เมื่อการแพทย์แผนโบราณของเอเชีย ร่วมกระตุ้นการลักลอบค้าเสือ!

พฤหัส ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๑๙
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ทำการเปิดเผยข้อมูลผลวิจัยที่อ้างอิงถึงวงจรการค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ในตระกูลเสือและสิงโต (Big Cats) ที่กำลังถูกล่าจากป่าอย่างผิดกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่นิยมนำอวัยวะและกระดูกมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ "เชื่อกันว่า" สามารถรักษาโรคไขข้อ เสริมสร้างความแข็งแรง และเพิ่มสมรรถนะทางเพศได้ เช่น ยาแผนโบราณ และเครื่องดื่มชูกำลังสูตรท้องถิ่นที่ไม่พบสรรพคุณทางยาใดๆ นับเป็นครั้งแรกที่มีการตีแผ่ให้เห็นถึงแง่มุมอันตรายของมนุษย์และความเสี่ยงที่เสือและสิงโตเหล่านี้ต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผลงานวิจัย Trading cruelty – how captive big cat farming fuels the traditional Asian medicine industry เปิดชี้ให้เห็นถึงเบื้องหลังของการเพาะพันธุ์สิงโตในทวีฟแอฟริกา และการเพาะพันธุ์เสือในทวีปเอเชียที่มุ่งสนองตอบอุปสงค์ความต้องการของตลาด โดยนำเสนอหลักฐานอันน่าสะเทือนใจที่แสดงให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานที่เหล่าสรรพสัตว์ต้องเจอ จากแรกเริ่มสู่จุดจบอย่างเดียวดาย ต้องเผชิญทั้งการถูกขังในกรงเล็กๆ เหมือนฟาร์มในระบบอุตสาหกรรม เช่น การสร้างกรงขนาดเล็กเรียงเป็นแถวเพื่อขังเสือและสิงโตหลายร้อยตัว ในทวีปเอเชีย การพบว่าลูกสิงโตมักเดินวนเวียนร้องเสียงโหยหวนไปรอบๆ กรง หรือแม้กระทั่งลูกสิงโต ที่อยู่อย่างไร้ความรู้สึกและมีร่างกายพิการ เพราะผลพวงจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในทวีปแอฟริกาใต้

ผลการวิจัยยังนำเสนออีกด้านของห่วงโซ่อุปทาน โดยบอกเล่าถึงแง่มุมทัศนคติของมนุษย์ที่แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ พบว่า

- 4 ใน 5 (89%) ของผู้ที่ใช้ยาแผนโบราณของเอเชียในประเทศเวียดนาม เชื่อถือในสรรพคุณที่ยัง ไม่ผ่านการพิสูจน์ ของผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเสือและสิงโต และ 1 ใน 4 ยังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสัตว์ป่า อย่างพลาสเตอร์กระดูกเสือ ' และเหล้ากระดูกเสือ

- 9 ใน 10 (84%) ของกลุ่มชาวเวียดนามที่บริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นิยมผลิตภัณฑ์จากเสือที่จับได้จากป่ามากกว่าเพาะพันธุ์จากฟาร์ม

- กว่า 2 ใน 5 (40%) ของผู้ที่เข้ารับการสำรวจในประเทศจีน มักใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของเสือ

- ผู้บริโภคชาวจีนกว่าครึ่ง (55%) สนใจผลิตภัณฑ์จากเสือที่จับได้จากป่ามากกว่าจากฟาร์ม โดย 72% อ้างว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากป่ามีคุณสมบัติที่ดีกว่ามาจากฟาร์ม

เหล่านี้นับเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจฟาร์มเสือ ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวกระตุ้น การล่าสัตว์และทารุณสัตว์แบบผิดกฎหมายเพียงเพื่อตอบสนองการใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณของเอเชีย โดยเฉพาะเสือสายพันธุ์ต่างๆ และสิงโตที่นับเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ทั่วโลกร่วมกันอนุรักษข้อเท็จจริงที่ว่าลูกสิงโตบางตัวในฟาร์มที่ทวีปแอฟริกาใต้ถูกพรากจากแม่ของมันในป่า และอีกหลายตัวที่เกิดจากการเพาะพันธุ์แบบเลือดชิดในฟาร์ม วงจรชีวิตของพวกมันเริ่มต้นจากการถูกเลี้ยงดูในฟาร์ม เมื่อโตขึ้นจะถูกใช้เพื่อความบันเทิงในกิจกรรม "จูงสิงโตเดินเล่น" จากนั้นพวกมันจะถูกส่งไปเป็นเหยื่อของมนุษย์นักล่าในเกมส์ล่าสัตว์ที่ต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกล่าเพื่อเอาหนังและหัวเป็นรางวัล ส่วนกระดูกจะถูกส่งออกอย่างถูกกฎหมายผ่านโควต้าการส่งออกที่มีเฉพาะในทวีปแอฟริกาใต้ ก่อนจะเดินทางข้ามทวีปสู่ตลาดการค้าในเอเชียอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระดูกสัตว์ เช่น การทำยาแผนโบราณ หรือเหล้ากระดูกเสือ เครื่องดื่มที่หลายคนหลงเชื่อว่าช่วยในการบำรุงกำลังและรักษาโรคไขข้อ

ในประเทศจีนมีการทำฟาร์มเพาะพันธุ์เสือขนาดใหญ่ โดยสร้างกรงเล็กๆ เรียงรายเป็นแถวเพื่อกักขังเสือ ที่น่าสงสาร ซึ่งพวกเขาให้เพียงอาหารและน้ำ เพียงเพื่อเลี้ยงพวกมันให้มีชีวิตรอดไปวันๆ เท่านั้น ส่งผลให้หลายตัวต้องหิวโซและผอมแห้งอย่างขาดสารอาหาร รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงอีกมากมายทั่วเอเชียที่นิยมโชว์การแสดงเสือและให้บริการถ่ายรูปร่วมกับเสือ และมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสือวางจำหน่ายอีกด้วย

สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงการทารุณเสือว่า "ทุกวันนี้มีเสือถูกขังและใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดอยู่ในฟาร์มเสือทุกภาคของประเทศไทยซึ่งเสือเหล่านี้ต่างถูกเลี้ยงโดยไร้สวัสดิภาพใดๆ เช่น ถูกล่ามโซ่ เลี้ยงในกรงแคบ หรือแม้แต่ถูกบังคับให้ผสมพันธุ์กับญาติสายเลือดใกล้ชิดส่งผลให้ได้ลูกเสือที่ไม่แข็งแรง ซึ่งเสือเหล่านี้ต่างตกเป็นเหยื่อความบันเทิงของมนุษย์ และเราเชื่อว่า "เสือควรอยู่อย่างเสือ" คืออยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ อยู่ในผืนป่าอันเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ ดังนั้นผมอยากขอร้องให้ทุกท่านหยุดการสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่กักขังเสือเพื่อความบันเทิง และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสือ เช่น ยาสมุนไพร เหล้ากระดูกเสือ เครื่องประดับ วัตถุมงคลและเครื่องรางต่างๆ ฯลฯ"

Dr. Jan Schmidt-Burbach ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่าโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า "นับเป็นความเลวร้ายที่รุนแรงที่สุดที่ชีวิตของเสือที่ต้องเผชิญทุกข์ทรมานตามลำพัง เห็นโลกภายนอกได้เพียงผ่านซี่กรงเหล็ก สัมผัสเพียงพื้นคอนกรีตแข็งๆ ใต้ฝ่าเท้า และไม่เคยได้ใช้สัญชาตญาณนักล่าตามธรรมชาติ และในทางกลับกันพวกมันถูกพรากจากอกแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ถูกบังคับให้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เพียงเพื่อทำการแสดงในฐานะนักแสดงสร้างความบันเทิง หรือแม้กระทั่งถูกยิงหรือฆ่าทิ้งเพียงเพื่อนำร่างมาใช้ประโยชน์ ผมเชื่อว่า สัตว์ที่น่าทึ่งเหล่านี้ไม่ควรมีชีวิตที่เลวร้ายเช่นนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในฟาร์มหรือในสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง สัตว์ที่อยู่ในห่วงโซ่ขั้นบนสุดของระบบนิเวศเหล่านี้ไม่ใช่ของเล่น หรือเป็นเพียงยารักษาโรค แต่เสือเหล่านี้ควรได้ใช้ชีวิตที่คุ้มค่ากับการมีชีวิตด้วยตัวมันเอง"

ในขณะที่การวิจัยทัศนคติของผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง แต่ก็ยังแฝงถึงแนวโน้มเชิงบวกเช่นกัน โดยแสดงให้เห็นว่าระหว่าง 60 – 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเวียดนามและชาวจีนกล่าวว่าพวกเขาจะหยุดซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ในตระกูลเสือ หากพวกเขารู้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง การอนุรักษ์ สวัสดิภาพหรือกฎหมาย นอกจากนี้ผู้บริโภคสัตว์ตระกูลเสือและสิงโต 68% ก็เต็มใจที่จะลองใช้สมุนไพรทางเลือกหากมีราคาถูก

ขณะเดียวกันองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกกำลังทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนในการป้องกันการทำทารุณกรรมสัตว์ทั่วโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราตรวจพบว่ามีการล่าเสือจากัวร์ในอเมริกาใต้เพื่อส่งมาทำเป็นยาแผนโบราณในเอเชีย จึงเร่งประสานขอความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรต่างๆ รวมถึงได้ร่วมรณรงค์ให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อลดความต้องการในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ตระกูลเสือและสิงโตไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนการใช้สมุนไพรทางเลือกอื่นๆ ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลก

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th หรือร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงที่ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ได้ที่ http://bit.ly/2L8Faia

ข้อมูลเพิ่มเติม

- รายงาน Trading cruelty – how captive big cat farming fuels the traditional Asian medicine industry'

- รายงาน jaguar report

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ