“จ๊อบไทย” เผยเทคนิคการสัมภาษณ์งาน สำหรับคน “Extrovert” และ “Introvert”

จันทร์ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๕๒
การสัมภาษณ์งานถือเป็นประตูด่านสำคัญในการเข้าทำงานกับองค์กรที่ต้องการ ซึ่งการสัมภาษณ์งานของหลายคนก็ประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น แต่บางคนกลับรู้สึกประหม่าและเป็นกังวลจนทำให้การสัมภาษณ์นั้นสะดุด เนื่องจากแต่ละคนมีลักษณะท่าทางและการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่าเราจะได้งานที่ต้องการนั้นหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) จึงได้เผยเทคนิคการสัมภาษณ์งานสำหรับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) และอินโทรเวิร์ต (Introvert) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์งานของคนทั้งสองกลุ่ม เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) น่าจะได้เปรียบมากกว่าคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) แต่ในความเป็นจริงแล้วการสัมภาษณ์งานถือเป็นความท้าทายของคนทั้งสองกลุ่ม ดังนั้นถ้าเราสามารถทำความเข้าใจคุณสมบัติของการเป็น Introvert และ Extrovert พร้อมทั้งมีการเตรียมความพร้อมที่ดี ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจและทำให้การสัมภาษณ์งานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เริ่มต้นด้วยคนที่มีลักษณะแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) คนกลุ่มนี้มักจะมีความสามารถในการเข้าสังคม เพราะพูดเก่ง และเข้ากับคนได้ดี ซึ่งการสัมภาษณ์งานก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วการสัมภาษณ์งานถือเป็นความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เพราะพวกเขามักจะพูดสิ่งที่รู้สึกออกมาอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เนื่องจากการสัมภาษณ์แต่ละครั้งมีหลายองค์ประกอบที่ผู้สัมภาษณ์นำมาใช้ในการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะในการทำงาน การสื่อสาร ทัศนคติ ล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นเทคนิคในการสัมภาษณ์งานที่คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ควรนำไปปรับใช้ มีดังนี้

- สร้างความได้เปรียบด้วยการเลือกงานที่ได้พบปะผู้คน – หากต้องทำงานที่ไม่ได้สนใจหรือไม่ตรงกับความเป็นตัวตน อย่างการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ได้ออกไปไหนและไม่ค่อยได้พูดกับใคร อาจทำให้คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) เกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้นให้ลองทบทวนการเลือกตำแหน่งงานที่จะสามารถนำจุดแข็งมาใช้ได้ ซึ่งงานที่เข้ากับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ได้ดีคืองานประเภทที่ได้พบปะผู้คนอย่างงานขาย งานบริการลูกค้า (AE) งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

- หลีกเลี่ยงการพูดคุยเล่นและเรื่องส่วนตัวที่มากเกินไป – การพูดคุยก่อนเริ่มการสัมภาษณ์แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีในการทำความรู้จักกันและทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ดูผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็เป็นช่วงเวลาในการสร้างความประทับใจแรกที่ผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกได้ ดังนั้นไม่ควรนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาเล่ามากจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวเพราะอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกถึงความไม่เป็นมืออาชีพ

- นำเสนอตัวเองให้เหมาะสมกับประเด็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการ – โดยธรรมชาติของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) จะชอบพูดเสนอความเป็นตัวเองให้มากไว้ก่อน แต่สิ่งสำคัญในการสัมภาษณ์งานคือต้องพยายามจับประเด็นผู้สัมภาษณ์ให้ได้ ควรตอบให้กระชับและตรงประเด็นมากที่สุด แต่หากผู้สัมภาษณ์ถามคำถามปลายเปิดมาก็สามารถ อธิบายเพิ่มเติมด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์หรือผลงานที่เคยทำมา ซึ่งจะเป็นการนำเสนอตัวเองที่เหมาะสมและผู้สัมภาษณ์ก็จะรู้สึกถึงความตั้งใจของเราได้เป็นอย่างดี

- เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี – คนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) มักจะชอบเป็นผู้นำในการสนทนา แต่สำหรับการสัมภาษณ์งานต้องมองถึงความเหมาะสมและกาลเทศะเป็นสำคัญ โดยให้ผู้สัมภาษณ์เป็นคนนำบทสนทนาบ้าง และยอมเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะจะทำให้ทราบถึงแนวทางของการสัมภาษณ์ว่าจะไปในทิศทางไหน และอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำคือการพูดแทรกในระหว่างที่ผู้สัมภาษณ์กำลังพูด เพราะคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) มักจะตอบคำถามขึ้นมาทันทีที่คิดได้ ดังนั้นควรฟังให้จบประโยค รวมถึงทบทวนคำถามให้ดีก่อนแล้วค่อยตอบออกไป อย่ารีบพูดแทรกจนทำให้คนสัมภาษณ์รู้สึกว่าความใจร้อนของเราอาจกลายเป็นปัญหาในการทำงานได้

- ใช้จุดแข็งด้านการสื่อสารและกล้าแสดงออกให้เป็นประโยชน์ – การแสดงออกถึงความมั่นใจ ความเป็นมิตร รวมถึงทักษะการสื่อสารที่ดี เป็นจุดแข็งสำคัญของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ดังนั้นควรหมั่นพัฒนาจุดแข็งเหล่านี้ พร้อมนำมาปรับใช้ในระหว่างการสัมภาษณ์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความประทับใจและเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งาน

ส่วนการสัมภาษณ์งานสำหรับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกดดัน เพราะลักษณะของคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) จะเป็นคนที่ชอบเก็บตัว พูดน้อย ไม่ชอบเข้าสังคมที่มีคนจำนวนมาก ด้วยลักษณะนี้เองที่สร้างความกดดันให้กับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) และอาจทำให้การสัมภาษณ์งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้คนกลุ่มนี้ต้องมีการเตรียมตัวให้มากกว่าคนอื่น สำหรับเทคนิคการสัมภาษณ์งานที่คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) ควรนำไปปรับใช้เพื่อเสริมความมั่นใจในระหว่างการสัมภาษณ์ ได้แก่

- ศึกษารายละเอียดของงานและประเด็นคำถามที่มักถูกถามเพื่อลดความประหม่า – การวางแผนก่อนการสัมภาษณ์ถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นด้วยการทบทวนคุณสมบัติของตำแหน่งงานให้ละเอียด แล้ววิเคราะห์ตนเองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับหรือไม่ อีกทั้งควรฝึกตอบคำถามที่มักถูกใช้ในการสัมภาษณ์งาน เช่น การแนะนำตัวเอง การเล่าถึงสิ่งที่เคยทำมาในอดีต ฯลฯ หากเราตอบได้อย่างมั่นใจก็จะเป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์งาน นอกจากนี้ควรไปถึงก่อนเวลานัดสัมภาษณ์เพื่อที่จะได้สร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ และลดอาการประหม่าลงได้

- อัดวิดีโอการตอบคำถามเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเองและสร้างความมั่นใจก่อนการสัมภาษณ์งานจริง – คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) มักไม่ค่อยขอให้ใครมาช่วยถามคำถามสัมภาษณ์ เพราะคิดว่าเป็นการรบกวนผู้อื่นเกินไป ฉะนั้นการอัดวิดีโอสัมภาษณ์ด้วยตัวเองจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งยังทำให้เราเห็นถึงจุดบกพร่องและสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากที่สุดอีกด้วย

- พูดถึงความสำเร็จต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจ – คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) หลายคนมักจะไม่ค่อยมั่นใจที่จะพูดถึงความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมาของตัวเอง แต่ในการสัมภาษณ์งานหากไม่กล้าบอกและแสดงออกถึงความสำเร็จเช่นนี้อาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งคนอื่น เพราะถึงแม้ผู้สัมภาษณ์จะดูผลงานจากในเรซูเม่หรือแฟ้มสะสมผลงานได้ แต่การบอกเล่าเรื่องราวในเชิงลึกด้วยตัวเราเองย่อมทำให้เราเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นลองปรับมุมมองเกี่ยวกับการพูดถึงความสำเร็จให้เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวบางอย่างที่สามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินใจรับเราเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น

- นำข้อดีของคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) มาเป็นจุดขาย – ข้อดีของคนกลุ่มนี้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น มีความเห็นอกเห็นใจ นอกจากนี้ยังเป็นคนจริงจัง และมุ่งเน้นเรื่องรายละเอียดในงาน หากมีเวลาเตรียมตัวที่มากพอคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) ยังสามารถฉายแววเด่นในที่ประชุมและการนำเสนองานอีกด้วย ซึ่งงานที่เหมาะกับคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) คืองานที่ใช้ความคิด และไม่ต้องพบปะผู้คนเยอะ ๆ เช่น ผู้ตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษา นักวิจัย ตลอดจนศิลปิน นักเขียน ผู้ตรวจพิสูจน์อักษร กราฟิกดีไซน์เนอร์ งานไอที เป็นต้น

สุดท้ายนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภท เอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) หรือ อินโทรเวิร์ต (Introvert) หากรู้จักตัวตนและเลือกงานให้เหมาะสมกับสไตล์ตนเอง เลือกใช้จุดแข็งของตนเองให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งการพัฒนาข้อบกพร่องต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ก็จะทำให้การสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นและยังช่วยให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม จ๊อบไทย ยังมีบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานอีกมากมาย โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่จ๊อบไทย (JobThai) โทรศัพท์ 02-353-6900 หรือเข้าไปที่ www.jobthai.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital