สทนช.เตรียมเสนอครม. เคาะมาตรการแก้แล้ง’62 /63 ย้ำยังเฝ้าระวังท่วมภาคใต้ช่วงปลายต.ค.-พ.ย.

ศุกร์ ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๙ ๑๗:๐๙
สทนช.ย้ำยังต้องจับตาสถานการณ์ฝนภาคใต้แม้ยังคงไม่มีสัญญาณพายุในช่วง 7 ข้างหน้า พร้อมเตรียมสรุปมาตรการลดผลกระทบแล้ง นัดประชุมนอกรอบหน่วยเกี่ยวข้องอาทิตย์นี้เคาะเสนอครม.เห็นชอบ 22 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเหตุน้ำต้นทุนน้อย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 7/2562 ว่า ในระยะนี้บริเวณตอนบนของมีปริมาณฝนลดลง ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนแล้วนั้น แต่จากการติดตามสถานการณ์แนวโน้มฝนแม้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ แต่ในช่วง 1 สัปดาห์จากนี้ไปยังไม่มีสัญญาณพายุ หรือสถานการณ์ฝนตกหนักที่ใม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งยังคงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงพื้นที่ท่วมซ้ำซาก หรือมีการตกซ้ำของฝนในพื้นที่ที่ทำให้ดินเกิดความชุ่มน้ำก็อาจจะมีความเสี่ยงสถานการณ์น้ำไหลหลากได้เช่นกัน ตั้งแต่บริเวณจังหวัดชุมพรลงไปโดยในช่วงกลางเดือน ต.ค. และในเดือนพ.ย. จะมีปริมาณฝนตกมากในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีความเสี่ยงในเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่ ซึ่ง สทนช. ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจากผลการสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวน 111 แห่ง ในภาคใต้ ได้รับรายงานว่าขณะนี้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 91 แห่ง และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 20 แห่ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงแล้วเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต ขณะนี้ที่กังวลคือลุ่มเจ้าพระยาในบริเวณภาคกลาง เนื่องจากประเมินน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 5,400 ล้าน ลบ.ม. แม้จะไม่ได้น้อยจนน่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างมีวินัย ซึ่ง สทนช. ได้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ลดการใช้น้ำในกิจกรรมอื่น โดยเน้นใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

"สทนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 33,604 ล้าน ลบ.ม. ฤดูแล้ง ปี 2562/63 แบ่งออกเป็น ในเขตชลประทาน 25,031 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. ใน 5 กิจกรรมหลักตามลำดับความสำคัญ คือ 1) เพื่อการอุปโภคบริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8% 2) เพื่อรักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% 3) เพื่อสำรองน้ำใช้ช่วงต้นฤดูฝน ปี 2563 9,830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% 4) เพื่อเกษตรกรรม 13,351 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 7,707 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 5,644 ล้าน ลบ.ม. และ 5) เพื่ออุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2%" ดร.สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สทนช. ยังได้คาดการณ์การจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำใช้การ ณ 1 พ.ย.62 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง แบ่งเป็น อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 0-15% สามารถจัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสำรองต้นฤดูฝน 63 เท่านั้น มีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุบลรัตน์ ลำนางรอง ขณะที่อ่างฯ 9 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 15-30% สามารถจัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง (เกษตรต่อเนื่อง) อุตสาหกรรม แบ่งเป็น อ่างฯ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสัก แม่กวงฯ แม่มอก กระเสียว ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล 1 แห่ง ได้แก่ มูลบน ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ คลองสียัด ส่วนอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 30-60% ที่จัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง(บางพื้นที่) อุตสาหกรรม มีทั้งสิ้น 14 แห่ง แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ แม่งัดฯ กิ่วคอหมา กิ่วลม ทับเสลา ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล 6 แห่ง ได้แก่ น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ ลำตะคอง ลำพระเพิง ลำแซะ ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ บางพระ ประแสร์ ลุ่มน้ำภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ รัชชาประภา บางลาง และอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 60-100% ซึ่งสามารถจัดสรรได้ในทุกกิจกรรม คือ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง (ตามศักยภาพ) อุตสาหกรรม รวม 10 แห่ง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำโขงชีมูล 3 แห่ง ได้แก่ ห้วยหลวง ลำปาว สิรินธร ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ ขุนด่านปราการชล หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา ลุ่มน้ำภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ และ ลุ่มน้ำภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ แก่งกระจาน ปราณบุรี ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค. นี้ สทนช. จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปมาตรการรับมือภัยแล้งที่มีความชัดเจนเป็นรูปแบบ สามารถป้องกันผลกระทบให้แก่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เสนอเข้าที่ประขุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีระดับลดลง พบว่าสาเหตุเกิดจากปริมาณฝน ทั้งในจีน ลาว และไทย มีปริมาณน้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงลำน้ำสาขาน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำโขงลดต่ำลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และน่าจะลดต่ำกว่าสถิติที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคืออาจจะกระทบกับกิจกรรมริมแม่น้ำโขงด้วย โดย สทนช. จะนำประเด็นปัญหานี้ เข้าสู่เวทีการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ที่กรุงเวียงจันทร์อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเร็วต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital