วว.โชว์ผลงานวิจัยเพื่อความยั่งยืนด้านอาหาร ในงาน Food ingredients Asia 2019 @ Hall 102 ไบเทค บางนา

พุธ ๑๑ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๔:๓๘
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องในพิธีเปิดงาน Food ingredients Asia 2019 หรือ Fi Asia 2019 ซึ่งบริษัท อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต จำกัด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ทั้งนี้ วว. นำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านอาหารเข้าร่วมจัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด "Green & Sustainable Food" ประกอบด้วย Alternative Protein, Sustainable Foods, Ingredients, Freeze Dry วัตถุดิบผลผลิตการเกษตร รวมทั้งจัดบรรยายพิเศษเรื่อง "อาหารว่างเพื่อสุขภาพ : Healthy snacks" โดยมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ ตามเกณฑ์พิจารณาให้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" กลุ่มอาหารขบเคี้ยว ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 374 พ.ศ.2559

รองผู้ว่าการฯ วว. กล่าวว่า ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ที่นำมาจัดแสดงในงาน Fi Asia 2019 ณ Hall 102 ไบเทค บางนา นั้น เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน). เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการดำเนินงาน 4 แนวทาง ( 4 Guiding Principles for TISTR ) คือ 1.วทน. เพื่อเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (STI for Bio-based Economy) มุ่งดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ ครอบคลุมภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เช่น คลัสเตอร์เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร เป็นต้น 2.วทน. เพื่อชุมชน (STI for Area Based) มุ่งดำเนินงานที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 3.วทน. แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI for Total Solution) มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา โดยมีกลไกสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ และ 4.เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่สอดคล้องกับบริบทในการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัย "Green & Sustainable Food" ของ วว. ที่นำมาโชว์นิทรรศการในครั้งนี้ มุ่งนำ วทน. เข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร และต่อยอดให้เป็น Innovation มีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกรอบการดำเนินงานและกระบวนการวิจัยพัฒนาที่ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีกระบวนการสกัดสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Zero Waste ประกอบด้วยตัวอย่างผลงานจาก "Alternative Protein" ได้แก่ โปรตีนจากจิ้งหรีด พืชที่ให้สารเมลาโทนิน/กาบาสูง "Sustainable Foods" ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายขนาดเล็กในประเทศไทย และเห็ดทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและเวชสำอาง "Ingredients" ส่วนผสมของอาหารจากพืช อาทิ กระทกรก มัลเบอรี่ ฟักข้าว ดอกเบญจมาศ เห็ด ขิง หัวหอม เป็นต้น และ "Freeze Dry" วัตถุดิบผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผักและผลไม้

อนึ่ง วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนและให้บริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 30 ปี มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ (Natural Functional Ingredients) รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplements) ผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods) จนถึงการผลิตสู่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ วว. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยการให้บริการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพและบริการ ตลอดจนการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP พร้อมห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง ถือเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้พัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยให้บริการกับผู้ประกอบการสำหรับทดลองผลิตสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่งจะเริ่มต้นกิจการ หรือในระยะรอการสร้างโรงงานของผู้ประกอบการ หรืออยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการปรึกษา การดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมอาหารของ วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. โทร. 0 2577 9000/ 0 2577 9137 โทรสาร 0 2577 9009/ 0 2577 9137 E-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital