกควัน และจัดการน้ำในป่าพรุ จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่าพรุ ณ บริเวณศาลหลวงต้นไทร เพื่อบูรณาการเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงรุก จัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุหากเกิดไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง และฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครแก้ไขปัญหาไฟป่าพรุ จำนวน 3 รุ่น รวม 300 คน พร้อมจัดตั้งหมู่บ้านเครือข่าย จำนวน 52 หมู่บ้าน ให้มีการฝึกทบทวนความรู้เทคนิคการดับไฟ การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือให้พร้อมในการดับไฟป่า เป็นต้น ส่งผลให้ลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้