วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ครบรอบ 30 ปี ชูความสำเร็จต้นแบบวิศวกรรมภาษาอังกฤษแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมปักธงปั้นวิศวกรไทยแข่งต่างชาติ

พุธ ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๐๓
TSE จัดงานครบรอบ 30 ปี ในงาน "TSE Engineering and Beyond" ดึงอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง และนักศึกษาโปรไฟล์สุดปัง ร่วมแชร์ประสบการณ์บนเส้นทาง "เป็นมากกว่าวิศวกร" พร้อมโชว์นวัตกรรมรางวัลระดับโลก อาทิ แบบจำลองสำหรับการรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นไมโครเวฟครั้งแรกของโลก ไบโอพลาสติกเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย และเครื่องนับไข่เอไออัตโนมัตินำร่องเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering : TSE) ผงาดสู่การเป็นผู้นำด้านหลักสูตรวิศวกรรมระดับท็อป ชูต้นแบบวิศวกรรมภาษาอังกฤษและดับเบิ้ลดีกรีแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดความล้ำสมัยของการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประเภท ได้แก่ วิศวกรรมหลักสูตรภาษาไทยกับ 5 สาขา วิศวกรรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ TEP 5 สาขา TEPE 6 สาขา และนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ TU-PINE 4 สาขา อันสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความเป็นสากลและสมบูรณ์แบบที่สุดของไทย พร้อมจัดงาน "TSE Engineering and Beyond" ในโอกาสครบรอบ 30 ปี โดยมีการเปิดตัว TSE New-Gen อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรง ต้นแบบของบุคลากรด้านการศึกษาในยุคที่การแข่งขันมีความรุนแรง การจับเข่าคุยระหว่างศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและนักศึกษา ในหัวข้อ "เป็นมากกว่าวิศวกร" กับเส้นทางประกอบอาชีพที่ไร้ขีดจำกัด และยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมรางวัลระดับโลก อาทิ แบบจำลองสำหรับการรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นไมโครเวฟครั้งแรกของโลก บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกจากยางพารา บล็อกรักษ์โลกจากขยะพลาสติก เครื่องนับไข่ไก่ด้วยเอไอเติมเต็มระบบสมาร์ทฟาร์ม และนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่เชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตออฟติงเพื่อการเพาะปลูกขนาดย่อม (Plook)

ทั้งนี้ งานเปิดประตูสู่โลกแห่งวิศวกรรมยุคใหม่ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ในงาน "TSE Engineering and Beyond" จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ โถงห้องสมุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า TSE มีเป้าหมายคือส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมให้ก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านวิศวกรรมระดับโลก และเป็นคณะที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมในหลักสูตรภาษาอังกฤษและดับเบิ้ลดีกรีแห่งแรกของประเทศไทย โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม เสริมแกร่งหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้เรียน โดยปัจจุบันคณะฯเปิดสอนครอบคลุมปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก ด้วย 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ วิศวกรรมหลักสูตรภาษาไทยกับ 5 สาขา ได้แก่ ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ เครื่องกล เคมี โยธา และอุตสาหการ วิศวกรรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ TEP 5 วิชา TEPE 6 สาขา และนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ TU-PINE 4 สาขา อันเกิดจากการบูรณาการศาสตร์ที่สำคัญเข้าด้วยกัน ได้แก่ วิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง (EBM) วิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหการ (iPEN-iEE) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) และวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ (V-TECH) อันสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความสากลสมบูรณ์แบบที่สุดของไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร กล่าวต่อว่า ตลอดระยะ 30 ปี TSE ยังคงเดินหน้าส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ แอปพลิเคชันตรวจกระเป๋าแอร์เมสด้วยเทคโนโลยีเอไอที่แม่นยำกว่าสายตาของมนุษย์ "เอสซิท" (SCIT) แพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ชุดตรวจคัดกรองผู้มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) "หนูขออ่าน" ตัวช่วยสถานพยาบาลยกระดับการให้บริการสาธารณสุข งานวิจัยสารปนเปื้อนในปลาดอร์ลี่ที่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากการดื้อยาเพิ่มขึ้น และนวัตกรรมการทำกายภาพบำบัด "Space Walker" สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือผู้ที่ต้องฝึกเดินหลังการผ่าตัด ฯลฯ นอกจากนี้ยังผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพกว่า 5,517 คน ให้ไปสู่เส้นทางการประกอบอาชีพ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงโอกาสในการศึกษาต่อในอนาคต ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้นำด้านหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุดของไทย และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมประเทศไทย ให้เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จด้านวิศวกรรม

ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี TSE ได้นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย ที่มีความหลากหลาย และการันตีด้วยรางวัลระดับโลกมาจัดแสดง ภายใต้แนวคิด "เป็นมากกว่าวิศวกร" (Engineering and Beyond) มาจัดแสดงด้วย อาทิ แบบจำลองสำหรับรักษามะเร็งตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น นวัตกรรมแปรรูปยางพาราสู่ไบโอพลาสติกระดับ Food Grade นวัตกรรมเอไอเพื่อยกระดับฟาร์มไข่ไก่สู่ระบบสมาร์ทฟาร์มเต็มรูปแบบ ช่วยนับจำนวนไข่ในฟาร์มขนาดใหญ่ให้เดินหน้าธุรกิจทันใจกว่าเดิม นวัตกรรมพลิกโฉมขยะพลาสติกสู่อิฐบล็อกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนเมืองด้วยคอนโดปลูกต้นไม้อัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์และอินเตอร์เน็ตออฟติงส์ (Plook)

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัว TSE New-Gen ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ที่สะท้อนภาพลักษณ์ความทันสมัย มีความใกล้ชิดกับทุก เจนเนอเรชั่น อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภมาศ สุชาตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา ไชยสาร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ อ.วัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ (V-TECH) นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง ที่ให้เกียรติมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ "เป็นมากกว่าวิศวกร" กับเส้นทางประกอบอาชีพที่ไร้ขีดจำกัด อาทิ นายสุทธิรักษ์ ดวงบุรงค์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ผู้จุดประกายธุรกิจสตาร์ทอัพในพื้นที่ชายแดนใต้ นางสาวเมลิษา ซิโมเนตโต Consultant Spend Analysis Manager ของบริษัท เอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด (Ascend Group Co., Ltd.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน เกี่ยวกับฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และคลาวด์เซอร์วิส นายทรงวัฒน์ เฉลิมวณิชย์กุล เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บริษัท เจดับบลิว พรอพเพอร์ตี้ จำกัด) นางสาวอาภาพร วงศ์ใหญ่ หรือ "ครูนิดหน่อย" ผู้ก่อตั้งเพจ Office with Mac ซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน ฯลฯ มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนภาพลักษณ์ยุคใหม่ของวิศวกรไทย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

ข้อมูลนวัตกรรมของ TSE

นวัตกรรมรักษามะเร็งตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยใช้แบบจำลอง 3 มิติ สำหรับการทำนายกระบวนการรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ การรักษามะเร็งตับวิธีใหม่ด้วยปล่อยคลื่นไมโครเวฟไปสู่บริเวณก้อนมะเร็ง เพื่อทำให้ก้อนมะเร็งมีอุณหภูมิสูงขึ้นและฝ่อลงในที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดผลข้างเคียงในการรักษาและใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อย ซึ่ง ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และทีมวิจัย ยังเพิ่มโปรแกรมการจำลองภาพ 3 มิติ เข้ามาช่วยในการวางแผนการรักษา เพื่อป้องกันบาดเจ็บและเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลPrize of the Inventions Hong Kong & Inventions Geneva ในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นวัตกรรมแปรรูปยางพาราสู่ไบโอพลาสติกระดับ Food Grade ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกผสมยางพาราย่อยสลายง่าย ผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.แคทลียา ปัทมพรหม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี ซึ่งต่อยอดจากการนำอ้อยและมันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นไบโอพลาสติก โดยได้ดึงคุณสมบัติของยางพาราที่เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีความยืดหยุนสูง และมีราคาถูกกว่าพอลิแลคติกแอซิดที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าไบโอพลาสติกรุ่นเดิม ปลอดภัยในระดับ Food Grade ง่ายต่อการกำจัด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทยอีกด้วย

นวัตกรรมเอไอเพื่อยกระดับฟาร์มไข่ไก่สู่ระบบสมาร์ทฟาร์มเต็มรูปแบบ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยทีมวิจัย ได้พัฒนาเครื่องนับไข่ไก่อัตโนมัติด้วยกล้องวงจรปิดเอไอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สามารถคว้ารางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่สะท้อนความเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านเอไอของ TSE ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานเกษตรกรรมได้อย่างลงตัว โดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด เพื่อนับจำนวนไข่ในฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งในแต่ละวันมีไข่ไก่บนสายพานจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเช็คปริมาณไข่ไก่ที่ผลิตได้ต่อวัน และยังสามารถเช็คจำนวนไข่ไก่ที่ผลิตได้จากอุปกรณ์ต่างๆแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IOT) ที่ทำให้เกษตรกรไทยเข้าใกล้คำว่า "สมาร์ทฟาร์ม" มากขึ้น

นวัตกรรมพลิกโฉมขยะพลาสติกสู่อิฐบล็อกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งติดอันดับ 5 ของโลก โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มีแนวคิดนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนประกอบของคอนกรีต โดยนำพลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) ซึ่งเป็นขยะเหลือใช้จากฉลากขวดพลาสติก หรือพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) นำมาใช้แทนปูนซีเมนต์ โดยพบว่า วัสดุใหม่มีน้ำหนักเบาและดูดซึมน้ำน้อยกว่าบล็อกคอนกรีตปกติ ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนของวัสดุก่อสร้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

นวัตกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนเมืองด้วยคอนโดปลูกต้นไม้อัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์และอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Plook) ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ของชุมชนเมืองในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของไอเดียคอนโดปลูกต้นไม้ แต่ปัจจุบัน TSE ได้ต่อยอดคอนโดปลูกต้นไม้ให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ นำเทคโนโลยีเอไอมาเชื่อมโยงให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับต้นไม้ได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งช่วยให้ผู้ปลูกสามารถเข้าถึงความต้องการของพืชได้โดยผ่านแชทบอท รวมถึงการสั่งงานด้วยเสียงที่ช่วยให้การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ง่ายและสนุกมากขึ้น โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ปี 2562

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital