สกสว. จัดถก “อนาคตคนลิบง : อนาคตพะยูน” โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หนุน “ลิบงโมเดล” ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรรูปแบบใหม่ โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)

ศุกร์ ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๔๖
จากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้ล่าสุดอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้รับการประกาศเป็น "มรดกอาเซียน" โดยที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้ง 2 แห่ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกอาเซียน ลำดับที่ 45 และ 46 ในภูมิภาคอาเซียน และถือเป็นมรดกอาเซียน ในลำดับที่ 5 และ 6 ของประเทศไทยต่อจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน-อ่าวพังงา และกลุ่มป่าแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ยังเป็นที่ตั้งของเกาะลิบง ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง และมีพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด รวมถึงเป็นแหล่งอนุรักษ์มาเรียมพะยูนน้อยขวัญใจชาวเน็ตก่อนที่จะตายเพราะพบขยะในท้อง แม้ปัจจุบันพะยูนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่กลับพบว่าเกิดการตายของพะยูนถี่ขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งการอนุรักษ์นั้นกว่าจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่

โดยเมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดเสวนา "อนาคตคนลิบง : อนาคตพะยูน" เพื่อถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม จากโครงการวิจัย"แนวทางการอนุรักษ์ พะยูน โดยชุมชนเกาะลิบ"รวมถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป โดยมีตัวแทนจังหวัดตรัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชากร รวมถึง ผู้นำชุมชน และชุมชน เข้าร่วมเสวนา

นางสาวขนิษฐา จุลบล (พี่นิด) จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงกระบวนการวิจัยที่เข้ามามีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ว่า ในส่วนของเกาะลิบง สกสว.ได้เข้ามาสนับสนุนหลายโครงการตั้งแต่ โครงการสืบสานตำนานตะลิบง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนลิบง โครงการยุติธรรมชุมชน เป็นหนึ่งในเครือข่ายยุติธรรมชุมชนจังหวัดตรัง 10 พื้นที่ ถือเป็นโครงการฯที่ส่งผลถึงระดับนโยบาย โครงการอนุรักษ์พะยูนเกาะลิบง ซึ่งเป็นที่มาของทีมอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง และที่กำลังดำเนินการอยู่ คือโครงการการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์หญ้าทะเล จังหวัดตรัง ซึ่งถือว่าเป็นโครงการสำคัญของภูมิภาคนี้ ด้วยหญ้าทะเลที่เกาะลิบงมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้เป็นที่อยู่ของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดเช่นกัน โครงการนี้เพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก เป็นการต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์พะยูน จึงยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

"ที่เกาะลิบงโดดเด่นคือหญ้าทะเลกับพะยูน ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศและทั่วโลกหลังการตายของมาเรียม โจทย์คือทำอย่างไรให้เกาะลิบงได้รับการยอมรับมากขึ้น และเพื่อให้คนบนเกาะลุกขึ้นมาจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง จึงเกิดแนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติรูปแบบใหม่ หรือ "ลิบงโมเดล" ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของเกาะลิบงที่นำไปสู่การจัดการตนเองอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนมีบทบาทร่วมคิดร่วมวางแผน ประสานความร่วมมือและบูรณาการเชื่อมโยงการพัฒนาทุกด้าน นำมาสู่การจัดเสวนาชวนคิดชวนคุยในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้พร้อมรับการเป็นมรดกอาเซียน"

สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนลิบงโมเดล มีแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีกระทรวงเด็กและเยาวชน ภายใต้หลักคิดการใช้ทุน คน ความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรขับเคลื่อนชุมชน เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและแผนการพัฒนาเกาะลิบงให้ไปสู่เป้าหมายการจัดการตนเองอย่างยั่งยืนโดยคนในชุมชนเพื่อการเป็นชุมชนเข้มแข็ง ส่วนจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งทรัพยากร การท่องเที่ยว และรายได้ที่จะดีขึ้น

นายอับดุลรอฮีม คุณรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง ในฐานะตัวแทนกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า จากอดีตรายได้หลักของชุมชนคือการกรีดยางและการทำประมง แต่ปัจจุบันคนเกาะลิบงมีอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น คือ ค้าขาย บริการนักท่องเที่ยว รถซาเล้ง โฮมสเตย์ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น เพราะเรามีแหล่งทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ และการมีอัธยาศัยของผู้คนบนเกาะ รวมถึงวัฒนธรรมวิถีชุมชนมุสลิม เหล่านี้ถือเป็นจุดเด่นของชุมชนที่สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว แต่ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการสัญจรของนักท่องเที่ยวภายในเกาะ รวมถึงการจัดการเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร การสร้างกลไกตลาดชุมชน และการส่งเสริมการวมกลุ่มอาชีพในด้านต่างๆ โดยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนชุมชน

ด้านนายประชุม เจริญฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ ตัวแทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถีงการจัดการท่องเที่ยวโดยคนลิบงว่า จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ชุมชนได้พัฒนาศักยภาพที่ดีไปพร้อมกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ เกาะ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการจัดระบบการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวที่ไปรบกวนพะยูน ถ้ามาดูพะยูนจะต้องไม่ให้กระทบกับพะยูน เป็นปัญหาที่ชุมชนต้องช่วยกันดูแลและปฏิบัติ เช่น การผูกเรือบริเวณทุ่นที่กำหนด หรือการพายเรือดูพะยูนแทนการใช้เรือยนต์ เป็นต้นรวมถึงการฟื้นฟูของดีวิถีลิบง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะลิบง

ขณะที่ นายสุวิทย์ สารสิทธิ์ อาสาสมัครกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสโลแกน"คนอยู่ได้พะยูนอยู่รอด"ว่า มีความหมายต่อคนเกาะลิบง ดังนั้นชุมชนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการดูแลทรัพยากรของเกาะ ได้แก่ 1.เรื่องของการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล และกำหนดโซนดูพะยูน เพราะเมื่อใดหญ้าทะเลหมดไปหรือไม่มีหญ้าทะเล ก็จะไม่มีพะยูน 2.การประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับทะเล โดยการขอความร่วมมือไม่ใช้เครื่องมือประมงที่จะไปทำร้ายพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก และต้องไม่ทิ้งขยะลงทะเล และ 3 การจัดการขยะครบวงจรทั้งในทะเลและบนบก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงการจัดการขยะบนฝั่ง แต่การจัดการขยะให้ครบวงจรได้ต้องมาจากการจัดการขยะในครัวเรือน

ในส่วนของตัวแทนจังหวัดตรัง นายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธ์กุล ประมงจังหวัดตรัง กล่าวความความเห็นถึงแนวงคิดลิบงโมเดลว่า เป็นแนวคิดการจัดการทรัพยากรของชุมชนเล็กๆ ที่มีใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่ดีมาก ทางจังหวัดเป็นเสมือนโซ่ข้อกลางที่จะนำแนวคิดการพัฒนาจากภาคประชาชนไปขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป เพราะพะยูนไม่ได้มีเพียงเกาะลิบงเท่านั้นถือเป็นการร่วมกันคิดร่วมกันบริหารทรัพยากร

"ตอนนี้จังหวัดตรังค่อนข้างที่จะมีชื่อเสียงมากในเรื่องของการดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก แต่เมื่อมีการตายของพะยูน เช่นกรณีมาเรียมพบขยะในท้อง จนถูกมองว่าเพราะขยะที่ตรังเยอะหรือเปล่าจึงทำให้พบพะยูนตาย แต่สาเหตุการตายของพะยูนที่พบสวนใหญ่เกิดจากเครื่องมือทำประมง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ การตายของพะยูนที่เกิดขึ้นทุกครั้งต่างก็เสียใจ เพราะคนในจังหวัดตรังและชาวเกาะลิบงทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของพะยูน

ตอนนี้เราพยายามดูแลแหล่งหญ้าทะเลกว่าร้อยละ 80-90 พะยูนจะใช้เวลาอยู่ในบริเวณที่เป็นแหล่งหญ้าทะเล ดังนั้น จะมีการกำหนดมาตรการและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเดินเรือ ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์ หรือประมงพื้นบ้าน รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายากหรือเป็นการทำลายแหล่งหญ้าทะเล เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการที่จะอนุรักษ์ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จากการบินสำรวจพบว่า มีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น ถือเป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมาถูกทางแล้วในการสร้างเครือข่ายและการสงวนพื้นที่บางส่วนไว้ให้พะยูนเข้าอาศัยได้อย่างปลอดภัย"

ด้านศาสตราจารย์ ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องขยะความจริงไม่ใช่แค่ขยะทะเลอย่างเดียว แต่เป็นขยะบกตกทะเล แมื่อเราเป็นชุมชนย่อมเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วม และขยะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว การเริ่มจากที่ตัวเราเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และยังปลูกฝังลูกหลานให้มีความรับผิดชอบเรื่องการทิ้งขยะได้

สำหรับแนวคิดลิบงโมเดลฟังแล้วเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยผ่านกิจกรรมทั้งการประมง การเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หากผสมผสานเข้ากับต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมขนมธรรมเนียมในพื้นที่เข้าด้วยกัน ก็จะพัฒนาให้เกิดรายได้ได้ด้วย ซึ่งการที่ชุมชนรู้ถึงสถานการณ์ รู้ว่าต้องการอะไร ถือเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ จากจุดที่เล็กที่สุด ส่งต่อขึ้นไปเป็นระดับ จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปสู่กลุ่มจังหวัด และต่อยอดไปสู่แผนการพัฒนาในระดับประเทศ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน ถือเป็นประเด็นที่มีความหมายสำคัญ เพราะเรื่องของเราไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาคิดแทน เรามีส่วนร่วมคิดของเราเอง เมื่อเราตั้งโจทย์ในพื้นที่ให้ชัดเจน และสิ่งที่จะดำเนินการเพื่อลูกหลานในอนาคต และเพื่อการดำรงความเป็นชุมชนเกาะลิบงได้อย่างภาคภูมิใจ แต่การสร้างความยั่งยืนจะต้องทำให้การเติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน และจะต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับลูกต่อได้เห็น"

อย่างไรก็ตาม จากการเสวนา พอสรุปได้ว่า การจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง คือ เราทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง จะต้องดูแลทรัพยากรของชาติไทยให้เกิดความยั่งยืน เรื่องของขยะ ก็เช่นกัน ที่เราทุกคนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขยะและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขยะ ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะนั้น จึงเป็นเรื่องของทุกคน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาขยะจากบนบก เพื่อป้องกันไม่ให้ลงสู่ทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้