โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เพิ่มศักยภาพด้วยนวัตกรรม สู่โรงพยาบาล 4.0

จันทร์ ๒๔ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๔
โรงพยาบาลในยุค Thailand 4.0 จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านบุคลากร วิธีการรักษา การบริการ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่มีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า 3,000 คน จึงได้เพิ่มศักยภาพในการรักษาและการให้บริการของโรงพยาบาล ด้วยการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การพัฒนาระบบการให้บริการ รวมถึงการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ดังนี้

ระบบนัดหมายล่วงหน้า ลดการแออัดในโรงพยาบาล

การแออัดนับเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จึงได้นำตู้กดบัตรคิวอัตโนมัติมาใช้ เพื่อลดปัญหาการแออัดของจำนวนประชากรในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดระยะเวลาการเข้าตรวจของคนไข้ การจัดระบบการนัดคนไข้ ลดการแออัดของประชาชน ซึ่งตู้กดคิวจะเปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 7.00 น. โดยจะใช้ระยะเวลาในการกดเพียงแค่ครึ่งนาที สามารถเพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้ได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้คำแนะนำในการใช้ตู้กดคิวอัตโนมัติ และมีเงื่อนไขว่าคนไข้ที่จะใช้ตู้กดคิวอัตโนมัติได้จะต้องเป็นคนไข้ที่มีนัดตรวจในวันนั้นเท่านั้น

หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด ลดบุคลากร เพิ่มความแม่นยำ

โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่รับผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ามาทำการรักษาทั้งในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดข้างเคียงเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละวันมีปริมาณการใช้ยาเคมีภัณฑ์รักษาโรคมะเร็งอยู่ที่ 120 - 200 โดสต่อวัน จึงทำให้ต้องใช้บุคลากรในการผสมยาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เสียบุคลากรในการให้บริการงานด้านอื่น ๆ ดังนั้น โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จึงได้นำหุ่นยนต์ผสมยา (Health Robotics) มาใช้ในการผสมยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกที่นำมาใช้ในประเทศไทย โดยหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 โดสต่อชั่วโมง จึงช่วยลดปริมาณบุคลากรที่มาผสมยา ให้สามารถไปปฏิบัติงานอื่นได้ นอกจากนี้ การใช้หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัดมีความแม่นยำเป็นอย่างมาก ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการผสมยาผิดปริมาณอีกด้วย

จักษุวันเดย์ ผ่าตัดตาวันเดียวกลับ

ต้อกระจกเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น กั้นมิให้แสงผ่านทะลุเข้าไปได้ทำให้ตามัวถึงขั้นมองไม่เห็น การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้พัฒนาบริการผ่าตัดต้อกระจกแบบไม่นอนพักในโรงพยาบาลขึ้น หรือที่เรียกว่า จักษุวันเดย์ (One Day Surgery : ODS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย โดยการใช้คลื่นเสียงหรืออัลตราโซนิคเข้าไปสลายต้อกระจกและดูดออก แล้วนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่แทน การผ่าตัดนี้มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก จึงไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล ระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดไม่นาน

ECS ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน

ในแต่ละปี มีผู้ป่วยมารับบริการในห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จึงได้พัฒนาระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System : ECS) ขึ้น เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาสมรรถนะทีมกู้ชีพ โดยใช้หุ่น Simulation การเสริมความรู้แก่เยาวชนด้านการกู้ชีพและแจ้งเหตุ 1669 การเพิ่มช่องทางด่วนในการให้บริการ ได้แก่ STEMI Fast track, Stroke Fast Track, Trauma Fast Track และการนำระบบ Tele-med มาใช้ในงาน EMS ซึ่งเป็นระบบที่นำกล้องไปติดกับรถพยาบาลที่ไปรับผู้ป่วย จากนั้นระบบจะออนไลน์มาที่ศูนย์กู้ชีพที่มีแพทย์เวรดูแลอยู่ ซึ่งจะสามารถดูอาการผู้ป่วยได้เบื้องต้น และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือแบบถูกวิธี โดยเครื่องดังกล่าว ยังสามารถส่งสัญญาณชีพ การเต้นของหัวใจ และความดันของผู้ป่วยมายังศูนย์กู้ชีพได้อีกด้วย

BudTEC พัฒนาคุณภาพการรักษา เพิ่มความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย

ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะระบบจำลองทางการแพทย์ (Buddhachinaraj Simulation Education and Training Center : BudTEC) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการทางวิชาการในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในระดับหลักสูตรก่อนและหลังปริญญา โดยประกอบด้วย 3 ศูนย์ย่อย ดังนี้

1. ศูนย์ทักษะหัตถการทางคลินิก (Buddhachinaraj Clinical Skill Laboratory Center) เป็นห้องฝึกปฏิบัติการทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์และหุ่นจำลอง จำนวน 3 ห้อง

2. ศูนย์ฝึกอบรมทักษะระบบจำลองชั้นสูงทางการแพทย์ ประกอบ ห้องบรรยายขนาด 30 ที่นั่ง 1 ห้อง ห้องจำลองสถานการณ์ จำนวน 2 ห้อง ได้แก่ ห้องจำลองใน ICU และห้องคลอด ห้องประชุมและสังเกตการณ์ จำนวน 2 ห้อง

3. ระบบคลังผู้ป่วยจำลอง (Standardized patients)

อุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย พร้อมให้บริการทุกระดับ

นอกจากแพทย์และพยาบาลจะมีความสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่พร้อมให้บริการผู้ป่วยทุกระดับ เช่น

- เครื่องฉายรังสีพื้นฐานแบบ 2 มิติ (Cobalt - 60 Machine) สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ถึง 60 - 80 รายต่อวัน หรือ 26,000 - 35,000 ครั้งต่อปี

- เครื่องฉายรังสีระยะใกล้ (เครื่องใส่แร่ : Brachytherapy) ใช้สำหรับฉายรังสีบริเวณที่เป็นช่องหรือโพรงในร่างกาย ซึ่งสามารถสอดใส่สารรังสีชิดบริเวณรอยโรค สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 6 - 10 รายต่อวัน สามารถฉายรังสีระยะใกล้แก่ผู้ป่วย 1,300 - 2,200 ครั้งต่อปี

- เครื่องฉายรังสีแบบเร่งอนุภาค 2 พลังงาน (LINAC) เป็นเครื่องฉายรังสีด้วยเทคนิคทั้ง 2 มิติ 3 มิติ และเทคนิคแบบก้าวหน้า สามารถรองรับการใช้บริการ 80 - 100 รายต่อวัน ซึ่งช่วยลดการส่งต่อ 1 ใน 3 ลดคิวการฉายรังสีที่สถาบันมะเร็งจังหวัดลำปาง สถาบันมะเร็งจังหวัดลพบุรี และสถาบันมะเร็งจังหวัดอุดรธานี

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาและให้บริการประชาชน ให้สมกับเป็นโรงพยาบาลในยุค Thailand 4.0 และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศในทุกกลุ่มวัย การบริการที่เป็นเลิศ คนเป็นเลิศ และการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ซึ่งโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก พร้อมที่จะให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชนทุกระดับ ดังวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ว่า "โรงพยาบาลคุณธรรม นำสู่บริการที่เป็นเลิศ"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4