สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์เผย “ประชาชน 79.16% ไม่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่ยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด”

พฤหัส ๑๓ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๐๓
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เปิดเผยผลการสำรวจ "ความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการพัฒนาประเทศ" สำรวจระหว่างวันที่ 6 ถึง 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,171 คน

หลักธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันในสังคมไทยมาได้ระยะหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับการบริหารงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ธรรมาภิบาล (Good Governance) หมายถึงการปกครอง การบริหาร การจัดการ และการควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะหลักธรรมทางศาสนา แต่ยังรวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง เช่น ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยจึงเริ่มเห็นความสำคัญของการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคม และมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการยึดหลักธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานต่างๆ ได้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้คนส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการพัฒนาประเทศ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.47 และเพศชายร้อยละ 49.53 สามารถสรุปผลได้ ดังนี้

สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ธรรมาภิบาล" นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 28.1 ระบุว่า "ธรรมาภิบาล" ตามความเข้าใจของตนหมายถึง การดำเนินกิจการต่างๆ โดยยึดหลักความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซง รองลงมาระบุว่าหมายถึงการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงส่วนรวมและความรับผิดชอบต่อสังคม คิดเป็นร้อยละ 24.59 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.85 ระบุว่าหมายถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำผิดกฎหมาย และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.56 และร้อยละ 8.28 ระบุว่าหมายถึง การปกครองประเทศโดยยึดหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนา และการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยไม่เกิดความขัดแย้งวุ่นวาย ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.36 ระบุความหมายอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.26 ยอมรับว่าตนเองไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ธรรมาภิบาล" เลย

ในด้านความคิดเห็นต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.17 มีความคิดเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับหลัก "ธรรมาภิบาล" ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.84 มีความคิดเห็นว่าตนเองสามารถนำหลัก "ธรรมาภิบาล" มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันนอกเหนือจากการนำไปใช้เกี่ยวกับหน้าที่การงานได้

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.55 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลบรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลัก "ธรรมาภิบาล" ลงไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับต้นจะมีส่วนช่วยทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอนาคตตระหนักถึงเรื่อง "ธรรมาภิบาล" ได้มากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.64 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.81 ไม่แน่ใจ

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.2 มีความคิดเห็นว่าหากหน่วยงานเอกชนยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารงานจะมีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาของผู้คนในสังคมต่อหน่วยงานให้สูงขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.68 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.12 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการบริหารประเทศ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.82 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่/แสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการในภาคส่วนต่างๆ ลงได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.79 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ/ช่วยเหลือประชาชนของหน่วยราชการต่างๆ ให้สูงขึ้นได้

นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.85 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการแบ่งข้าง/พวกพ้องจะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศลงได้

แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.16 ไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่จะมาถึงนี้ประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัด และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.14 มีความคิดเห็นว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดภายในระยะเวลายุทธศาสตร์ 20 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4