“No Copy Be Right” ก๊อปไม่เก๋ อยากเท่ต้องแบรนด์ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ผนึกกำลังภาครัฐ รณรงค์ไม่ซื้อ – ไม่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พฤหัส ๐๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๑:๓๕
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีค่านิยมในการผลิตสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์ ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมจัดหาและดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จึงได้ผนึกกำลังภาครัฐ จัดกิจกรรม "No Copy Be Right" ก๊อปไม่เก๋ อยากเท่ต้องแบรนด์ ร่วมรณรงค์ ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและมอบความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานข้ามชาติ ด้วยการจัดเวทีเสวนาและนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภายในศูนย์การค้าฯ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจทำธุรกิจ SME โดยเริ่มจากความรู้เบื้องต้นในการสร้างแบรนด์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไปจนถึงการสร้างกลยุทธ์การขายสินค้าในยุค 4.0 เพื่อให้แบรนด์ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีพิธีเปิดงานและให้ความรู้ด้านการจำหน่ายสินค้าให้ถูกกฏหมายลิขสิทธิ์ อย่างเป็นทางการ ณ บริเวณชั้น 5 โซนเอาท์เล็ต อิน ทาวน์ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ภายในศูนย์การค้าฯ ในด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ว่า หลังจากที่ภาครัฐได้มีการประกาศนโยบายเรื่องสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทางเอ็ม บี เค ก็ได้ให้ความร่วมมือในการให้ความรู้กับผู้ประกอบการเรื่องนี้อยู่เสมอ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มหันมาทำแบรนด์ของตัวเองกันมากขึ้น สอดรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์การค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความนิยมชมชอบในสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนความเป็นไทย และต้องการสนับสนุนแบรนด์ของคนไทย

"การที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จัดงานรณรงค์การไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในวันนี้ เพื่อต้องการประกาศเจตนารมณ์ว่าเรายินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการรณรงค์ไม่ซื้อไม่ขายสินค้าก็อปปี้แบรนด์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์ และกฏหมายเกี่ยวกับการจัดหางานของแรงงานข้ามชาติ ให้แก่ผู้ประกอบการภายในศูนย์การค้าฯ อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมในเรื่องของการจดทะเบียนทำแบรนด์สินค้า และการปรับปรุงสินค้าให้โดนใจตลาดโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมาขายทั้งรูปแบบของการขายส่งและขายปลีกแถมต่อยังยอดไปสู่ตลาดโลกได้อีกด้วย ซึ่งทำเลของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค นั้นถือเป็นยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ เพราะมีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และแวดล้อมด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบาย และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่กำลังมองหาพื้นที่สำหรับพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง"

นอกจากนี้ภายในงาน "No Copy Be Right" ก๊อปไม่เก๋ อยากเท่ต้องแบรนด์ ยังได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการสำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ นายสมบูรณ์ เฉยเจริญ ร่วมกล่าวถึงนโยบายทางภาครัฐในการป้องปรามสินค้าละเมิดสิทธิทางปัญญาว่า ความจริงแล้วสินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างชาติอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทยหรือสินค้าแฮนด์เมดเพราะสินค้าไทยมีจุดแข็งตรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครในโลก ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยที่กำลังเริ่มสร้างแบรนด์อย่างเต็มที่

"ปัจจุบันมี ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IDE Center) สำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะสร้างแบรนด์สินค้าสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาได้ โดยมีทีมงานและข้อมูลที่ครบวงจรตั้งแต่การเริ่มจดทะเบียนร้านค้า จดทะเบียนสินค้า การจัดจ้างผลิต ไปจนถึงแนะนำช่องทางการจัดจำหน่ายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ในส่วนของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ก็มีการจัดอบรมออนไลน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำแฟรนไชส์การลดต้นทุน การทำบัญชีแบบมืออาชีพ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย สำหรับธุรกิจที่ได้รับการตอบรับที่ดีแล้วในประเทศ และอยากจะขยายตลาดไปสู่สากลมากขึ้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้มีการจัดอบรมพัฒนาแพ็กเกจ และส่งเสริมการออกร้านสินค้าไทยในต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักในทั่วโลกได้ นอกจากนี้ยังมี สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ช่วยให้ความรู้เรื่องช่องทางการขายในโลกดิจิตอล ทิศทางการเติบโตของธุรกิจส่งออก ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นดั่งคลังความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร"

เมื่อมีไอเดียธุรกิจแล้วการคิดรูปแบบของสินค้า และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างแบรนด์ ตามที่ นายสมบูรณ์ เฉยเจริญ ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่าตราสินค้าจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามทางกฎหมาย เช่น ภาพอนาจาร ธงหลวง หรือ ธงชาติ และต้องไม่เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายที่คนอื่นเคยจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียด อีกทั้งแนะนำผู้ประกอบการให้ยื่นจดตราสินค้าเผื่อไว้ 2-3 แบรนด์ เพราะการทำจดทะเบียนแต่ละครั้งใช้เวลานาน ในกรณีที่อยากต่อยอดการขายเป็นแบรนด์สินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต จะได้สามารถทำการตลาดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ปิดท้ายที่ทิศทางการตลาด SME ในยุค 4.0 ด้วย ผศ.ดร. บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และหลักสูตรนิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาร่วมเผยถึงภาพรวมและแนะนำวิธีการสร้างแบรนด์ให้โดนใจตลาดปัจจุบันให้ผู้เข้าร่วมงานได้นำ5 กลยุทธ์หลักไปปรับใช้ เริ่มจาก รู้จักและเข้าใจลูกค้า ให้ดีพอ ลูกค้าสมัยใหม่สามารถเข้าถึงร้านค้าทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีความต้องการสอบถามโต้ตอบกับผู้ขายอย่างรวดเร็ว และปรารถนาที่จะได้รับเซอร์วิสที่ดีจากการใช้บริการที่หน้าร้านมากขึ้นเป็นพิเศษ ที่สำคัญลูกค้ายุค 4.0 จะไม่ยึดติดแบรนด์เนม พร้อมจะเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่างแต่เข้ากับสไตล์และบุคลิกของตัวเองเป็นหลัก ของก๊อปปี้แบรนด์ดังจึงไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์อีกต่อไป ต่อมาผู้ประกอบการ ต้องรู้ว่าจะเลือกใครเป็นลูกค้า การทำการตลาดในไทยส่วนใหญ่มักจะทำ

สินค้าขึ้นมาก่อนแล้วค่อยหาว่าจะขายสินค้าเหล่านั้นให้กับใคร แต่ความจริงแล้วลำดับที่ถูกต้องคือ ต้องนึกถึงกลุ่มลูกค้าก่อน แล้วค่อยผลิตหรือนำสินค้ามาขายให้ตรงกับกลุ่มลูกค้านั้นๆ วิธีนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์มีจุดแข็ง มีสิ่งที่คู่แข่งไม่มีแต่ลูกค้าต้องการด้วย การคิดแบรนด์สตอรี่ให้เป็นที่จดจำ ในตลาดสินค้าที่มีคู่แข่งมากๆ หากร้านค้าไหนนำเสนอเรื่องราวที่มาที่ไปของแบรนด์ได้โดดเด่น เช่น เรื่องราวความพยายามคัดสรรวัตุดิบดีเยี่ยมจนได้สินค้าคุณภาพสุดพรีเมี่ยม หรือเรื่องราวตำนานการสืบทอดสูตรอาหารจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ที่มาที่ไปเหล่านี้จะสร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์อีกทั้งยังทำให้ลูกค้านึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว

ในกรณีที่มีหน้าร้านหรือมีการออกบูธสินค้า การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าหน้าร้าน ถือเป็นโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับแบรนด์ เพราะในอนาคตพลังการผลิตสินค้าจากจีนจะมีมากขึ้น เทรนด์ของสินค้าทั่วโลกจะมีความเหมือนคล้ายกันจนหาความแตกต่างแทบไม่ได้ แน่นอนว่าการแข่งขันของร้านค้าในโลกออนไลน์ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการควรต้องเน้นสื่อสารเรื่องการให้บริการมากกว่าการแข่งขันทำโปรโมชั่นลดราคา เพื่อสร้างและรักษากลุ่มคนที่รักแบรนด์ให้เป็นเครือข่ายบอกต่อสินค้าและบริการที่ดีของแบรนด์ไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ในหน้าร้านหรือบูธสินค้า ควรมีการจัดดิสเพลย์ที่สวยงาม มีพนักงานประจำร้านที่มีใจรักในการให้บริการ เข้าใจแบรนด์อย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ และสามารถแนะนำสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พื้นฐานสำคัญเหล่านี้จะช่วยให้แบรนด์ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคและมีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำอีก ปิดท้ายที่กลยุทธ์สุดท้ายคือ การจดจำข้อมูลของลูกค้า เมื่อมีหน้าร้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผู้ประกอบการควรทำฐานข้อมูลแบบง่ายขึ้นมา เช่น ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าอะไร อายุประมาณเท่าไหร่ คนต่างชาติที่ชอบสินค้าเรามาจากประเทศอะไร เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าจริงๆ ของแบรนด์ให้มากขึ้น โดยก่อนเปิดร้านควรทำการบ้านด้วยการไปดูสถานที่ตั้งร้าน คอยสังเกตว่าในหนึ่งวันมีกลุ่มลูกค้าแบบไหนเดินผ่านบริเวณร้านบ้าง ช่วงเวลาไหนที่คนเดินเยอะที่สุด และดูร้านค้าโดยรอบว่ามีร้านใดบ้างที่สามารถทำโปรโมชั่นขายสินค้าบางอย่างร่วมกันได้ เพราะการลดครึ่งราคาไม่ใช่การตลาดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไป ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการได้รับการบริการที่ดีกว่า และคาดหวังในคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคาที่ถูกลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4