Ajinomoto Co., Inc. ก้าวสู่ความท้าทายใหม่ ขยะพลาสติกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2573

ศุกร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๐๘:๕๕
Ajinomoto Co., Inc. ก้าวสู่ความท้าทายใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการปลุกเร้าความสนใจเกี่ยวกับขยะพลาสติกให้ตื่นตัวอีกครั้ง ทั้งในสื่อทั่วไปและสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลและมหาสมุทรที่กลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในปัจจุบัน รวมถึงการปรากฏตัวของ "ไมโครพลาสติก" ที่เป็นอนุภาคพลาสติกขนาดความยาวเล็กกว่า 5 มม. ไมโครพลาสติกประกอบด้วยเส้นใยขนาดเล็กที่ได้จากใยสังเคราะห์ไมโครบีดส์ นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทสุขอนามัยและความงาม และพลาสติกอนุภาคเล็กอื่น ๆ ที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกขนาดใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใด เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ผู้คนและบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวนนับไม่ถ้วนได้พยายามทำตามแนวทางการ "ลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล" เพื่อลดขยะพลาสติกโดยการลดปริมาณพลาสติกที่ต้องใช้ รวมถึงจำนวนพลาสติกที่ต้องทิ้งไปด้วย แต่ปัญหาด้านพลาสติกเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก เหมือนตัวพลาสติกเองที่ย่อยสลายยากและดูเหมือนจะไม่หายไปไหน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลาสติกที่คุณควรรู้

- มีการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตันในปี พ.ศ. 2493 เป็น 380 ล้านตันในปี พ.ศ. 25582

- พลาสติก 7,800 ล้านตันที่ผลิตได้ในปี พ.ศ. 2493 ถึงพ.ศ. 2558 จำนวนประมาณครึ่งหนึ่งมีการผลิตในช่วงเพียง 13 ปีที่ผ่านมานี้2

- การผลิตพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าจำนวนประชากรโลก

การลดการผลิตพลาสติก

หากคุณคิดถึงการกำจัดขยะ คุณจะต้องนึกถึงหลักการ "3 R" - Reduce (ลด) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (รีไซเคิล) ซึ่งจัดเรียงลำดับกันตั้งแต่ ทำได้ง่ายสุด ไปจนถึงทำได้ยากที่สุด และในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารระดับโลก บริษัท Ajinomoto ได้มุ่งความสนใจไปที่การลดการผลิตพลาสติกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ความพยายามในการลดการใช้พลาสติกประสบความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ 72 ชนิด นั่นทำให้สามารถลดการใช้พลาสติกต่อปีไปได้ถึง 3,500 ตัน เพื่อให้เห็นภาพว่าปริมาณนี้มีจำนวนมากแค่ไหน ให้ลองนึกถึงช้างเอเชียขนาดทั่วไปที่มีน้ำหนักประมาณ 2.5 – 5.5 ตัน ซึ่งเราสามารถลดการใช้ขยะพลาสติกลงได้คิดเป็นปริมาณเท่ากับช้าง 1,000 ตัวต่อปี3

ในบางกรณี เราสามารถใช้วัสดุอื่นแทนพลาสติกได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส "HON-DASHI(R)" จากพลาสติกเป็นกระดาษ ทำให้เราสามารถลดการใช้พลาสติกลงไปได้ถึง 11 ตันต่อปี

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พลาสติกเพื่อความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ เราใช้การพัฒนาปรับปรุงรูปร่างและวิธีการบรรจุ รวมถึงทำให้ผลิตภัณฑ์มีขนาดกะทัดรัดขึ้น (น้ำหนักเบา) เพื่อช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป "Blendy(R) Cafe Latory(R)" เราสามารถลดขนาดความยาวบรรจุภัณฑ์แบบ "แท่ง" ลงได้ 20 มม. ทำให้สามารถลดการใช้ขยะลงไปได้อีก 20 ตัน

เรามีผลิตภัณฑ์ที่ลดขนาดบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้มุ่งเป้าไปแค่เฉพาะผลิตภัณฑ์ในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เราสามารถลดการใช้พลาสติกไปได้กว่า 2,000 ตันต่อปีโดยการออกแบบขนาดใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส "Masako(R)" ที่ขายในประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

Eat Well, Live Well.

แล้ว "การใช้ซ้ำ" ล่ะ?

"การใช้ซ้ำ" หรือ Reuse เป็น R ตัวที่สองในจำนวน "3 R" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีหากวัสดุถูกต้องเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น เราใช้แก้วซ้ำเสมอ เนื่องจากมีความแข็งแรงและทำความสะอาดได้ง่าย แน่นอนว่ามีสินค้าพลาสติกที่มีความทนทาน เช่น ถาดที่ใช้ในโรงอาหารและเก้าอี้ที่ใช้ภายนอกอาคาร ซึ่งจะมีการใช้ซ้ำหลายครั้ง แต่พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดเพ็ท (PET) ไม่เหมาะสำหรับการนำกลับมาใช้ซ้ำเนื่องด้วยเหตุผลความแข็งแรงและความสะอาด

การรีไซเคิล (การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่): ความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุด

โชคร้ายที่การลดการใช้พลาสติกยังไม่เพียงพอ ที่จะลดขยะพลาสติกในโลกของเรา เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เราต้องมุ่งความสนใจอย่างมากไปที่การรีไซเคิล สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ การรีไซเคิลพลาสติกอาจฟังดูไม่ยากมากนัก แค่แยกขวดน้ำพลาสติกออกจากขยะอื่น ๆ แล้วรถเก็บขยะก็มาเก็บทุกอย่างไป แต่ความจริงคือ การรีไซเคิลพลาสติกมีความซับซ้อนกว่าที่ผู้คนคิดมาก เหตุผลคือ พลาสติกมีมากมายหลายชนิดแตกต่างกัน และมีหลากหลายวิธีที่จะสามารถทำการรีไซเคิลได้

ในบรรดาพลาสติกเหล่านี้ ขวดเพ็ทเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ง่าย เหตุผลก็คือ ขวดเพ็ททั้งขวดประกอบด้วยพลาสติกเพียงชนิดเดียวคือ "โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต" (Polyethylene Terephthalate: PET) ดังนั้น ขวดเพ็ทจึงสามารถบีบอัดเข้ากันและสามารถนำมาใช้ทำขวดใหม่ได้ หรือนำมาใช้ทำวัสดุใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สิ่งทอ สินค้าพลาสติกชนิดอื่น เช่น ถาดในโรงอาหาร และแม้กระทั่งอุปกรณ์เครื่องเขียน4

ผลลัพธ์ที่ได้คือ อัตราการรีไซเคิลขวดเพ็ทอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูงกว่าพลาสติกประเภทอื่น ในญี่ปุ่นประมาณ 85% ในยุโรป 42% และในสหรัฐอเมริกา 21%

อัตราการรีไซเคิลขวดเพ็ท จากสภาการรีไซเคิลขวดเพ็ท

แต่พลาสติกที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารสามารถนำมารีไซเคิลได้ยากกว่า หน้าที่หลักของพลาสติกในบรรจุภัณฑ์อาหารคือเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารมีความปลอดภัย และลดการสูญเสียของอาหารด้วย เนื่องจากพลาสติกทำหน้าที่เป็นตัวขวางกั้นแบคทีเรีย ความชื้น แสงอัลตราไวโอเล็ต และ "สิ่งที่ทำให้อาหารเน่าเสีย" อื่น ๆ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ พลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายชั้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น พลาสติกเหล่านี้จึงไม่สามารถบีบอัดรวมกันและนำมาใช้ได้อีกครั้งเหมือนขวดเพ็ท

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลาสติกที่คุณควรรู้

พลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์คิดเป็น 42% ของการผลิตพลาสติกทั้งหมด

- พลาสติกกว่า 79% ที่ผลิตขึ้นมาทั้งหมดในปี พ.ศ. 2558 ถูกทิ้งอยู่ตามท้องทุ่งหรือในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ จำนวน 12% ถูกเผาทิ้ง และมีเพียง 9% ที่นำมารีไซเคิล2

นวัตกรรมการรีไซเคิลพลาสติก

นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทั่วโลกกำลังค้นหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในแนวทางใหม่คือการพัฒนาวัสดุขึ้นมาใหม่ เมื่อไม่นานมานี้มีการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegratdable plastic) จากมันสำปะหลัง ทำให้สื่อจำนวนมากให้ความสนใจว่าจะสามารถนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกแบบไม่ย่อยสลายที่ใช้งานกันเป็นจำนวนมากในซุปเปอร์มาเก็ตและในร้านสะดวกซื้อ โชคไม่ดีที่พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาตินั้นมีความเสถียรทางชีวภาพต่ำ นั่นหมายความว่า พลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับสารชีวภาพ จึงทำให้ไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากพลาสติกต้องทำหน้าที่เป็นตัวขวางกั้นสารชีวภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเหตุผลในเชิงปฏิบัติ ความสามารถในการละลายน้ำได้ของพลาสติกนั้น ไม่ใช่คุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการเท่าใดนักสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับอาหาร5

แนวทางใหม่คือพิจารณาถึงวิธีการอื่นในการรีไซเคิล ซึ่งมี 3 วิธีหลัก ดังนี้ การรีไซเคิลวัสดุ (รีไซเคิลวัสดุพลาสติก) การรีไซเคิลสารเคมี (รีไซเคิลวัตถุดิบที่ใช้ทำพลาสติก) และการฟื้นสภาพพลังงาน (ฟื้นสภาพพลังงาน) แม้ว่าแต่ละวิธีจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่บริษัท Ajinomoto ให้ความสนใจไปที่ทุกนวัตกรรมและการพัฒนาที่สามารถนำเสนอหนทางแก้ไขที่สามารถปฏิบัติได้จริงและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเราผลักดันให้เกิดการกำจัดขยะพลาสติก ในท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือแนวทางที่สนับสนุนให้ "ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน" ลดขยะให้ได้มากที่สุดและปรับปรุงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่สุด

การทำงานอย่างอิสระและการทำงานร่วมกัน

การลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2573 (2030) ต้องใช้การผลักดันอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยองค์กรเดียว นั่นทำให้บริษัท Ajinomoto มองหาผู้ร่วมงานในส่วนนี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น เราเป็นสมาชิกร่วมสัญญาของ CLOMA—the Clean Oceans Material Alliance ที่ก่อตั้งเมื่อต้นปีนี้โดยอุตสาหกรรม รัฐบาล และสถาบันวิจัยต่าง ๆ CLOMA ใช้แนวทางในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยน "ระบบนิเวศน์ของพลาสติก" รวมถึงพฤติกรรมการใช้พลาสติกของผู้คน ผ่านการใช้นวัตกรรม ความร่วมมือ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย

บริษัท Ajinomoto สามารถลดการใช้ขยะไปได้ในปริมาณมากโดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ในแต่ละผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่าความพยายามนี้จะมีต่อไป นอกจากนี้ เราจะผลักดันความพยายามในการรีไซเคิลพลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีจะสามารถทำได้

เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ด้วยความพยายามในการทำงานร่วมกันกับองค์กรอื่นและทำงานเฉพาะในองค์กรของตน จะสามารถบรรลุเป้าหมายของเราในการช่วยสร้าง "ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน" ที่ช่วยผู้คนให้กินดีมีสุขต่อไปในโลกอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับบริษัท Ajinomoto Co., Inc.

Ajinomoto Group เป็นผู้นำระดับโลกด้านกรดอะมิโน ต้องขอบคุณวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มีความก้าวหน้าและเทคโนโลยีด้านเคมีขั้นสูงของบริษัท ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม กรดอะมิโน เภสัชภัณฑ์และวัสดุชีวภาพ เป็นต้น ตั้งแต่บริษัทค้นพบเครื่องปรุงรส "อูมามิ" (รสชาติพื้นฐานที่ห้าที่ได้จากกรดกลูตามิกและเป็นกรดอะมิโนประเภทหนึ่ง) ในปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) เราได้มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการใช้กรดอะมิโนและการส่งเสริมการมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง จากคำขวัญองค์กรของเราที่ว่า "กินดี อยู่ดี" เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตต่อไปและช่วยส่งเสริมความกินดีมีสุขของผู้คนอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างคุณค่าให้กับชุมชนและสังคมกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ มีสำนักงานใน 35 ประเทศและภูมิภาค บริษัทขายผลิตภัณฑ์ในกว่า 130 ประเทศและภูมิภาค ในปีงบประมาณ 2560 มูลค่าการขายของบริษัทสูงถึง 1.127 ล้านล้านเยน (10,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมที่ https://www.ajinomoto.com/

อ้างอิง

1. "What are microplastics?" National Ocean Service, https://oceanservice.noaa.gov/facts/microplastics.html.

2. "Production, use, and fate of all plastics ever made" Science Advances, 19 ก.ค. 2560: ฉบับที่ 3, เลขที่ 7, e1700782 https://advances.sciencemag.org/content/3/7/e1700782.full

3. "How Much Do Elephants Weigh in Tons?" อ้างอิง https://www.reference.com/pets-animals/much-elephants-weigh-tons-36807d7c55c0caa4

4. Tim Hornyak "Plastic fantastic: How does Tokyo recycle its waste?" https://www.japantimes.co.jp/life/2017/06/10/environment/plastic-fantastic-tokyo-recycle-waste/#.XOTNOFNLjVo

5. Shelli van Santen "What are the disadvantages of bioplastics?" Quora, 15 ต.ค. 2561 https://www.quora.com/What-are-the-disadvantages-of-bioplastics .

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital