เกษียณแล้วไป (อยู่) ไหนดี?

อังคาร ๐๑ ตุลาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๕๘
ในแต่ละปี ไทยจะมีข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุตามปีงบประมาณจำนวนถึงหลักหมื่นคน โดยข้อมูลข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 117,652 คน (เฉลี่ยปีละ 11,765 คน) หากโฟกัสในปี พ.ศ. 2561-2563 จะมีผู้เกษียณอายุจำนวน 8,539 คน 10,068 คน และ 11,017 คน ตามลำดับ

การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรเข้าสู่วัยเกษียณดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อสภาพเศรษกิจโดยรวมเนื่องจากการขาดช่วงของกำลังคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และภาคการเกษตร ยังส่งผลต่อตัวผู้เข้าสู่วัยเกษียณอายุเองด้วยที่ต้องขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณเหล่านี้จึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังจากนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีวัยแรงงานลดจำนวนลงเหลือ 61% จากข้อมูลของสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พบว่า แนวทางการรับมือสังคมผู้สูงวัยในต่างประเทศที่นิยมนำมาใช้และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ประกอบด้วย การขยายอายุเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่สิงคโปร์ ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี เกาหลีเพิ่มจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และญี่ปุ่นขยายจาก 62 ปี เป็น 65 ปี

สอดคล้องกับผลวิจัยของ TDRI ที่พบว่า การเก็บรักษาพนักงานในกลุ่มอายุ 50-60 ปีไว้ และปรับทักษะให้ดีขึ้นจะทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจลดลง 9% และการนำแรงงานในกลุ่มอายุ 60-69

ปีกลับมาในตลาดแรงงานจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 2% โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีแผนขยายเวลาเกษียณอายุข้าราชการจากเดิม 60 ปี เป็น 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้ข้าราชการมีอาชีพและมีงานทำหลังเกษียณ

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายองค์กรได้มีนโยบายจ้างงานผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างรายได้และสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฏหมายสนับสนุนให้บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีองค์กรเอกชนสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายอาชีพที่เป็นทางเลือกให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานเพื่อเป็นช่องทางรายได้ในวัยเกษียณ เช่น นักเขียน, แปลงาน/ล่าม/ไกด์, ที่ปรึกษาบริษัท, อาจารย์พิเศษ, ลูกจ้างบริษัทเอกชน, ปลูกต้นไม้, ทำอาหาร/ขนม, ทำงานศิลปะ, เปิดบ้านพักโฮมสเตย์, ลงทุนตู้หยอดเหรียญ เป็นต้น

แม้ว่าเกษียณแล้วจะทำให้ช่องทางรายได้จากการทำงานหายไป แต่ก็ยังมีรายได้อื่น ๆ ที่ได้เสริมจากหลังเกษียณ เช่น เงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ กองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการ ส่วนผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชนบางแห่งจะมี Provident Fund หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นกองทุนเงินออมหลังเกษียณอายุ โดยมาจากเงินสะสมของเงินเดือนลูกจ้างในแต่ละเดือน รวมถึงเงินออมในธนาคาร และประกันชีวิตที่เคยทำไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่าไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2564 จะมีประชากรสูงวัย 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด หรือ 20% และที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อยู่ที่ 34.3% (ในปี พ.ศ. 2557 เส้นต่ำกว่าความยากจน คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาท/เดือน)

อีกทั้งกว่า 55.8% คนสูงวัยยังต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่น ยังต้องทำงานหารายได้เอง 34% ซึ่งแหล่งรายได้หลักการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ มาจากบุตร 36.7% รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9% เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8% เงินบำเหน็จบำนาญ 4.9% จากคู่สมรส 4.3% ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9% และรายได้จากทางอื่น ๆ อีก 1.5%

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเงินออมในวัยเกษียณมาก แม้ว่าภาครัฐพยายามที่จะผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) โดยรัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่งรวมถึงการจัดกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนภาคบังคับที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานทั่วประเทศได้ออมเงินไว้ใช้ภายหลังเกษียณก็ยังไม่เพียงพอต่อสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ดังนั้นการปลูกฝังและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมตั้งแต่วัยทำงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไม่ยากลำบาก ซึ่งนอกจากการทำงานหลังเกษียณแล้วยังมีวิธีสร้างรายได้หลังเกษียณให้งอกเงยขึ้นได้อีกหลายวิธี คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทอง เพชร หุ้น รวมถึงลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งกองทุนทั้งสองแบบมีข้อดีกว่าการลงทุนซื้อขายหุ้น คือมีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ได้ผลตอบแทนที่สูง และสามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF ไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ในแต่ละปี

และเมื่อเอ่ยถึงอสังหาริมทรัพย์ การใช้ชีวิตในวัยเกษียณก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนคำนึงถึง บางรายอาจอาศัยร่วมกับลูกหลานหรือพี่น้องซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ขณะที่ผู้สูงวัยอีกไม่น้อยที่ไม่ได้แต่งงาน หรือต้องการแยกตัวมาอยู่คนเดียวก็เริ่มให้ความสนใจรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 22-70 ปีขึ้นไป เข้าร่วมทำแบบสำรวจกว่า 800 คน ได้แสดงมุมมองของคนไทยที่มีต่อที่พักอาศัยในวัยเกษียณอย่างน่าสนใจ โดยพบว่า

- อสังหาฯ ประเภทบ้านเดี่ยวขึ้นแท่นอันดับ 1 ครองใจวัยเกษียณตามด้วยที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮ้าส์

- 49% ของผู้ทำแบบสำรวจไม่มีความกังวลใด ๆ หากถึงวัยเกษียณ

- ผู้ทำแบบสำรวจ 18% กังวลเรื่องการอยู่คนเดียวเมื่อยามสูงวัย

- 28% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 50-59 ปี มองว่าระยะห่างระหว่างที่พักและระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่ปัญหา

- 45% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี รับได้หากระยะห่างระหว่างที่พักกับระบบขนส่งสาธารณะไม่เกิน 500 เมตร

ข้อมูลจากแบบสำรวจพบว่า ประเภทอสังหาฯ ที่ครองใจวัยเกษียณเป็นอันดับ 2 คือ ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลานดูแล เพราะมีทั้งรูปแบบโครงการที่เป็น Community วัยเกษียณ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังสามารถดูแลตนเองได้ ภายในโครงการมีบริการทางการแพทย์คอยดูแล ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ Nursing Home ตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจลงทุนที่พัก สำหรับผู้สูงวัย โดยมีระดับราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วกำลังมองหาทางเลือกนี้ ลองค้นหาที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่ใช่แค่ด้านการเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องตอบรับปัจจัยความจำเป็นอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ การเดินทาง สังคม สิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ ดังนั้นจึงควรไปดูสถานที่จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเลือกซื้อหรือเช่าบ้าน ซึ่งจะเป็นที่พักพิงทางกายและใจในยามบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีความสุข

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4