สจล. ก้าวสู่ปีที่ 60 เตรียมปั้นนักศึกษาและคณาจารย์ สู่การเป็นนวัตกรเคียงคู่สังคมไทย เสนอ 6 แนวคิดการพัฒนานักศึกษาสู่บัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ

พฤหัส ๐๖ มิถุนายน ๒๐๑๙ ๑๑:๔๐
ยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและไม่หยุดนิ่ง (Era of Disruption) กำลังจะกลืนกินศักยภาพและความเป็นตัวเรา ไปพร้อมกับกระแสของเทคโนโลยีดิจิทัล หากเราไม่เท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้ ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่ประกอบด้วย ความรวดเร็ว (Speed) ความไร้พรมแดน (Transborder) และความเชื่อมโยงพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) การลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ (Time and Space) ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ พี่เอ้ กล่าวว่า ความจำเป็นในการปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในมิติการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาของไทยจึงมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสานจุดแข็งของประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในโลกดิจิทัล คุณภาพชีวิตและความเป็นส่วนตัว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจริยธรรมในโลกดิจิทัล ของยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) ที่เกิดขึ้นขณะนี้ สจล. ได้ปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้จุดแข็งของสถาบันฯ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 ในการเป็นรากฐานการพัฒนานวัตกรรมเคียงคู่สังคมไทย กับ 6 แนวคิดการพัฒนานักศึกษาสู่บัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ

GO Transformation : จัดการกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โลกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำลายกำแพงแห่งความเป็นไปไม่ได้ของมนุษย์และสรรพสิ่ง และดูเหมือนว่าเทคโนโลยีกำลังจะเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และการเมือง โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากการต่อรองด้านเทคโนโลยี ภาคธุรกิจดั้งเดิมและบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกล้วนเผชิญกับความเสี่ยงของเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) จากสตาร์ทอัพและผู้เล่นหน้าใหม่ในโลกเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างบุคลากรคลื่นลูกใหม่ที่มีทักษะความรู้ในโลกดิจิทัล เช่น เอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์ (Cloud) อินเทอร์เน็ตออฟติง (Internet of Thing – IoT) เป็นต้น จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจทั้งดั้งเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ ข้อดีของเทคโนโลยีดิสรัปชันคือการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อีมุมหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเท่าทัน ดังนั้น คลื่นลูกใหม่นอกจากจะเป็นความหวังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแล้ว ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมทางเทคโนโลยีโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย

GO Creativity : การออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก

การปั้นบัณฑิตให้เป็นดิสรัปเตอร์ (Disruptor) ที่มีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ ของยุคนี้ เพราะคนเหล่านี้คือผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และด้วยลักษณะเฉพาะตัวของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความรวดเร็วและเชื่อมโยงกัน การออกแบบหลักสูตรรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน เพราะโลกกำลังคาดหวังบุคลากรที่มีทักษะหลากหลาย มีวัฒนธรรมเปิดกว้างทางความคิด สร้างสรรค์ผลงานผ่านทีมเวิร์ค คล่องแคล่ว และกระตือรือร้น ตอบโจทย์ในยุคที่แบรนด์ด้านเทคโนโลยีมีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจสูงสุด (Disruptive Brands) เช่น เน็ตฟลิค (Netflix) อูเบอร์ (Uber) เทสล่า (Tesla) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ฯลฯ ที่เข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิตแบบเดิมของผู้คนให้สะดวกสบายและมีทางเลือกเพิ่มมาขึ้น เราจึงมีเพียงสองหนทางคือ การเป็นดิสรัปเตอร์สร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมา หรือยอมถูกดิสรัปกับการไม่เปลี่ยนแปลง

GO Active Learning : รูปแบบการเรียนการสอนสอดรับปรับเปลี่ยน

การเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เพียงแค่คลิกนิ้วลงบนสมาร์ทโฟนก็จะได้เรียนรู้กับสิ่งต่างๆ รอบด้วยได้อย่างง่ายดาย ด้วยเวลาอันรวดเร็ว การออกแบบหลักสูตรที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนด้วย ลดการเรียนแบบบรรยาย เพิ่มการเสวนาหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำโปรเจคหรือประดิษฐ์นวัตกรรม การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์สมมติในระบบเกม (Gamification) เป็นต้น ดังนั้น ครูจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้บรรยาย (Lecturer) มาเป็นโค้ช หรือผู้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Facilitator) เปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาต้องการจะเรียนรู้ ควบคู่กับการทำงานจริงกับพาร์ทเนอร์ การเรียนการสอนเด็กในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการคิดสร้างสรรค์และเน้นการทำงานเป็นทีม ที่พร้อมด้วยทักษะด้านวิชาการและทักษะด้านการใช้ชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กเข้าใจและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ได้อย่างดี

GO Facilitators : ครูกับความคาดหวังใหม่ๆ ที่ต้องมีทักษะมากกว่าการสอนในเชิงวิชาการ

เป้าหมายของสจล. ที่มุ่งสร้างนวัตกรไทยไปสู่การเป็นซิลิคอน แวลีย์แห่งใหม่ของเอเชียนั้นไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เกิดจากการวางแผนสร้างต้นแบบ หรือ "โค้ช" ที่มีประสบการณ์และคลุกคลีกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแรงผลักสำคัญในการสร้างดิสรัปเตอร์นักเปลี่ยนแปลง และเชื่อหรือไม่ว่าผลงานของคนไทยผู้ออกแบบซอฟต์แวร์สิริ (Siri) บนแพลตฟอร์มของแอปเปิ้ล (APPLE) อย่างไอโฟน (iPhone) ไอแพด (iPad) ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เสมือนมนุษย์จริง ผู้บุกเบิกระบบเอไอยุคแรกที่ทำให้คนทั่วโลกได้ใช้งาน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ บุญจริง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สจล. ไม่เพียงแค่ท่านเท่านั้น แต่ยังมีนักวิชาการและนักวิจัย ลูกพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม ประสบการณ์และวิธีคิดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญไปกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียน ผนวกกับแนวคิด "เด็กคือผู้ออกแบบครู" ที่สจล. ยึดถือ รวมถึงการสอดแทรกทักษะการเข้าสังคมและทักษะด้านอารมณ์ จะสามารถสร้างดิสรัปเตอร์ให้เท่าทันโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

GO Smart Disruptor : การสร้างทักษะการเรียนรู้ในยุคดิสรัปชันที่เด็กจะต้องมี

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมเดิมไปสู่โลกแห่งดิจิทัล ทั้งในแง่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกอย่างสะดวกสบายขึ้นเพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Smart Gadget) ก็สามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น โลกย่อมคาดหวังทักษะที่เปลี่ยนแปลงของคลื่นลูกใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม นอกเหนือไปจากการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์แล้ว ทักษะในเชิงสังคมและอารมณ์ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถสมบูรณ์แบบ เช่น ทักษะการรับมือและแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการวิพากษ์ ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น โดยทักษะเหล่านี้จะเป็นผลมาจากการผสานความรู้ ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อมรอบตัวที่จะหล่อหลอมคลื่นลูกใหม่ให้มีความรู้ความสามารถในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ การพัฒนาหลักสูตรที่จะสร้างทักษะการเรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของสจล. เพื่อเน้นย้ำจุดยืนการเป็นรากฐานด้านนวัตกรรมให้กับสังคมไทย จากฝีมือคนไทย

GO Collaboration : ผ่านการผสานความร่วมมือจากนักศึกษาพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น จำเป็นจะต้องผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบโปรดักทีฟ (Productive) หรือการเรียนรู้สองทาง (Two – way Learning Based) นักศึกษาคลื่นลูกใหม่คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด ผ่านเครื่องมือการฟังและการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นกระบวนการคิด การฝึกตั้งคำถามและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เพื่อก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน (Comfort zone) นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนจากการจัดเก็บข้อมูลจากซีดีสู่ระบบคลาวด์ และไม่อาจคาดเดาโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน เพราะฉะนั้น การปรับตัวและยอมรับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทดลองทำในสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เราได้ไปต่อในโลกเทคโนโลยีดิสรัปชันและไม่สูญพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ดุเดือด

สุดท้ายนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 หากเปรียบเทียบกับอายุคนถือว่าล่วงมากว่าครึ่งชีวิต แต่ในแง่มุมของประสบการณ์และการสร้างบัณฑิตสู่การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ถือได้ว่าลูกพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังได้ใช้ศักยภาพและอยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ สจล. ได้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและคณาจารย์ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง เพื่อสร้างดีเอ็นเอให้กับครูและบัณฑิตในยุคดิจิทัลพร้อมถ่ายทอดสิ่งดีๆ สู่สังคมและชุมชน จากจุดยืนการเป็นสถาบันฯ รากฐานนวัตกรรมเพื่อสังคมไทย จากฝีมือคนไทย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทร.02-329-8111 เว็บไซต์ kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4