กฤษฎา เดินหน้านโยบายเกษตรประชารัฐช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ดึงสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอผลิตปุ๋ยใช้เองจำหน่าย

พุธ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๙ ๑๗:๒๐
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายในการประชุมชี้แจงแนวทางการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตผ่านสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมเองที่มีธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินแต่ละพื้นที่ และตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 462 แห่ง จำนวน 900 คน ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์เร่งหาวิธีลดต้นทุนปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย ซึ่งจะต้องเร่งรัดจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ถูกลง 30 % เนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดิน ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน นั้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการผลิตปุ๋ยผสมใช้เองตามค่าการวิเคราะห์ดิน และจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการปุ๋ยผสมใช้เองฯ โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม และผลักดันให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวกลางในการสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้กับสหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้จำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน จะวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เองซึ่งจะมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม และกรมวิชาการเกษตรให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะมีการตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโดยให้สหกรณ์กู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

"การประชุมในครั้งนี้เพื่อเชิญชวนสหกรณ์ทั่วประเทศ กว่า 400 แห่ง มาร่วมกับขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วิธีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเอง โดยให้ 4 เสือ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ร่วมกันให้ความรู้วิธีการผสมปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดินบริเวณนั้น โดยมีเป้าหมาย 1 แสนตัน ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์แจ้งความต้องการปุ๋ยผสมใช้เอง รวม 70,000 ตัน ซึ่ง มี.ค. จะเริ่มลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร และ เม.ย. จะเริ่มฤดูกาลผลิต" นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับแนวทางเพิ่มเติมในการลดต้นทุนการทำเกษตร ได้แก่ การทำเกษตรระบบโควตา โดยกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกันสำรวจความต้องการสินค้าเกษตร พื้นที่ไหนจะปลูกอะไรต้องดูตลาด เพื่อกำหนดโควต้าตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ให้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 35 ล้านไร่ ที่จัดสรรให้เกษตรกร 7 ล้านครัวเรือนว่าพื้นที่ใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ให้เข้าไปปรับปรุงทำเป็นแปลงใหญ่ โดยเชิญภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามาร่วมกันบริหารจัดการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชในพื้นที่นั้นๆ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่รกร้างหรือเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำการเกษตรเนื่องจากอายุมาก ลูกหลานไม่ทำกิจการต่อ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจหาวิธีการช่วยเหลือ โดยใช้ Young Smart Farmer เข้าไปบริหารจัดการ เป็นการจ้างแรงงานซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด แจ้งรายละเอียดของโครงการนี้ไปยังสหกรณ์ต่าง ๆ และมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 462 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่ง ได้แจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว จำนวน 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้กับแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 161,462 ราย ทั้งนี้ หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มาจากค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตปุ๋ยให้กับเกษตรกรได้ประมาณปีละ 2,000 บาท/ตัน และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมใช้เอง ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 228.38 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีสหกรณ์เห็นประโยชน์ที่จะช่วยสมาชิกและเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมเอง ก็สามารถแจ้งความประสงค์และแจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยได้เพิ่มเติม โดยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และในอนาคตกรมฯคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จะสามารถนำข้อมูลจากการเก็บค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิกเป็นรายแปลงมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดหาปุ๋ยหรือบริการผสมปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4