สวทช. ร่วมกับพันธมิตร จัดประกวด EV Cup 2018 ครั้งที่ 1 คัด 10 ทีมระดับอุดมศึกษา รับทุนสนับสนุนพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเตรียมพร้อมเยาวชนไทยรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่

อังคาร ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๓๑
ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จัดโครงการการแข่งขันพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1 (EV Cup 2018) ในรอบการแข่งขั้นครั้งที่ 1 "การแข่งขันด้านความเป็นไปเบื้องต้น (การนำเสนอ Concept Proposal)" โดยมีทีมเยาวชนระดับอุดมศึกษาจำนวน 17 ทีมร่วมประกวดออกแบบต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า 3-4 ล้อ เพื่อผู้สูงอายุสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน ผลตัดสินคัด 10 ทีมที่เป็นไปได้ในการผลิตและมีความต้องการในเชิงพาณิชย์ รับทุนสนับสนุนเบื้องต้นทีมละ 3,000 บาท พร้อมโอกาสฝึกอบรมความรู้ ออกแบบและทดสอบ พร้อมสร้างภาพต้นแบบจริงเพื่อแข่งขันในรอบที่ 2 และ 3 ต่อไปภายในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ หวังเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจและให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาได้พัฒนาตนเองเพื่อเรียนรู้และประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประธานเปิดงาน กล่าวว่า โครงการการแข่งขันพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้น เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. และศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศโดยเฉพาะเยาวชนระดับอุดมศึกษา ในเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ร่วมกับการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานเป็นทีม และการพิจารณาตัดสินใจคัดกรองในด้านต่างๆ ทั้งเทคนิค ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ และความเหมาะสมกับพื้นที่และผู้ใช้ เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

"EV Cup 2018 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการค่ายการเรียนรู้ยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1 (EV Camp 2018) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักศึกษาเข้าร่วมมากกว่า 100 คน และได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ สถานที่ดูงาน และวิทยากรให้ความรู้จากภาคเอกชนมากกว่า 10 หน่วยงาน โดยการแข่งขัน EV Cup 2018 ครั้งนี้ มีนักศึกษามากกว่า 20 สถาบัน รวมกว่า 300 คนสมัครเข้าร่วมแข่งขัน ด้วยโจทย์ต้นแบบยานยนต์ 3-4 ล้อ เพื่อผู้สูงอายุสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันในพื้นที่ถิ่นที่พักอาศัย ภายใต้กรอบข้อกำหนดทางวิศวกรรม ซึ่งโครงการได้อบรมเนื้อหาที่จำเป็นในการพัฒนาต้นแบบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ มุมมองเชิงธุรกิจ การรับทราบข้อกำหนดและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า การออกแบบโครงสร้างจัดวางระบบและความแข็งแรง เป็นต้น เพื่อต่อยอดและพัฒนาความรู้ความสามารถในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการปฏิบัติจริงอย่างมีเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม นับเป็นการสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มเยาวชน วิศวกรรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนนักวิจัยภายในประเทศด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าต่อไป"

รศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ประธานการจัดการแข่งขัน กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรยานยนต์ไฟฟ้า จึงจัดให้มีกิจกรรมที่จะพัฒนาตนเองและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในระดับภาคอุดมศึกษาในการที่จะเรียนรู้และประกอบอาชีพในอนาคตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป โดยกิจกรรมในโครงการนี้จะมีการให้ความรู้ควบคู่ไปกับการแข่งขัน โดยในการแข่งขันครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นรอบแรกจะเน้นแนวคิดและความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ โดยทุกกลุ่มที่เข้าแข่งขันรอบนี้จะมีการส่งคลิปเข้ามาก่อนโดยคิดเป็นคะแนน 20% จากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน และอีก 80% มาจากการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการการแข่งขันและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากฝั่งเทคนิค ฝั่งธุรกิจ และฝั่งผู้ใช้ประโยชน์ โดยแต่ละทีมมีเวลา 2 นาทีแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความเป็นไปได้ในการผลิตและมีความต้องการในเชิงพาณิชย์ และอีก 8 นาทีสำหรับตอบข้อซักถาม ซึ่ง 10 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดจะได้รับทุนสนับสนุนเบื้องต้น 3,000 บาท และมี Popular Vote อีก 1 รางวัล

ผลการแข่งขันรอบที่ 1 โดย 10 ทีมที่มีคะแนนสูงสุด ได้รับรางวัลทุนสนับสนุนเบื้องต้น 3,000 บาทต่อทีม ได้แก่ ทีม S-Engin จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม มด RC.V5 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / ทีม THE CIPS จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม EVUP2018 จากมหาวิทยาลัยพะเยา / ทีม THE KING MAN MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม M E & EV จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ / ทีม THE PRINCE OF MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม C-Ant จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / ทีมสยามเทค จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) / และทีม HIGH VOLTAGE จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีมที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการ ได้แก่ ทีม THE KING MAN MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทั้ง 10 ทีมที่ได้รับคัดเลือกในรอบที่ 1 จะได้รับทุนพัฒนาต้นแบบเพื่อประกวดในรอบที่ 2 ต้นเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะคัดไม่เกิน 10 ทีมเพื่อเข้าสู่รอบที่ 3 ในการค้นหาผู้ชนะเลิศของโครงการต้นเดือนมิถุนายน 2562 พร้อมรับโอกาสดูงานหรือฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมภายในและต่างประเทศ หรือโอกาสรับทุนพัฒนาต่อยอดต้นแบบ ตามโอกาสสมควรต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4