จีไอทีบูม “จันทบุรี: นครอัญมณี” พร้อมจัดเทศกาลพลอยและเครื่องประดับอินเตอร์ครั้งแรก ธ.ค. นี้

พฤหัส ๒๙ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๕๑
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ผนึกพันธมิตรประกาศความพร้อมจัดเทศกาลนานาชาติ "พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019" ครั้งแรก ดึงผู้ประกอบการไทยและนานาชาติร่วมโชว์สินค้าและเจรจาธุรกิจ และกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย ตอกย้ำฐานะจันทบุรี "นครอัญมณี" โลก ตั้งเป้ายอดการค้าเพิ่มกว่า 27 ล้านบาท ผู้ชมงานกว่า 15,000 คน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะเร่งผลักดัน และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถของไทย โดยโครงการพัฒนาศักยภาพจันทบุรีสู่ "นครอัญมณี" ถือว่าตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน เนื่องจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงเป็นอันดับ 3 รองจากยานยนต์ และคอมพิวเตอร์ เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศแล้ว อุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6% และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานมากกว่า 7 แสนคน โดยเฉพาะจังหวัด "จันทบุรี" ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าขายพลอยสีที่สำคัญของโลก

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ จีไอที กล่าวว่า จันทบุรีมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งพลอยคุณภาพดีของไทยมานานกว่า 100 ปี แม้ว่าปัจจุบันแหล่งพลอยธรรมชาติจะเหลือน้อยลง แต่ก็มีการนำเข้าพลอยดิบจากต่างประเทศเข้ามาปรับปรุงคุณภาพที่จันทบุรีจำนวนมาก ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะ "นครอัญมณี" ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตพัฒนาคุณภาพพลอยและแหล่งการค้าพลอยที่มีผู้ค้าจากนานาชาติเข้ามา ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 80 ของพลอยสีในตลาดโลก ล้วนผ่านการเจียระไนและพัฒนาคุณภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี

ทั้งนี้ จีไอทีได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินโครงการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็น "นครอัญมณี" เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรีให้สามารถแข่งขันได้และมีความสามารถเพียงพอต่อการขยายตลาดสู่สากล เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก

เพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ทางจีไอทีและพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดจันทบุรี ได้เตรียมจัดเทศกาลนานาชาติ "พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี" (International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2019" ภายใต้แนวคิด "Power of Gemstones and Jewelry" ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2562 ที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี, เคพี จิวเวลลี่เซ็นเตอร์, ตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์และ OTOP Lifestyle

"จีไอทีต้องการให้งานครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับผู้จัดแสดงสินค้าจากนานาประเทศ โดยเฉพาะจากภูมิภาคอาเซียนได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ผู้ค้าพลอยและอัญมณีและผู้ชมงานจะได้สัมผัสและเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิตจากนานาชาติ"

ภายในงานจะมีคูหาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าประมาณ 500 คูหา โดยผู้ชมงานจะได้พบกับผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับและสินค้าเกี่ยวเนื่องมากมาย ได้แก่ พลอยดิบและพลอยเจียระไน, อัญมณี, วัตถุดิบประกอบอัญมณี, เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์

"จีไอทีตั้งเป้าว่า งานครั้งนี้จะมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าและการท่องเที่ยว ในอย่างน้อย 27 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานประมาณ 15,000 คน ตลอดการจัดงาน 5 วัน"

นอกจากการแสดงและจำหน่ายสินค้าแล้ว เทศกาลครั้งนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ การมอบรางวัล ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องประดับและประกวดพลอยเจียระไน การมอบรางวัลโครงการวิจัยด้าน อัญมณีและเครื่องประดับ การประมูลพลอย สัมมนาด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงนิทรรศการ 5 นิทรรศการ ได้แก่

- Jewelry Design Gallery จัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการ Gems Treasure 2018-2019 และผลงานในโครงการ 15 จังหวัด

- Smart Jewelers Exhibition จัดแสดงผลิตภัณฑ์จากช่างและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือก

- Innovative Jewelry จัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเชิงสร้างสรรค์โดยสมาชิกของสถาบันฯ

- New Heritage จัดแสดงงานเจียระไนฝีมือทายาทครูช่างเครื่องประดับและการเจียระไนที่มีความร่วมสมัย

- Innovative Lifestyle Jewelry จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจากนักออกแบบรุ่นใหม่ ศิษย์เก่าและสมาชิกของสถาบันฯ

ด้าน นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดจันทบุรีร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของจันทบุรีในฐานะ "นครอัญมณี" ศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยสำคัญแห่งหนึ่งโลก รวมถึงเชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานเดินทางท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวจันทบุรี สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเส้นทางอัญมณีและเครื่องประดับในจังหวัด

ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวเตรียมแพ็กเกจโรงแรมที่พักในราคาพิเศษ รวมถึงแพ็กเกจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การชิมอาหารท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี รวมถึงมีรถ shuttle bus ฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างสถานที่จัดงานอีกด้วย

"ทางจังหวัดมั่นใจว่า เทศกาลนานาชาติฯ นอกจากจะเป็นเวทีให้คนในวงการอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติได้มาพบปะเจรจาธุรกิจกันแล้ว นี่จะเป็นอีกโอกาสให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีที่จะตราตรึงใจมิรู้ลืมอีกด้วย"

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทศกาลนานาชาติ "พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019" ได้ที่คุณช่อเพชร แสนสุข และคุณชนกนาถ ไพฑูรย์มงคล โทร. 02-634 4999 ต่อ 635 และ 640 หรืออีเมล: [email protected] และ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๑ PRM ร่วมงาน OppDay มั่นใจธุรกิจปี 67 สดใส
๑๗:๓๘ Bitkub Chain ร่วม OpenGuild และ Polkadot เปิดพื้นที่รวมตัว Community รับ SEA Blockchain Week 2024
๑๗:๔๙ HOYO SOFT AND SAFE ผู้ผลิตคอกกั้นเด็กคุณภาพสูง มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย ได้รับการไว้วางใจจากประสบการณ์ลูกค้าโดยการบอกปากต่อปาก
๑๗:๓๗ แนวทางสร้างสมดุลระหว่าง อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และ คำมั่นสัญญาของ Generative AI
๑๖:๔๖ Maison Berger Paris เผยเครื่องหอมสำหรับบ้านรูปแบบใหม่ล่าสุด 'Mist Diffuser' ภายใต้คอลเลคชันยอดนิยมตลอดกาล Lolita
๑๖:๐๕ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (acute diarrhea)
๑๖:๓๙ JGAB 2024 จัดเต็มครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน กับกิจกรรมและโซนจัดแสดงเครื่องประดับสุดพิเศษ พร้อมต้อนรับนักธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก เริ่ม 1 พ.ค. 67
๑๖:๒๘ สอศ. จับมือแอร์มิตซูบิชิ ดิวตี้ รับมอบเครื่องปรับอากาศในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านเครื่องปรับอากาศ
๑๖:๓๘ DKSH ประเทศไทย คว้า 8 รางวัลอันทรงเกียรติ ในงาน Employee Experience Awards ประจำปี 2567
๑๖:๑๖ เด็กล้ำ! นักศึกษา SE SPU คว้ารางวัลรองชนะเลิศ Best Paper ผลงานนวัตกรรมเนื้อสัตว์แพลนต์เบส สุดยอดแห่งความยั่งยืน