กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ก่อนทยอยประกาศใช้ภายใน 2 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและประโยชน์ต่อสมาชิกสหกรณ์

พุธ ๑๕ พฤษภาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๓๔
กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีรับฟังความเห็น 2 วันต่อเนื่อง ถกร่างกฎกระทรวง 13 ฉบับกำกับดูแลสหกรณ์ ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ตามพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 เตรียมนำความเห็นฝั่งสหกรณ์สรุปเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา พร้อมทยอยประกาศใช้ภายใน 2 ปี

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นพิจารณา ร่างกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลูกประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 ปีพ.ศ. 2562 ตามมาตรา 89/2 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนเป็นการเฉพาะ จำนวน 13 ฉบับ โดยแบ่งเป็น 1.การกำหนดขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 2.การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์และผู้จัดการ 3.การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ 4.การให้กู้และการให้สินเชื่อ 5.การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันด้วย 6.การดำรงเงินกองทุน 7.การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 8.การฝากเงินหรือการลงทุน 9.การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล 10.การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง 11.การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี 12.การจัดเก็บและรายงานข้อมูล และ 13.เรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและกำกับดูแล

ทั้งนี้ กรมฯได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนติดต่อกัน 2 วัน คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นเวทีรับฟังความเห็นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 154 แห่ง และในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นการรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5000 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 1,771 แห่งทั่วประเทศ โดยได้ถ่ายทอดสดผ่าน Video Conference ไปยังทุกจังหวัด ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 จำนวน 13 ฉบับนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยกร่างจนเสร็จสิ้น และได้มีการประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตสหกรณ์ยูเนี่ยน เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ และจัดประชุมตัวแทนสหกรณ์และเครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ที่ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯพร้อมรับฟังความคิดเห็นรวมถึงปัญหาอุปสรรคของสหกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลังจากที่กฎกระทรวงนี้ถือบังคับใช้ ซึ่งการถือใช้กฎหมายนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคง ในการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน และยังคงยึดหลักอุดมการณ์และวิธีการสหกรณ์เหมือนเดิม เพียงแต่บางเรื่องจำเป็นต้องมีเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% จากปริมาณสินทรัพย์ของสหกรณ์ทุกประเภทรวมกัน ดังนั้น สหกรณ์ต้องสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก เนื่องจากสมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นในสหกรณ์ ฝากเงินในสหกรณ์ และส่วนหนึ่งก็กู้ยืมเงินสหกรณ์ไปใช้ในการดำรงชีวิต พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการกำกับสินเชื่อ เงินฝากและค่าหุ้นของสมาชิก และช่วยคุ้มครองเงินของสมาชิกที่อยู่ในสหกรณ์ ส่วนผู้ที่กู้เงินจากสหกรณ์ไปก็ใช้ตามหลักเกณฑ์ใหม่ เรื่องของการกำกับดูแลไม่ให้เกิดหนี้เสีย และช่วยให้การใช้เงินไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์จะลดน้อยลง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงและเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสหกรณ์โดยรวม

อย่างไรก็ตามในการเปิดรับฟังความเห็นตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ ตัวแทนสหกรณ์ต่าง ๆ ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ บางส่วนขอให้ชะลอและทบทวนการออกกฎกระทรวงในบางข้อที่จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องการลงทุนของสหกรณ์ การรับฝากเงินของสหกรณ์ การให้เงินกู้แก่สมาชิกและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งฝั่งสหกรณ์อยากให้รับฟังความเห็นให้ครบถ้วนและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมฯจะรับข้อเสนอและความคิดเห็นจากตัวแทนสหกรณ์มาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งกฎหมายให้เวลา 2 ปี กรมฯจะต้องทยอยประกาศใช้จนกว่าจะครบ 13 ฉบับ หากเรื่องไหนที่ความคิดเห็นยังไม่ตรงกัน ก็จะจัดเวทีเชิญฝ่ายสหกรณ์และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุดกับสหกรณ์

สำหรับพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายสำคัญในการกำกับดูแล คุ้มครอง และพัฒนาระบบสหกรณ์ทั่วประเทศได้ถูกประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา และกำลังจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน คือ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ซึ่งความเป็นมาของพ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่นี้ ได้ปรับปรุงจากพ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยการแก้ไขรายละเอียดบางมาตราให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ