แถลงข่าว กกร. วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561

อังคาร ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๓:๔๓
ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า ภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะเติบโตชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากหลายเครื่องชี้ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว การเบิกจ่ายของภาครัฐ รวมทั้งผลผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าการหดตัวแรงของการส่งออกในเดือนกันยายน จะเป็นประเด็นระยะสั้น ประกอบกับภาครัฐน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะมีแรงหนุนที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น กกร. มองว่า ภาพเศรษฐกิจไทยและการเติบโตของมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2561 จึงยังอยู่ในกรอบประมาณการ (GDP ขยายตัว 4.4-4.8% และการส่งออกขยายตัว 8.0-10.0%)

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วงปีหน้า มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 3, ผลต่ออุตสาหกรรมไทยจากการบรรลุข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบ USMCA ( United States-Mexico-Canada Agreement หรือ NAFTA ใหม่), การที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ ใน 11 รายการสินค้าส่งออก ตลอดจนผลกระทบทางอ้อมจากการขยายตัวที่ชะลอลงของการค้าและเศรษฐกิจหลักในโลก ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เป้าหมายที่จะให้การส่งออกในปี 2562 เติบโตในอัตราสูงใกล้เคียงกับในปี 2561 อาจเป็นไปได้ยากขึ้น

มูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของสินค้า 11 รายการ ในปี 2560 มีมูลค่า 46 ล้านเหรียญฯ หรือ 1.11% ของมูลค่าสินค้าไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมราว 4,200 ล้านเหรียญฯ (ปี 2560) หรือคิดเป็น 16.0% ของการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 11% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย กกร. เห็นว่าการถูกตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้น่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย ประกอบกับสินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คาดว่าจะส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญที่เป็นคู่แข่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่ถูกตัดสิทธิด้วย ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ไทยจะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าของคู่แข่งได้

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาค ในเดือนกันยายน จากกระทรวงการคลัง มีการปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออก โดยภาพรวม อยู่ที่ 48.4 จากเดือนสิงหาคม ที่อยู่ที่ 49.8 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้งยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์ม ที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยด้านบวก ได้แก่ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน อยู่ที่ 1.50% ประกอบกับภาคการส่งออกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตมากขึ้น

จากเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว พิษสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง กำลังซื้อลดลง โดยในเดือนกันยายนมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทย จำนวน 6.48 แสนคน (-14.89%) ลดลงจากเดือนสิงหาคม จำนวน 8.67 แสนคน (-11.77%)

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 28.54 ล้านคน เติบโต 8.7% (YoY) แม้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะติดลบ 8.8 % (YoY) แต่ภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังเติบโต 13.3% (YoY)

หาก วันนี้ ครม. ประกาศมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ให้กับ 21 ประเทศ ในช่วงนี้ จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้อีกทางหนึ่ง

ตามที่ภาครัฐจัดทำโครงการ Regulatory Guillotine เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญนั้น กกร. ขอเสนอให้ภาครัฐจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4